‘ใบโพธิ์’ลุยลงทุนไอทีดันต้นทุนต่อรายได้แตะ41%

‘ใบโพธิ์’ลุยลงทุนไอทีดันต้นทุนต่อรายได้แตะ41%

“ไทยพาณิชย์”ลุยลงทุนไอที ตั้งเป้าปีนี้ 20% ของกำไร พร้อมดันอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้แตะ 41% หลังต่ำกว่าเพื่อน เผยปรับโมเดลสาขาใหม่

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มงบลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะลงทุนด้านเทคโนโลยีใน 3 ปีข้างหน้า คาดใช้เม็ดเงิน 3-4 หมื่นล้านบาท ทยอยตัดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปี 2559-2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ธนาคารใช้งบด้านไอทีหลักพันล้านเท่านั้น

ทั้งนี้กระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กร จะใช้งบ 15% และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของกำไรในปีนี้ ซึ่งอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ ที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ธนาคารยังเพิ่มการลงทุนได้อีก โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 40-41%

“ปีที่ผ่านมา แม้ธนาคารเร่งการลงทุน เพื่อให้ต้นทุนต่อรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40% จากเดิมแค่ 38% แต่เอาเข้าจริงปรากฏว่ามีกำไรสวนกลับขึ้นมา ทำให้เงินลงทุนตามไม่ทัน จึงเร่งลงทุนเพราะรายได้ต้องเพิ่มเช่นกัน ดังนั้นสัดส่วนการลงทุนต้องเพิ่มขึ้นอีก”

ส่วนการร่วมลงทุนกองทุนฟินเทคผ่านบริษัทลูก ดิจิทัล เวนเจอร์ส ยังไม่สร้างผลตอบแทนได้ชัดเจน เพราะนโยบายของธนาคาร คือ การสร้างห้องทดลองในการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีบล็อกเชน และ Machine learning ส่วนปีหน้าเป็นปีการศึกษาทดลอง หลายเรื่องเรายังไม่ใช่ผู้นำ ดังนั้นจะเน้นการสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้เวลา

“9โปรเจคยุทธศาสตร์เราทำไป 90% แล้ว การลงทุนในยุทธศาสตรนี้ ปีหน้าจะทำให้เกิดขึ้น โมบายแบงกิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง อินเตอร์เน็ตสำหรับลูกค้าธุรกิจ ระบบเพยเมนท์ใหม่ BI (Business Intelligence) คือ เทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูล จัดเก็บ วิเคราะห์ และการเข้าถึงข้อมูล BigData Analytics ซึ่งลงทุนแล้ว อีกหน่อยจะสร้าง E wallet หรือ virtual Card E-KYC ซึ่งทำให้สมัครเป็นลูกค้าได้รวดเร็ว จึงต้องลงทุน และเปลี่ยนกระบวนการทำงานขององค์กร”

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจสาขาใหม่ โดยแยกงานขายออกจากงานบริการ และพนักงานส่วนหนึ่งจะถูกฝึกให้เป็นพนักงานขาย ที่ผ่านมาธุรกรรมผ่านช่องทางสาขาไม่ได้ลดลง เพราะลูกค้าหันไปใช้ช่องทางอื่น และเครื่องมืออื่นมากขึ้น การเพิ่มเครื่องอิเลคทรอนิกส์ในสาขา จึงจำเป็นมากขึ้น ดังนั้นรูปแบบการจัดพื้นที่ในสาขา จะให้นำ้หนักกับการเพิ่มเครื่องมือบางสาขา ส่วนเคาท์เตอร์พนักงานจะมีขนาดเล็กลง เช่นพื้นที่บริการลดเหลือ 30% ที่เหลือเป็นพื้นที่การให้คำแนะนำ หรือให้คำปรึกษาทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนคนลดลงตาม

ธนาคารไม่เน้นปิดสาขา หรือการลดจำนวนสาขาลง แต่จะบริหารจัดการให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และอาจเปิดในรูปแบบที่เปลี่ยนไป ส่วนสาขาในอดีตที่เคยสร้างตึกใหญ่โต หากไม่อยู่ในทำเลที่มีกลุ่มลูกค้า อาจพิจารณารูปแบบการขายเพื่อให้ได้เงินกลับมา ไปใช้รูปแบบอื่นแทน