สรรพสามิตคาดก.ม.ใหม่เริ่ม1ส.ค.จ่อชงแผนเก็บภาษีสินค้าใหม่

สรรพสามิตคาดก.ม.ใหม่เริ่ม1ส.ค.จ่อชงแผนเก็บภาษีสินค้าใหม่

สรรพสามิตคาดก.ม.ฉบับใหม่บังคับใช้ 1 ส.ค. แม้ฐานคำนวณภาษีเปลี่ยนเป็นราคาขายปลีก ระบุไม่กระทบ"ผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค"

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฯเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ 70-80 ฉบับ ที่จะออกมารองรับการบังคับใช้กฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ โดยกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่นั้น คาดว่า จะมีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 สิงหาคมปีนี้

เขากล่าวว่า เหตุที่ต้องปรับปรุงระเบียบต่างๆ เพราะกฎหมายฉบับใหม่ได้มีการแก้ไขสาระสำคัญของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต โดยให้จัดเก็บบนฐานราคาขายปลีกแนะนำแทนฐานราคาหน้าโรงงานและราคานำเข้าซีไอเอฟ เมื่อฐานการจัดเก็บภาษีเปลี่ยนไป จะมีผลสำคัญในเรื่องฐานการคำนวณภาษีที่กว้างขึ้น รวมถึงวิธีการคำนวณ และพิธีการจัดเก็บต่างๆ ดังนั้นจึงต้องออกประกาศกติกาการจัดเก็บ ซึ่งรวมถึงอัตราภาษีที่จะจัดเก็บต้องปรับลดลงด้วย

“การปรับภาษีลดลง ต้องประกาศในวันเดียวกันกับกฎหมายสรรพสามิตมีผลบังคับใช้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่า การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ต้องไม่สร้างภาระแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ยอมรับว่า ในแง่อัตราภาษีที่ปรับลดลง เมื่อคำนวณออกมาเป็นเม็ดเงินภาษีแล้ว อาจแตกต่างจากของเดิมบางเล็กน้อย แต่โดยรวมไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากนัก ดังนั้น ผู้ประกอบการจะไม่สามารถนำเรื่องกฎหมายใหม่มาเป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาสินค้าที่เกินจริงได้”

แนวทางจัดเก็บภาษีตามหลักกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ จะสร้างความโปร่งใส และเป็นธรรมมากขึ้น จูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้องมากขึ้น ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ในอนาคต สิ่งที่สำคัญ คือ เมื่อฐานจัดเก็บภาษีเป็นธรรม จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เพราะฐานจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน

“ยกตัวอย่าง กรณีนำเข้ารถหรูในตลาดเกรย์ มาร์เก็ต ที่ก่อนหน้านี้บางราย บางยี่ห้อ มักสำแดงราคาซีไอเอฟต่ำกว่าจริง 20-30% เมื่อกฎหมายออกบังคับใช้ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะใช้ราคาขายปลีกแนะนำเป็นฐานการคำนวณภาษี หากยังสำแดงต่ำกว่าเป็นจริงอีก จะประสานสรรพากร เพื่อประเมินภาษี ในส่วนของกำไรที่เกิดขึ้น”

สำหรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้กรมจัดเก็บภาษีเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ ขณะนี้เตรียมเสนอการจัดเก็บภาษีสินค้าตัวใหม่ในพิกัดภาษีสรรพสามิตให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายจะพิจารณาอย่างไร โดยเกณฑ์การพิจารณาภาษีสินค้าใหม่ จะอยู่บนฐานช่วยลดการบริโภคสินค้าบาป และสินค้าที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ภาษีสินค้าใหม่ ศึกษามานานแล้ว ทั้งสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่ควรลดการบริโภค เช่น สินค้าบาป ขึ้นอยู่กับรัฐบาลตัดสินใจอย่างไร โดยเสนอใน 3 เดือนตามที่รัฐบาลกำหนด”

ส่วนผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรอบ 3 เดือนแรกของปีงบ 2560 จัดเก็บได้ 1.32 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 2 พันล้านบาท หรือ 1.60% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าเกินกว่าเป้า 4.85 พันล้านบาท หรือ 3.82%

เมื่อพิจารณาผลจัดเก็บ พบว่า 2 เดือนแรกของปีงบประมาณต่ำกว่าเป้า แต่เดือนที่ 3 หรือเดือนธ.ค.2559 ที่ผ่านมา มีสัญญาณดีขึ้น โดยยอดจัดเก็บรายได้กลับมาเป็นบวก 856 ล้านบาท หรือ 1.82% คาดจัดเก็บระยะต่อไปจะดีขึ้น และทำให้ยอดจัดเก็บตลอดทั้งปีงบประมาณเป็นไปตามเป้าที่ 5.55 แสนล้านบาท ส่วนปีงบ 2561 ตั้งเป้าจัดเก็บที่ 6 แสนล้านบาท

ทั้งนี้รายการสินค้าที่มียอดจัดเก็บสูงอยู่ใน 5 อันดับแรกใน 3 เดือนแรกของปีงบ 2560 ได้แก่ 1.ภาษีน้ำมัน มียอดจัดเก็บ 4.89 หมื่นล้านบาท เกินเป้า 7.14% 2.ภาษีรถยนต์ มียอดจัดเก็บ 2.34 หมื่นล้านบาท ต่ำเป้า 8.53% 3.ภาษีเบียร์ มียอดจัดเก็บ 2.34 หมื่นล้านบาท เกินเป้า 10.34% 4.ภาษีสุรา จัดเก็บได้1.36 หมื่นล้านบาท ต่ำเป้าย 13.96% และ 5.ภาษียาสูบ จัดเก็บได้1.65 หมื่นล้านบาท เกินเป้า 6.58%