“PETITE-POP” อมยิ้มเพื่อสุขภาพของเจ้าตัวเล็ก

“PETITE-POP” อมยิ้มเพื่อสุขภาพของเจ้าตัวเล็ก

จะดีแค่ไหนถ้าอมยิ้มของโปรดเจ้าตัวเล็กจะไม่ได้ให้แค่ความอร่อยแต่ยังช่วยเสริมวิตามินให้เด็กๆด้วยนี่คือPetite-pop อมยิ้มผู้เป็นมิตรกับคนตัวเล็ก

อมยิ้มสีธรรมชาติ รูปแมวเหมียว น้องหมี และลิงน้อย พร้อมรสชาติอร่อยๆ จากวัตถุดิบธรรมชาติ 100% ทานแล้วช่วยเสริมวิตามิน ตอบโจทย์ครบทั้ง อร่อย สนุก ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับเจ้าตัวเล็ก

 นี่คือ Petite-pop” (เพติ๊ดป๊อป) ขนมหวานน้องใหม่จาก บริษัท ไทย บีบี ฟรุท จำกัด ผู้ผลิตขนมหวานจากน้ำตาล (Confectionery) สายพันธุ์ไทย ที่อยู่ในสนามมา 40 ปี (ก่อตั้งปี 2520) ผลงานเปลี่ยนโลกของคนรุ่นใหม่ วัย 28 ปี พอลลีน-พิมลพัชร์ ธนุสุทธิยาภรณ์” ทายาทสาวคนเล็กของ “มั่นเศรษฐ์ ธนุสุทธิยาภรณ์” ผู้ก่อตั้ง ไทย บีบี ฟรุท

“มูลค่าตลาดลูกอมลูกกวาดในประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 8 พัน-หมื่นล้านบาทต่อปี ไม่ได้เติบโตมานานมาก โรงงานขนมหวานก็เหลือไม่เยอะ เจ้าเล็กๆ เริ่มตายไป ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ที่ยังอยู่ได้ ก็ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องลงทุนกับเทคโนโลยี และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพราะถ้ายังทำแบบเดิม ก็คงตกลงไปเรื่อยๆ”

ทายาทรุ่น 2 ไทย บีบี ฟรุท บอกเล่าสถานการณ์ธุรกิจขนมหวานจากน้ำตาลในประเทศไทย ที่ดูจะไม่ได้หอมหวานเหมือนชื่อ เมื่อวันนี้โลกเปลี่ยน การแข่งขันสูงขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนตาม แถมยังมีแต่โจทย์หินคอยท้าทายอยู่รอบด้าน   

หลังตัดสินใจเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เจ้าโปรเจคอย่างเธอเลยปิ๊งไอเดีย ทำลูกอมให้เป็นของกินเล่น “มีสาระ” ที่กินแล้วได้ประโยชน์ด้วย

“ที่ผ่านมาเรากินลูกอมที่ อร่อย รูปลักษณ์สวย แค่นั้น ไม่มีอะไรใหม่ๆ เลยเห็นโอกาสว่าน่าจะใส่ฟังก์ชั่นเข้าไปด้วย เพื่อทำให้ของกินที่คนไทยมองว่า ไม่มีประโยชน์ กลายเป็นของที่เขาทานได้ และมีฟังก์ชั่นเสริมที่เป็นประโยชน์กับเด็กๆ ด้วย” เธอเล่าจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ตลาด Functional food ทำของกินเล่นให้ตอบโจทย์สุขภาพ

 เราเลยได้รู้จักกับ เพติ๊ดป๊อป น้องใหม่ในตลาดอมยิ้ม ที่ทำจากน้ำตาลออร์แกนิค ใช้เนื้อและน้ำผลไม้แท้ พร้อมเสริมวิตามินให้กับเด็กๆ แถมยังเป็น  “Gluten-free” เด็กแพ้กลูเต็นก็กินได้ ตอบโจทย์คุณแม่ยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพของลูกๆ มากขึ้น สนองคอนเซ็ปต์ Everyone Happiness” พ่อแม่แฮปปี้ ลูกๆ ก็สุขด้วย

