น้ำตา... เด็กใต้ 

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึงตอนนี้ เด็กและครอบครัวจำนวนหลายแสนคนใน 12 จังหวัดภาคใต้ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

จากอุทกภัยครั้งร้ายแรงในรอบ 5 ปี (ครั้งใหญ่สุดคือปี 2554) และปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบ 30 ปี หลายพื้นที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำ บางแห่งมีปัญหาน้ำท่วมขังหลายสัปดาห์ และบางหมู่บ้านเจอดินโคลนและน้ำป่าสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและทรัพย์สิน แม้ว่าสถานการณ์ในหลายจังหวัดจะเริ่มดีขึ้น แต่มีการพยากรณ์ว่าอาจเกิดฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยระลอกใหม่

ท่ามกลางภัยพิบัติเช่นนี้ เด็กๆ มักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่อาจถูกละเลยไปในหลายเรื่อง 'จุดประกาย’ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมงานยูนิเซฟในสามจังหวัด คือสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง เพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในพื้นที่

สุราษฎร์ : ขาดนมและผ้าอ้อม

ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวในตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สายทอง คงเกิด อายุ 25 ปี เป็นหนึ่งในครอบครัวที่มาอาศัยศูนย์แห่งนี้ เพราะระดับน้ำในหมู่บ้านท่วมสูงเกือบ 3 เมตร ทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ เธอมาพร้อมกับลูกอีก 3 คน อายุ 8 ขวบ 3 ขวบ และคนสุดท้องอายุเพียง 1 เดือน ซึ่งเกิดในช่วงที่น้ำท่วมครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

“ที่จริงแล้วค่อนข้างชินกับน้ำท่วม เพราะพื้นที่แถวพระแสงเป็นพื้นที่รับน้ำ เวลาฝนตกมากหน่อยน้ำก็ท่วม แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นานน้ำก็ลด จึงไม่ได้ลำบากอะไร แต่ตั้งแต่ช่วงปีใหม่มานี้เจอน้ำท่วมสูงมาก จนอยู่บ้านไม่ได้ คนในหมู่บ้านเกินครึ่งก็ต้องอพยพออกมาอยู่ที่ศูนย์ฯ ชั่วคราว ลูกก็เล็ก คงจะอยู่ในบ้านไม่ไหว อาหารการกินและน้ำไม่ถึงกับขาดแคลน แต่สิ่งที่ต้องการคงจะเป็นนมกับผ้าอ้อมเด็ก เพราะมีลูกเล็ก 2 คน และที่นอนกับมุ้ง เพราะไม่สามารถออกไปหาซื้อได้ แม้ว่าศูนย์ฯ จะน้ำท่วมไม่ถึง แต่รอบบริเวณก็โดนน้ำล้อม ออกไปไหนไม่สะดวก” เช่นเดียวกับคุณแม่คนอื่นๆ ที่มาอาศัยอยู่ในศูนย์ฯ ต่างเห็นด้วยว่านมจืด นมเปรี้ยว กับผ้าอ้อมเป็นสิ่งค่อนข้างจำเป็น เพราะในศูนย์มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนเกือบ 40 คน

ขณะที่หลายครอบครัวเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมสูง ในพื้นที่ของตำบลบางสวรรค์ที่อยู่ในอำเภอเดียวกันกลับเจอกับปัญหาที่ต่างออกไปคือ น้ำป่าและโคลนถล่ม ทำให้บ้านเรือนเสียหายและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

ครอบครัวของ สุธรรม นกเผือก วัย 41 ปี ซึ่งมีลูกชาย 2 คน อายุ 15 ปี และ 10 ปี ต้องเจอกับดินโคลนที่ถล่มมาจากบริเวณเนินเขาหลังบ้าน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน เขาเล่าว่า “ตอนเกิดเหตุเป็นช่วงค่ำ ทุกคนนั่งดูทีวีในห้องรวมกัน แล้วได้ยินเสียงโครมครามดังมาจากภูเขา เห็นลางๆ ในเงามืดว่าเหมือนต้นไม้หักลงทางข้างบ้าน จึงได้รีบหนีออกมากัน” 

เนื่องจากบ้านของคุณสุธรรมยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โคลนจึงไหลเข้าท่วมบ้านไปเกือบครึ่งหลัง โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย แต่ตัวบ้านและทรัพย์สินรวมถึงอุปกรณ์การเรียนของลูกๆ ก็เสียหายอย่างหนัก ตอนนี้ต้องไปพักอาศัยอยู่บ้านญาติในบริเวณใกล้เคียงชั่วคราว

