เมืองอางโมเดล ปลูกผักเป็นผืนป่า

 เมืองอางโมเดล ปลูกผักเป็นผืนป่า

แปลกแต่จริงที่ชาวบ้านในดงดอยแห่งนั้นพากันสร้างโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์ แต่กลับทำให้มีต้นไม้และผืนป่าที่กว้างใหญ่ขึ้น

แม้ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกาจะเถียงหัวชนฝาว่า “โลกร้อน” เป็นเพียงทฤษฎีขี้โม้จากแดนมังกร แต่ดูเหมือนตอนนี้ท่าทีของเขาจะเปลี่ยนไป แถมยังออกมายอมรับแล้วว่า “ใช่ มนุษย์นี่แหละที่ทำให้โลกร้อน”


ไม่ต้องรอให้ยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกากระดิกตัว เพราะทั่วโลกต่างตระหนักรู้มานานแล้วว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ควรแก้ไข ประเทศไทยเองก็มีความพยายามในการจัดการปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นพื้นที่ป่าที่นับวันมีแต่จะลดปริมาณลง


ก่อนที่ความร้อนจะทำให้หมีขั้วโลกละลาย ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในเชียงใหม่ได้พยายามรักษาพื้นที่สีเขียวของพวกเขาไว้ด้วยการ “ปลูกผัก” แล้วคืนผืนป่ากลับให้แผ่นดิน


…………….


“ชาวเขาทำลายป่า” คือวาทกรรมแห่งการ “ป้ายสี” และมายาคติที่ถูกฝังอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน ด้วยภาพจำที่ว่า ชาวเขาคือคนที่อาศัยอยู่ในป่าและทำมาหากินด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ทำให้พื้นที่ป่าในประเทศค่อยๆ หายไป แต่ใครจะรู้ว่า จริงๆ แล้วตัวการที่ใหญ่กว่าก็คือนายทุนและผู้มีอำนาจบางคนในบ้านเมือง


อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวไทยภูเขาที่อยู่ใกล้ชิดกับป่าเป็นกลุ่มคนหนึ่งที่ขยายพื้นที่ทำกินด้วยการตัดไม้ และยิ่งระบบการผลิตเปลี่ยนไป จากการผลิตแบบ “บ้านๆ” สู่การผลิตเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นการผลิตที่ตอบสนองผู้บริโภคและกลไกการตลาดแบบเสรี มีการใช้ปุ๋ย ยา และสารเคมี พื้นที่ป่าก็มักจะถูกรุกรานเข้าไปเรื่อยๆ


หลายพื้นที่ยังคงติดอยู่ในบ่วงแห่งการผลิตแบบทำลายล้างทั้งวิถีชีวิตและระบบนิเวศ ทว่า บ้านเมืองอาง เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการพัฒนาที่จะมาลบภาพ “ชาวเขาทำลายป่า” ให้หมดสิ้นไป


บ้านเมืองอาง ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ดอยอินทนนท์ ในอดีตมีวิถีชีวิตไม่ต่างจากคนในพื้นที่ภูเขาทั่วไป คือมีการทำไร่หมุนเวียน แล้วก็เปลี่ยนระบบการผลิตจากการพึ่งพาตนเองไปสู่การผลิตแบบเชิงเดี่ยว ทำให้พื้นที่สีเขียวลดลงไปเรื่อยๆ


ชาวบ้านมีรายได้ดีแต่กลับมีหนี้สินพอกพูน แถมคุณภาพชีวิตต่างๆ ก็ยังแย่เหมือนเดิม สุดท้ายผู้นำในพื้นที่จึงช่วยกันคิดและแก้ไขปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนระบบผลิตเพื่อการค้าเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ โดยมีมูลนิธิโครงการหลวงเป็นพี่เลี้ยง


“เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมให้พ่อหลวงแม็ค(วัชรินทร์ พจนบัณฑิต)ทำหนังสือถวายฎีกาต่อหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ให้โครงการหลวงเข้ามาที่บ้านเมืองอางเพื่อส่งเสริมอาชีพ พอเราเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ จากที่เคยถางป่าปลูกข้าว 10 ไร่ 20 ไร่ ก็กลายมาเป็นทำโรงเรือนที่ใช้พื้นที่ประมาณ 1-2 งาน แค่นี้ก็เลี้ยงครอบครัวได้ เราได้พื้นที่ป่าคืนมาพันกว่าไร่ ได้คืนพื้นที่แล้วก็ได้อาชีพที่ยั่งยืน ตอนนี้ไร่หมุนเวียนในพื้นที่แทบจะไม่มีเลย” กอชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศบาลตำบลบ้านหลวง กล่าว


