เอสเอ็มอีแบงก์ออกซอฟท์โลน1.5หมื่นล้านดอกเบี้ยต่ำกว่า4%

เอสเอ็มอีแบงก์ออกซอฟท์โลน1.5หมื่นล้านดอกเบี้ยต่ำกว่า4%

"เอสเอ็มอีแบงก์"เตรียมเสนอคลังขอรับภาระชดเชยดอกเบี้ย3%เพื่อออกโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนหนุนธุรกิจเอสเอ็มอีวงเงิน1.5หมื่นล้าน ดอกเบี้ยต่ำกว่า4%

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมออกสินเชื่อซอฟท์โลนใหม่วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า 4% โดยธนาคารจะขอให้กระทรวงการคลังช่วยรับภาระการชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่ 3 % ส่วนที่เหลือธนาคารเป็นผู้แบกรับเอง

“เราจะประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดรายละเอียดของมาตรการนี้ ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.อนุมัติ ซึ่งคาดว่า ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า”

โครงการสินเชื่อซอฟท์โลนดังกล่าว ถือเป็นโครงการต่อเนื่อง จากปีที่แล้ว ที่ธนาคารดำเนินการในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทเช่นกัน แต่คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 4 % โดยกำหนดกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะได้วงเงินซอฟท์โลนนี้ เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มสตาร์ทอัพ ,กลุ่มที่มีนวัตกรรม,กลุ่มที่มีการค้าขายกับกลุ่มประเทศเออีซีและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

“โครงการสินเชื่อซอฟท์โลนในปีที่แล้ว สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 1.38 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.2 พันล้านบาท เนื่องจากกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม ยังไม่ได้เข้ามาขอสินเชื่อ”

การที่ธนาคารเสนอโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวจนรัฐต้องเข้ามาอุ้มเอสเอ็มอีอีกครั้ง แต่เป็นเพราะการที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพเอสเอ็มอีหรืออัพเกรดเอสเอ็มอี จำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เหมาะสม หากธนาคารบวกอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง ยากที่จะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะสามารถปรับตัวเพื่อยกขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองได้ ทั้งนี้ดอกเบี้ยปกติที่ปล่อยให้แก่เอสเอ็มอีจะอยู่ที่ 9.125 %

วานนี้ (24ม.ค.) ธนาคารยังได้เปิดตัวโครงการ SMART SMEs บัญชีเดียว วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายของกรมสรรพากร ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการ ร้านค้าทอง,ร้านแว่นตา,ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจอื่นตามที่กำหนด ที่มาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและใช้บัญชีเล่มเดียว โดยคิดดอกเบี้ยปีแรก 5 % และปีที่สองเป็นต้นไป คิด MLR , ส่วนเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลในธุรกิจอื่นๆ เช่น ค้าปลีก หรือการผลิตต่างๆ ก็สามารถขอใช้สินเชื่อในโครงการนี้ได้ ดอกเบี้ย 5.99 % ทั้งนี้ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดของโครงการนี้อยู่ที่ 10 ปี และมีระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน

“ผู้ประกอบการที่สามารถขอสินเชื่อดังกล่าว ต้องผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตรที่ได้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทางธนาคาร คือ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ”

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วธนาคารได้ออกสินเชื่อพิเศษ สำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการบัญชีเล่มเดียว วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี ซึ่งจนถึง 23 ม.ค.นี้ อนุมัติปล่อยกู้แล้ว 1.41 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนราย 6.37 พันราย วงเงินที่เหลือคาดว่าภายในสามเดือนข้างหน้าจะสามารถอนุมัติได้หมด

ส่วนนโยบายของกระทรวงการคลัง ต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยในส่วนของลูกค้าของธนาคาร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2559 มีลูกค้าที่เป็นนิติบุคคล 1.58 หมื่นราย และเป็นบุคคลธรรมดา 4.59 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 25.6% ต่อ 74.4% แต่วงเงินสินเชื่อที่ธนาคารให้แก่ผู้ประกอบการนิติบุคคล จะสูงกว่าบุคคลธรรมดา โดยนิติบุคคล ได้รับสินเชื่อ 5.91 หมื่นล้านบาท ขณะที่บุคคลธรรมดา 3.45 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63.1% ต่อ 36.9%