จุฬาฯแถลงยาปฎิชีวนะยังมีความจำเป็นในสัตว์

จุฬาฯแถลงยาปฎิชีวนะยังมีความจำเป็นในสัตว์

สัตวแพทย์ ยันทานเนื้อหมูได้ ไม่มีเชื้อดื้อยา ลั่นยาปฎิชีวนะยังมีความจำเป็นในสัตว์ ต้องควบคุมการใช้

ที่อาคาร60 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวเรื่อง “เชื้อดื้อยากับการใช้ยาปฎิชีวนะในปศุสัตว์” โดยมี ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเลี้ยงสุกร ของไทยเป็นการเลี้ยงเป็นฝูง ซึ่งการเลี้ยงเป็นฝูงต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพตลอดเวลา โดยจะทำในระดับฝูงก่อนที่สุกรจะแสดงอาการ เพื่อทำการวินิจฉัยยืนยันชนิดของโรค ก่อนวางแผนการรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งในฟาร์มสุกรจะให้ยาโดยการผสมอาหาร เพื่อให้สุกรได้รับยาครบในระยะเวลาที่กำหนด และมีระยะการหยุดยาก่อน 

ทั้งนี้โดยปกติในตัวสัตว์จะมีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาอยู่แล้ว และเมื่อร่างกายอ่อนแอจากการรวมฝูง จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย และจำเป็นต้องให้ยาปฎิชีวนะในสุกร เพื่อลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย โดยต้องให้ยาครบโดสที่ร่างกายสุกรต่อต้านได้ แต่เชื้อแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตพัฒนาตนเองได้ ทำให้การใช้ยาปฎิชีวนะอาจฆ่าเชื้อได้ไม่หมด มีอาการดื้อยา เชื้อก็อาจกลับมาอีก ทางสัตวแพทยจะจัดการปศุสัตว์แบบเป็นฝูงโดยใช้หลักการ All-in All-out โดยมีการฆ่าเชื้อทำความสะอาดฟาร์มและหยุดพักการเลี้ยงเป็นระยะเมื่อครบวงจรการผลิต

รศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าการพบยีนใดยีนหนึ่งเหมือนกันในคนและสัตว์ แสดงว่ามีการวนเวียนของยีนนั้น และต้องพึงระวังในแง่สาธารณสุข แต่ไม่สามารถยืนยันได้แน่ว่า ยีนดื้อยานั้นมาจากสัตว์หรือคน และไม่สามารถบอกได้ว่าถ่ายทอดจากคนไปสัตว์หรือจากสัตว์ไปคน ถ้าต้องการรู้จริงๆ ต้องมีการสืบสวนกลับไปว่ายีนนั้นเริ่มต้นมาจากไหน ยานั้นๆ ใช้ครั้งแรกที่ไหน เมื่อใด มีวิวัฒนาการเป็นอย่างไร เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาแบบสุขภาพหนึ่งเดียว คือต้องมีการควบคุมการใช้ทั้งในคนและสัตว์อย่างเป็นระบบ กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้แต่การเลิกการใช้ยาปฎิชีวนะบางชนิด ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเสมอไป เช่น การลดใช้ยา colistin ก็ยังมีสารชนิดอื่นๆ และยาปฎิชีวะอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการคัดเลือกร่วมหรือดื้อข้ามได้ การป้องกันปัญหาจึงต้องควบคุมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ใช้เท่าที่จำเป็นและมีวิธีใช้ที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

"ยืนยันว่ายังสามารถรับประทานเนื้อสุกรได้ เพราะโดยปกติสุกรที่เข้าสู่กระบวนการฆ่าเป็นสุกรที่มีสุขภาพดี ผ่านการฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานและนำมาปรุงให้สุกก่อนบริโภค ประชาชน ต้องมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือ เวลาป่วยต้องไปพบแพทย์ ใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งเท่านั้น เพราะถ้าเราไม่มีความอ่อนแอ เชื้อดื้อยาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และการจะแก้ปัญหาเชื้อดื้อยานั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ทำความเข้าใจ และหาแนวทางการแก้ปัญหา ต้องยอมรับว่าปัญหาเชื้อดื้อยาไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ ตราบใดที่เรามีเชื้อแบคทีเรีย และแบคทีเรียมีทั้งที่ให้คุณและโทษ เราต้องอยู่และควบคุมไม่ให้สร้างปัญหา" รศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการยกเลิกการใช้ยาในสัตว์เลยนั้น คงไม่ได้ เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น และยังไม่มีวัคซีนป้องกันทุกโรค ไม่มีสารใดที่รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือทดแทนยาปฎิชีวนะได้ ต่อให้นำสมุนไพร หรือprobiotics มาใช้ก็ไม่แน่ว่าเชื้อจะพัฒนาการดื้อต่อสมุนไพรหรือไม่ อีกทั้งไม่มีการยืนยันว่าการใช้ probiotics จะเป็นตัวเก็บกักยีนดื้อยาได้หรือไม่ ต้องมีการศึกษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม การหยุดใช้ยาปฎิชีวนะ ชนิดใดชนิดหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาการดื้อยาได้ เพราะเชื้อดื้อยาเกิดมานาน การจัดการฟาร์มมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เป็นแนวทางปฎิบัติที่ช่วยลดปัญหาการติดเชื้อโดยการจัดการฟาร์มได้ ทั้งนี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯได้ทำการวิจัยเพื่อหาทางทำให้สามารถนำยาปฎิชีวนะบางตัวกลับมาใช้ได้อีก โดยหาสารที่สามารถจัดการยับยั้งกลไกในการดื้อยา ถ้าสามารถนำมาใช้ร่วมกันก้จะทำให้การรักษาด้วยยาปฎิชีวนะบางตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศก็มีการศึกษาถึงสารดังกล่าวเพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อ

รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาทางสัตวแพทย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า จากข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ ว่าเป็นการศึกษาย้อนหลังเชื้อแช่แข็งจาก 6 พื้นที่ 28 ฟาร์ม จำนวน ทั้งสิ้น 337 ตัวอย่าง พบเชื้อแบคทีเรีย E.coli(อี.โคไลย์)ที่มียีนดื้อยา mcr-1เพียง6.8% ตัวอย่างทั้งหมดมาจากสุกร 12-16 สัปดาห์ โดยพบได้ในสุกรขุนระยะแรกและลดลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ระยะหยุดยาก่อนส่งโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งตัวอย่างที่ได้จากเนื้อสุกรกลับไม่พบ E.coli ที่มี mcr-1 ดังนั้น ในประเทศไทยพบเชื้อดังกล่าวในเวลาใกล้เคียงกันแต่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และยังไม่พบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์สู่คนในประเทศไทย 

รวมถึงมีโอกาสพบเชื้อแบคทีเรียE.coli ที่มียีน mcr-1 ปนเปื้อนในอาหารที่ประกอบขึ้นจากเนื้อสุกรน้อยมาก เนื่องจากกระบวนการชำแหละ ได้แยกลำไส้ออกจากส่วนของเนื้ออยู่แล้ว และหากปรุงสุกก็สามารถฆ่าเชื้อได้ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นระบบปิดที่มีมาตรฐานของกรมปศุสัตว์รับรองและยังมีการควบคุมการใช้ยาด้วยระเบียบข้อบังคับของกรมปศุสัตว์อยู่แล้ว ดังนั้นหากประชาชนรับประทานสุกรที่ผ่านกระบวนการปรุงสุก ไม่มีทางป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อดื้อยาก็ทำอะไรไม่ได้