ด้าน วัชรินทร์ พจนบัณฑิต หรือพ่อหลวงแม็ค เสริมว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนใจชาวบ้านให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์


“เราเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ตั้งปี 2545 โดยให้สมาชิกมาลงทะเบียน ตอนแรกมี 80 คนที่สนใจทำอินทรีย์ เรียกว่าหลอกเขามาทำก็ได้ เราหลอกเขาด้วยการบอกว่า ทำอินทรีย์แล้วจะได้ดี แล้วเราก็ไปบอกเจ้านายว่า (โครงการหลวง) เจ้านายครับ คนที่นี่อยากทำอินทรีย์ หมู่เฮามาทำอินทรีย์กันเนาะ จะขายได้ตังค์ ปี 2545 ก็ปลูกถั่วแขก ปลูกหัวไชเท้า ทำไปประมาณ 7-8 ปีแล้วชาวบ้านได้ปีละ 5,000 บาทมั่ง 700 มั่ง 500 มั่ง ชาวบ้านก็เริ่มเบื่อ เห็นคนใช้สารเคมีได้ปีละ 60 ล้าน ตรงนี้ก็เกือบล้มไป”


แต่เมื่อได้มีการอบรมและไปดูงานตามพื้นที่ต่างๆ เกษตรอินทรีย์บ้านเมืองอางจึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น


“ไปดูที่แม่โถ ที่นั่นปลูกผักในโรงเรือน ก็กลับมาบอกชาวบ้านว่า เราทำโรงเรือนกันเถอะ ใครจะทำโรงเรือนให้มาลงชื่อ เอาแค่ 10 คนเท่านั้น ปรากฎหาทั้งหมู่บ้านได้มา 8 คน บางคนบอก ทำแล้วเจ๊งอย่าไปทำ แต่ด้วยความเป็นผู้นำเราทำเลย 2 โรง รอบแรกเราทำได้ 3,000 บาท ประมาณ 25 วัน ก็ตื่นเต้น เริ่มทำมาเรื่อยๆ บางคนได้ 2,000 บางคนได้ 5,000 เราก็มานั่งคุยกัน สรุปทุกคนอยากได้โรงเรือน ก็ลงทุนทำกันจนตอนนี้มีทั้งหมด 180 โรงเรือน ปีที่แล้วเรามีรายได้รวม 10 ล้านบาททั้งหมู่บ้าน”


ปัจจุบันพืชผักอินทรีย์ที่โครงการหลวงอินทนนท์ส่งเสริมให้ชาวบ้านเมืองอางปลูกมีอยู่ 9 ชนิด คือ กรีนโอ๊ค, เรดโอ๊ค, คอสสลัด, ถั่วแขก, เบบี้แครอท, กวางตุ้ง, เบบี้ฮ่องเต้, ฮ่องเต้ใหญ่ และฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก ปัจจุบันส่งผักทั้งหมดให้โครงการหลวงส่งขายไปทั่วประเทศ และมีบางส่วนที่ส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์


พ่อหลวงแม็ค เล่าว่า โรงเรือนแต่ละโรงใช้พื้นที่เพียง 180 ตารางเมตรเท่านั้น และกติกาของการเกษตรอินทรีย์ที่บ้านเมืองอางก็จำกัดให้ทำคนละไม่เกิน 3 โรงเรือน เพื่อควบคุมพื้นที่ ฉะนั้น จากที่เคยใช้พื้นที่ป่ามหาศาลก็ลดปริมาณลง จนเหลือพื้นที่ป่าคืนมากถึง 1,700 ไร่


“เกษตรอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราใช้พื้นที่น้อยลง เราให้ทำคนละไม่เกิน 3 โรง เพราะถ้าเราทำจริงๆ ดูแลดีๆ เขาจะได้เดือนละ 15,000 ถ้าคนโลภมันจะพอมั้ย ผมมีตังค์จะสร้างอีก 4-5 โรงได้มั้ย ไม่ได้ ที่นี่ไม่เอา เพราะถ้าคุณทำแบบนั้นคุณก็จะต้องเอาคนภายนอกเข้ามาช่วย มาแย่งกันใช้ทรัพยากรอีก ไม่เอา เอาแค่นี้พอ แล้วพื้นที่ที่เหลือทำยังไง ไม้ผลอยู่ไหน กล้วยล่ะ ปลูกไปสิ ข้าวอินทรีย์ล่ะ ทำได้มั้ยในพื้นที่เหลืออยู่ เรามีปศุสัตว์มั้ย ไม่ใช่ปลูกผักอย่างเดียว แข่งกันปลูกผักก็ล้ม ฉะนั้นเราต้องมีความยั่งยืน มีความหลากหลาย พื้นที่เราน้อยแต่จะทำอย่างไรให้เกิดคุณค่ามากที่สุด”