เพราะเป็นเจ้าของไอเดียตั้งแต่ต้น เธอเลยดูแลในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การจับคู่รสชาติผลไม้ ออกแบบคาแรคเตอร์การ์ตูน แพคเก็จจิ้งน่ารักน่าชัง เพื่อดึงดูดใจเด็กๆ แม้แต่การคิดชื่อ Petite-pop” ที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ก็มาจากไอเดียของเธอด้วย โดย  Petite แปลว่า คนตัวเล็ก สะท้อนชัดถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่อยู่ในวัย 18 เดือน ถึง 5-6 ขวบ

  ต้นทุนสำคัญของเพติ๊ดป๊อป คือมีแม่เป็น ไทย บีบี ฟรุท เลยมีโรงงานการผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP มีกำลังผลิตพร้อมรองรับการเติบโต มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ แถมยังมีแผนก R&D คอยวิจัยและพัฒนาสินค้าให้ ในตอนเริ่มต้นเลยใช้เงินทุนแค่หลักแสน และเวลาพัฒนาอีกประมาณ 6 เดือน แบรนด์น้องใหม่เลยถือกำเนิดขึ้น และเริ่มทำตลาดในปีนี้เป็นปีแรก หลังทดลองขายไปเมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 59 ที่ผ่านมา กับจำนวน 900 ชิ้น 3 รสชาติ และขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก(www.petite-pop.com) ปรากฏใช้เวลาแค่ 2 วัน “ขายหมดเกลี้ยง”

ในปีนี้รุกตลาดอย่างเป็นทางการ ช่องทางขายเลยไม่ได้มีแค่ออนไลน์เท่านั้น แต่ยังขายผ่านร้านขายยา LAB Pharmacy ทั้ง 15 สาขา ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามห้างสรรสินค้าชั้นนำ รวมถึง ร้านขายของเล่นเด็ก โรงเรียนสอนพิเศษ และร้านสินค้าสุขภาพ อย่าง ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์ และ วิลล่า มาร์เก็ต เพื่อกระจายความสุขให้กับเด็กๆ ได้กว้างขึ้น

 เพติ๊ดป๊อป ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแรกของ ไทย บีบี ฟรุท ทายาทคนเล็กบอกเราว่า เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่พี่สาว “ปวีร์รักษ์ ธนุสุทธิยาภรณ์” เข้ามาบริหารเมื่อสิบปีก่อน แล้วส่ง อมยิ้มสายรุ้ง “แฟนเทเซีย เรนโบว์” มาบุกตลาด สามารถเปลี่ยนขนมรุ่นพ่อที่ขายกันชิ้นละบาท มาขายได้ที่ชิ้นละ 14 บาท ขณะที่ต้นทุนพอๆ กัน แต่ใช้ “ต้นทุนความคิด” และกรรมวิธีใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตและอยู่รอดได้   

วันนี้เธอนำ เพติ๊ดป๊อป มาบุกตลาดบ้าง วางขายที่ราคาชิ้นละ 20 บาท แถมยังชิ้นเล็กลง และมีตลาดที่กว้างขึ้นด้วย โดยเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ คือการขยายไปต่างประเทศ ส่วนแผนธุรกิจในปีแรกนี้ก็ตั้งเป้ารายได้ที่เดือนละ 1 ล้านบาท

พอลลีน เป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ แถมยังชัดเจนกับความฝันของตัวเองมากๆ เธอเรียนจบแฟชั่นดีไซน์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 ไปทำงานเป็นดีไซเนอร์อยู่อเมริกามา 2 ปี แม้ครอบครัวจะมีกิจการให้เลือกสานต่ออยู่ถึง 3 บริษัท ทั้ง “ไทย บีบี ฟรุท” ที่ทำขนมหวานจากน้ำตาล บริษัท ซี เอส ไวน์ ดิสทิบิวเตอร์ จำกัด” ธุรกิจนำเข้าไวน์ และ “บริษัท ทรีไลน์ เอ็มโพเรีย จำกัด” ธุรกิจเทรดดิ้งสินค้าอาหาร แต่ทันทีที่กลับมาเมืองไทย เธอกลับเลือกก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง คือ “บริษัท โปรสตรีม กรุ๊ป จำกัด” แฟรนไชส์ล้างรถระบบไอน้ำ ขึ้นในปี 2556 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 15 สาขา

ตอนตัดสินใจมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ก็ยังสนุกกับการคิดโปรเจคใหม่ๆ และเพติ๊ดป๊อป ก็เป็นหนึ่งในความสนุกนั้น

“พอลลีนเป็นคนเปิดรับกับทุกโอกาสที่เข้ามาในชีวิต และไม่เคยเกี่ยงที่จะทำ รู้สึกว่าทุกโอกาสช่วยสอนเราทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้บางครั้งทางที่เราเลือกอาจไม่ได้ดี 100% แต่เมื่อมองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ฟอร์มให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ ทำให้เรามีความคิด มีประสบการณ์ สอนให้เราเติบโตขึ้น พอลลีนมีจุดมุ่งหมายในชีวิตชัดเจน ว่าอยากทำธุรกิจ และอยากประสบความสำเร็จ อาจเพราะเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก”

การปลูกฝังจากครอบครัวเลยเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ทายาทอย่างเธอ ตั้งแต่การสอนให้คลุกคลีกับกิจการของครอบครัวมาตั้งแต่วัยเพียง 3-4 ขวบ นั่งแพคของอยู่ในโรงงาน แลกกับค่าจ้าง 10-20 บาท เมื่อเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เธอยังได้รับกระดาษโน้ตเขียนคำคมภาษาจีนสอนการทำงานจากผู้เป็นพ่ออยู่บ่อยครั้ง และหลายความคิดในวันนี้ ก็เรียนรู้มาจากข้อความในกระดาษของพ่อ

“ท่านสอนว่า อย่าถือไม้ไผ่ขวางลำเดิน ซึ่งในแง่ธุรกิจหมายถึง ถ้าเราจะเดินไปข้างหน้า ก็อย่าไปเบียดเบียนใคร อย่าสร้างศัตรู อย่าทำให้คนอื่นเจ็บ และ ไม่ทำกิริยามารยาทไม่ดีใส่ใคร เหมือนเวลาถือไม้ไผ่ อย่าไปถือขวางลำ แล้วไปโดนคนอื่น”

 ในการเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวของทายาทรุ่นใหม่ เธอบอกว่า อยากให้เปิดใจกว้าง อย่ามองแต่มุมเดิมๆ หรือความคิดปิดกั้นที่ว่า ธุรกิจครอบครัวคงไม่โตไปกว่านี้ ไม่รอด โบราณ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่อยากให้คนรุ่นใหม่มองหาโอกาสใหม่ๆ โดยการคิดวิเคราะห์ธุรกิจของครอบครัวให้รอบด้าน ซึ่งเมื่อเห็นโอกาสก็พัฒนาให้เป็น “จุดแข็ง” ขึ้นมาให้ได้

เริ่มจากเปิดใจและมุ่งมั่น เพื่อขับเคลื่อนกิจการของครอบครัวให้เติบใหญ่ เพราะความอยู่รอดและยั่งยืนของธุรกิจที่คนรุ่นก่อนสร้างเอาไว้ ล้วนอยู่ที่ฝีมือของ “ทายาท”

...........................................

Key to success

สูตรรบตำรับขนมหวาน “Petite-pop”

๐ อมยิ้มมีประโยชน์ ซื้อใจพ่อแม่ยุคใหม่

๐ รสชาติอร่อย ดีไซน์น่ารัก ดึงดูดเด็กๆ

๐ ใช้ประสบการณ์เดิม เพิ่มแต้มต่อธุรกิจใหม่

๐ สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม พ่อแม่ยอมจ่าย

๐ ขยายตลาดใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ

๐ สร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจดั้งเดิม