'ก.พลังงาน'แนะรอผลสอบปมสินบนโรลส์รอยซ์

'ก.พลังงาน'แนะรอผลสอบปมสินบนโรลส์รอยซ์

"พลังงาน" แนะรอข้อเท็จจริงปม "โรลส์รอยซ์" จ่ายสินบน ยันไม่มีผลต่อค่าไฟฟ้า "วิเศษ" ชี้การประมูลเป็นแบบเทิร์นคีย์ ปตท.ไม่ได้เจรจาตรงกับผู้ผลิต

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้รับทราบเบื้องต้นกรณีข่าวกระทรวงยุติธรรมสหรัฐสอบพบโรลส์รอยซ์จ่ายสินบนให้พนักงาน บมจ.ปตท.และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.แล้ว โดยทั้ง 2 บริษัท มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่กระทรวงพลังงานในฐานะกำกับดูแลได้ติดตามผลสอบ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มี พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการกำกับดูแลและเป็นบริษัทที่มีบรรษัทภิบาล (ซีจี) ที่ดี ได้รับรางวัลมาโดยตลอด จึงเชื่อว่าเมื่อผลสอบออกมาแล้วจะรับทราบข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่ากรณีมีสินบนหรือไม่มีสินบน ไม่มีผลต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะสูตรค่าไฟฟ้ามีการกำกับดูแลที่ดี ไม่ใช่สูตรผันแปรตามต้นทุน (COST PLUS) แต่เป็นสูตรราคาก๊าซฯ ที่ผันแปรย้อนหลังตามราคาน้ำมันเตา 6-12 เดือน ดังนั้น ไม่ว่าต้นทุนสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หรือต้นทุนผลิตและสำรวจก๊าซฯ จะสูงขึ้นเพียงใด จึงไม่ได้มีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่เป็นต้นทุนในส่วนของผู้ประกอบการ

ด้านนายวิเศษ จูภิบาล อดีตผู้ว่าการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องของการติดสินบนและกำลังจะสอบถามจาก ปตท.ว่าถูกระบุว่าติดสินบนกรณีใดบ้าง แต่ปกติการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ สัญญาประมูลจะเป็นลักษณะ TURN-KEY ไม่ได้รับซื้อตรงสินค้าแต่ละชิ้น โดยเป็นสัญญาแบบนานาชาติและผู้รับเหมาเสนอราคาประมูลตามข้อมูลจำเพาะหรือสเปก (spec) ที่กำหนด เมื่อผ่านคุณสมบัติเงื่อนไขแล้วจะมาดูด้านราคา หากรายใดราคาต่ำสุดก็จะชนะประมูล ดังนั้น ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์, เครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเจนเนอเรเตอร์ (Generator ) ใด ๆ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ประมูลจัดหามาเอง

"การประมูลส่วนใหญ่รูปแบบ TURN-KEY เหมือนรับสร้างบ้านที่ถูกกำหนดราคาและสเปก แต่ผู้รับเหมาจะจัดหาจากที่ใด รายใด ก็เป็นเรื่องของผู้รับเหมา ซึ่งการจัดซื้อแบบ TURN-KEY ทาง ปตท.จะไม่ได้ซื้อตรงกับผู้ผลิต" นายวิเศษ กล่าว