แม้จะมีอาชีพที่มั่นคงแล้ว แต่ติดอยู่ที่ว่า บ้านเมืองอางไม่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ควรมี ถนนไม่มี ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ทำให้การขนส่งผลผลิตทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร


“พอทำเกษตรอินทรีย์แล้วก็มีปัญหา ผลผลิตที่ออกมาพอหน้าฝนรถเข้าไม่ได้ ผักก็เสียหาย หน้าแล้งพอผักออกได้ แต่พอเจออากาศปุ๊บ ผักเหลือง โดนรีเจคกลับมา ชาวบ้านก็ขาดรายได้ ฉะนั้นจะให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี ระบบสาธารณูปโภคต้องดีก่อน”


อย่างที่พ่อหลวงบอก สิทธิขั้นพื้นฐานชาวบ้านควรได้รับอย่างเท่าเทียม จึงมีความพยายามที่จะขอไฟฟ้า ประปา และถนนเข้ามาในพื้นที่ ปีก่อนนั้นมีการติดตั้งไฟฟ้าหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว ปีนี้กำลังสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน แต่ทำไปได้ไม่นานก็ต้องหยุดเพราะมีคนทักท้วงเรื่องการสร้างถนนภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ


“จริงๆ พื้นที่เสียหายในการทำถนนมีอยู่ประมาณ 12 ไร่ มันดูน่ากลัวนะ 12 ไร่ แต่ชาวบ้านคืนไป 1,700 ไร่ คนภายนอกไม่เข้าใจ แต่คนภายในรู้ ถ้าเกิดเอา 12 ไร่คืนไป แล้วผมไม่คืน 1,700 ไร่ได้มั้ย ผมก็มีสิทธิอยู่นะ นี่คือสิ่งที่จะต้องมานั่งคุยกัน”


พ่อหลวงแม็ค ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขของการเปลี่ยนแปลงป่าในเขตบ้านเมืองอางที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอิงข้อมูลจากโครงการ REDD+ ประเทศไทย ซึ่งบ้านเมืองอางเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม


“พื้นที่ปกครองของบ้านเมืองอางมีประมาณ 25,881 ไร่ ในปี 2557 เรามีการตรวจสอบว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เท่าไร ปรากฏว่า เรามีคาร์บอนสะสมอยู่ 8,542,106 ตัน พอมาในปี 2559 เราก็วัดอีก มีคาร์บอนสะสม 8,837,411 ตัน อันนี้คือการกักเก็บคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น มาดูที่ไร่ของชาวบ้าน ปี 2557 มีการสะสมอยู่ 110,249.5 ตันต่อเฮกแตร์ ปี 2559 เราวัดแล้วได้ 123,941.577 ตันต่อเฮกแตร์ เพราะฉะนั้นคาร์บอนที่สะสมเพิ่มใน 2 ปีนี้ แค่ในพื้นที่ไร่ของชาวบ้านเก็บคาร์บอนได้เพิ่ม 16,925 ตันต่อเฮกแตร์เลย นี่คือที่ชาวบ้านคืนป่าให้ มันได้มาจากตรงนี้ ภาพมันบอกชัดเจนว่าพื้นที่คืนป่ามี พื้นที่สะสมคาร์บอนมี” พ่อหลวงแม็ค ยืนยัน


ด้าน เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด กล่าวว่า เรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ แต่ในประเทศไทยไม่มีการทำข้อมูล ทำให้ภาพการเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจนนัก


“เวลาเราพูดเรื่องใหญ่ๆ เรื่องโลกร้อน เรื่องเพิ่มเกษตรอินทรีย์ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้ได้ 5 ล้านไร่ ในทางปฏิบัติมันไม่มีใครทำ ไล่เป็นอำเภอเลย อำเภอนี้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เท่าไร ก็ไม่มีใครทำข้อมูล อย่างที่เมืองอางมีการทำแบบเป็นระบบ ได้คืนพื้นที่ป่าแล้ว ชาวบ้านตอนนี้ไม่เหนื่อยมาก เพราะทำเกษตรอินทรีย์ไม่ต้องทำในพื้นที่ใหญ่เหมือนเดิม เป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ แต่คนหนุนเสริมต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ และต้องวางการตลาดให้ดีด้วย”


ปัจจุบัน บ้านเมืองอางเป็นแหล่งผลิตผักอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโครงการหลวงอินทนนท์ โดยมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้า ชาวบ้านเมืองอางทั้งหมดจะผันตัวเองมาทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และพร้อมเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน ต้นไม้ โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลมา “ทวงคืนผืนป่า” เลย