ภายในหมู่บ้านก็ได้รับความเสียหายจากดินโคลนและน้ำท่วม ท่อประปาหมู่บ้านพังเสียหาย ดินโคลนทับถมถนนจนต้องใช้รถขุดดินมาช่วย รวมถึงศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ต้องปิดและรอดูสถานการณ์ฝนในช่วงสัปดาห์นี้ว่าจะสามารถเปิดทำการเรียนได้อีกเมื่อไร

นอกเหนือจากผลกระทบด้านทรัพย์สินเสียหายและต้องย้ายที่อยู่ชั่วคราวแล้ว เด็กๆ เหล่านี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่ง ชมัยพร นิยมจิตร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพระแสง กล่าวถึงผลกระทบด้านสุขภาพของเด็กมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า อาการท้องร่วง ท้องเสีย เป็นไข้ รวมถึงปัญหาเรื่องห้องน้ำและสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด อาจทำให้เด็กเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต รวมถึง ถูกสัตว์มีพิษที่มากับน้ำกัดต่อย

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่อยู่จุดเสี่ยงของการระบาดของไข้เลือดออก ซึ่งน้ำท่วมขังอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ขาดแคลนมุ้งกันยุงเพราะถูกน้ำท่วมเสียหาย ส่วนที่ศูนย์พักพิงไม่มีที่นอนและจำนวนมุ้งพอกับจำนวนผู้มาเข้าพัก อย่างไรก็ตามจากการหารือของยูนิเซฟกับหน่วยงานสาธารณสุขที่รับผิดชอบ ทำให้มีการจัดหามุ้งให้ผู้ประสบภัยที่อาศัยในศูนย์พักพิงนี้ในทันที

 นครศรีฯ : ไม่มียารักษาโรค

จังหวัดนครศรีธรรมราชเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่ แม้ว่าปัจจุบันระดับน้ำจะลดลงไปมากแล้ว โดยเฉพาะในเขตตัวเมือง แต่ยังคงมีอีกหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดริมแม่น้ำตาปี และมีฐานะยากจน 

ป้าแมว วัย 60 ปี ซึ่งต้องเลี้ยงหลานสาววัย 4 ขวบ เล่าว่าบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนถูกน้ำพัดพังเสียหาย ข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์การเรียนของหลานสาวก็แช่น้ำจนขึ้นราไม่สามารถใช้ได้ และแม้ว่าตอนนี้น้ำจะลดและโรงเรียนเปิดเรียนแล้ว แต่หลานสาวและเด็กๆ ในชุมชนอีกหลายคนก็ยังไม่สามารถไปเรียนได้ เพราะชุดนักเรียนเปียกชื้นและขึ้นราจนซักไม่ออก อุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ก็ถูกน้ำท่วมเสียหายเพราะน้ำมาเร็วจนเก็บขึ้นไม่ทัน รวมทั้งตอนนี้ก็ยังไม่มีเงินที่จะซื้อของใหม่ และยังไม่แน่ใจว่าน้ำจะท่วมอีกรอบหรือไม่

“ช่วงน้ำท่วมหลานสาวก็ป่วยเป็นทั้งไข้และท้องเสีย คิดว่าอาจจะมาจากน้ำที่ไม่สะอาด และน้ำก็กัดเท้าจนเป็นแผล แต่ป้าได้แค่ซื้อยาทายากินให้ เพราะไม่มีเงินไปหาหมอ ป้าทำอาชีพรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ พอน้ำท่วมก็ขาดรายได้ ทำได้แค่ซื้อยาบรรเทาอาการไป ตอนนี้ลำบากมาก เพราะถึงน้ำลดแล้ว แต่บ้านก็พัง ผนังบ้านก็ไม่มี และยังไม่รู้ว่าจะต้องไปแจ้งกับหน่วยงานไหน ยังไม่มีใครมาบอกด้วยว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง ตอนนี้ป้าขอแค่มีผนังบ้านชั่วคราวเอาไว้กันแดดกันฝนก่อนก็ยังดี” นั่นคือเสียงสะท้อนถึงความทุกข์ยากของป้าแมวและหลานสาว

ที่โรงเรียนบ้านบางเนียน อำเภอปากพนัง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำตาปี จึงยังประสบปัญหาน้ำท่วมและรอดูสถานการณ์ แต่เนื่องจากโรงเรียนค่อนข้างมีการเตรียมตัวรับมือกับอุทกภัยที่ดี จึงไม่มีความเสียหายของอุปกรณ์การเรียนการสอนมากนัก มีเพียงตัวอาคารที่ต้องทำความสะอาดใหญ่ภายหลังน้ำลด

คณะครูของโรงเรียนบ้านบางเนียน เล่าให้ฟังว่าหลังจากเกิดอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2554 ก็ได้มีหน่วยงานเอกชนในพื้นที่ที่ทำโครงการอบรมครูเกี่ยวกับเรื่องการรับมือและการปฏิบัติตัวในระหว่างน้ำท่วม เพื่อนำมาถ่ายทอดต่อให้กับเด็กๆ เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ การเสียชีวิตหรืออุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมในรอบนี้ ดูเด็กๆ จะมีความเข้าใจมากขึ้นและรับมือกับสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี โดยคุณครูชี้ให้เห็นว่าการสอนทักษะเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นกับเด็กมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของน้ำท่วมซ้ำ

ตรัง ยังรอเสื้อชูชีพ

ที่จังหวัดตรัง แม้ว่าสถานการณ์น้ำในบริเวณตัวจังหวัดจะดีขึ้น แต่ในบางพื้นที่โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำตรัง เช่น ตำบลหนองตรุด ในเขตอำเภอเมืองตรัง ยังคงเผชิญปัญหาระดับน้ำท่วมสูง แม้ว่าจะมีการสร้างถนนสูงเป็นพนังกั้นน้ำ แต่เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาชาวบ้านบอกว่าฝนตกหนักประกอบกับน้ำทะเลหนุนทำให้ระดับน้ำสูงมากและมีบางส่วนที่ถนนพังจนทำให้น้ำทะลักมายังหมู่บ้านที่อีกฝั่งจนจมน้ำสูงเกือบ 3 เมตร

ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องย้ายออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอยู่ในเต็นท์ที่ทางการนำมากางให้ชั่วคราวบริเวณถนนใกล้บ้าน ในจำนวนนั้นมีครอบครัวของ เกวลิน อัมพาวนิช อายุ 42 ปี ซึ่งมีหลานชาย 2 คน อายุ 5 ขวบและ 4 ขวบ เธอบอกว่าหากฝนตกหนักอีกครั้งก็คงลำบากเพราะเต็นท์มีเพียงหลังคา และช่วงกลางคืนก็มียุงและสัตว์มีพิษเช่น แมงป่อง งู 

“น้ำกินก็พอมีใช้ที่เขามาบริจาคบ้าง แต่บางครั้งก็ต้องซักผ้าหรือใช้น้ำท่วมนี่ล่ะ เพราะเป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำ ไม่ใช่น้ำขัง ก็ยังพอใช้ได้อยู่”

ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เราได้พูดคุยกับอีกสองครอบครัว คือ ครอบครัวของ ตามุสา ร่าเหม ที่ต้องนอนในเต็นท์ริมถนนหน้าบ้านพักของตนเอง เนื่องจากระดับน้ำยังสูงและท่วมโดยรอบทำให้บริเวณที่อยู่คล้ายเกาะ ต้องใช้เรือเดินทางเข้าออกทำให้ลำบากพอสมควร ภายในบ้านยังมีหลานเล็ก ๆ อีกสองคน คือ ภัทราภรณ์ วุ่นพันธ์ หรือ กิ่ง อายุ 10 ปี และอัครเดช วุ่นพันธ์ อายุ 4 ปี

น้องกิ่งบอกว่า “ไมได้ไปโรงเรียนมาเกือบ 2 อาทิตย์ น้ำท่วมนานก็เบื่อ ออกไปไหนไม่ได้ อยากให้โรงเรียนเปิดจะได้กลับไปเรียนแล้ว” โชคดีที่อุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนทุกอย่างถูกเก็บขึ้นไว้ที่สูงทันก่อนน้ำท่วม ทำให้ไม่ต้องลำบากหาใหม่เมื่อเปิดเรียนอีกครั้ง

ในละแวกเดียวกัน พรทิพย์ พริกหอม อายุ 25 ปีกับบุตรสาววัย 4 เดือน ยังอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้าน โดยชั้นล่างถูกน้ำท่วมขังจนเต็มพื้นที่ แต่ก็ยังได้รับอาหารและน้ำจากหน่วยงานต่างๆ อย่างพอเพียง อย่างไรก็ดี เพราะมีลูกเล็กทำให้การเดินทางเข้าออกไม่สะดวก และเมื่อถึงเวลาก็ไม่สามารถพาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนด ซึ่งหากน้ำท่วมขังนานกว่านี้ก็อาจจะทำให้ระยะยาวมีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่ลูกมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

ในส่วนของความช่วยเหลือเบื้องต้นจากทางภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ผู้ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่บอกว่าค่อนข้างดี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอาหารหรือน้ำขาดแคลน แต่ของใช้จำเป็นบางอย่างเช่น นมกล่อง หรือผ้าอ้อมเด็ก อาจจะเป็นสิ่งที่ยังขาด รวมถึงมุ้งกันยุง และเสื้อชูชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะมองข้ามไป หลายแห่งต้องอาศัยเรือในการสัญจรซึ่งระดับน้ำลึกและเชี่ยว การมีเสื้อชูชีพติดเรือไว้จะช่วยเสริมความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร โดยเฉพาะป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตให้กับเด็กๆ

ในส่วนของการบริจาคเพื่อช่วยเหลือภาคใต้นั้น ทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ที่มาช่วยเหลือ ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า การบริจาคเป็นเงินจะช่วยเหลือคนในพื้นที่ได้มากกว่าสิ่งของ เนื่องจากตลาดหรือห้างร้านในชุมชน และตัวจังหวัดส่วนใหญ่ยังสามารถเปิดให้บริการได้อยู่ ซึ่งสามารถนำเงินบริจาคไปช่วยซื้อสินค้าในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และยังตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัยจริงๆ โดยไม่ต้องสุ่มบริจาค และยังไม่ต้องมีภาระในการขนส่งจากจังหวัดต่างๆ ลงไปทางใต้ และที่สำคัญคือ เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ฟื้นกลับมาเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็แนะนำว่าควรเลือกบริจาคกับหน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือจะดีกว่า เพื่อป้องกันการอ้างอิงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

ศิริรัฐ ชุณศาสตร์ เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟ กล่าวหลังจากลงพื้นที่ว่า ยูนิเซฟกำลังเร่งส่งความช่วยเหลือ ไปยังพื้นที่สำหรับครอบครัวของเด็กที่มีความเปราะบางมากที่สุด โดยผ่านองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของการจัดซื้อเบาะนอน มุ้งครอบ และเครื่องใช้เพื่อสุขอนามัยที่ดี เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่มาจากน้ำไม่สะอาด และยุง ตลอดจนสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนให้เด็กเพื่อให้สามารถกลับไปเรียนหนังสือได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็จะจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กบางแห่งซึ่งได้รับความเสียหายหนักจากน้ำท่วม เพื่อให้เด็กๆ ได้ไปโรงเรียนและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติให้ได้เร็วที่สุด

“เราต้องดูผลกระทบระยะยาวด้วย เพราะผลกระทบไม่ได้จบลงเมื่อน้ำลด น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว และความเครียดของครอบครัวในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็กในอนาคต ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือต้องต่อเนื่องและคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวด้วย”

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ยังไม่อาจวางใจได้ และมีความกังวลว่าอาจเกิดอุทกภัยซ้ำหากมีฝนตกหนักอีกระลอก และจะยิ่งซ้ำเติมความเป็นอยู่ของครอบครัวและเด็กๆ ให้แย่ลงไปอีก โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน มีรายได้แบบรายวันจะได้รับผลกระทบมาก ซึ่งแน่นอนว่าความเครียดของผู้ปกครองเองย่อมส่งต่อไปยังเด็กๆ ไม่นับรวมถึงผลกระทบทางการศึกษา ที่เด็กต้องขาดเรียนนับตั้งแต่น้ำท่วมในเดือนธันวาคมเป็นต้นมา ที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มหนึ่งคือ เด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เช่น เด็กพิการ เด็กกำพร้า เด็กในครอบครัวแรงงานต่างด้าว ซึ่งอาจถูกละเลย ขาดการดูแลที่เหมาะสม หรือความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการแก้ปัญหา คงไม่จบอยู่ที่การผลักดันน้ำหรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยระหว่างน้ำท่วม แต่เป็นการฟื้นฟูในระยะยาว โดยปัจจุบันยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมหรือความชัดเจนจากทางรัฐบาล ซึ่งคงต้องรอหลังแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสถานการณ์กลับสู่ภาวะ (เกือบ) ปกติเสียก่อน