แอสเซทพลัสลุยบีอีต่อรายใหญ่สนลงระบุดอกเบี้ยสูงจูงใจ

แอสเซทพลัสลุยบีอีต่อรายใหญ่สนลงระบุดอกเบี้ยสูงจูงใจ

บลจ.แอสเซทพลัส ยืนยันลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ไม่มีเรตติ้งต่อ มั่นใจไม่ได้เลวร้าย ผู้ลงทุนรายใหญ่ ยังสนใจเหตุดอกเบี้ย 3-4.5%

นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า บริษัทยังคงออกกองทุนประเภท AI หรือกองทุนที่ขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ และ Rollover กองทุนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแผนลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีเรตติ้ง แม้ว่าช่วงนี้จะมีกระแสข่าวในทางลบกับตราสารหนี้ดังกล่าวก็ตาม

สำหรับมุมมองในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีเรตติ้ง มองว่า ไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ดังกล่าวมีหลายบริษัทที่มีศักยภาพดี เวลาเลือกลงทุนฝ่ายลงทุนจะวิเคราะห์ตัวบริษัทอย่างดีดูหลายองค์ประกอบในการตัดสินใจ และตราสารหนี้ระยะสั้นไม่มีเรตติ้งที่บริษัทลงทุนธุรกิจล้วนแต่มีศักยภาพ

ทั้งนี้พอร์ตกองทุน AI ของบริษัทปัจจุบัน 24,000 ล้านบาท เชื่อว่าพอร์ตกองทุนดังกล่าว ยังเติบโตต่อไปได้ เพราะนักลงทุนมีความต้องการอยู่ปริมาณมาก สำหรับผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีเรตติ้ง เฉลี่ยอยู่ที่ 3-4.5% ขณะที่มีเรตติ้งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.7-2% ทำให้มีนักลงทุนสนใจตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้งอยู่มาก

ส่วนกรณีตั๋วเงินระยะสั้น (B/E)ของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC นายรัชต์ กล่าวด้วยว่า บริษัทมีตั๋วเงินดังกล่าวผสมอยู่ในกองทุน AI ประมาณ 2 กองทุน เม็ดเงินลงทุน 300 ล้านบาท จะครบกำหนดภายในเดือนเม.ย.นี้ 

ขณะที่หุ้นกู้ของไอเฟค มีผสมอยู่ 1 กองทุนเม็เงินลงทุน 120 ล้านบาท จะครบกำหนดเดือนพ.ย.2560 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่บริษัทได้ติดตามใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาของเจ้าหนี้ที่เป็นบลจ. ต่างๆ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหารือหาทางออกเต็มที่

ส่วนลูกค้าของบริษัท พบว่า ได้สอบถามมาบ้าง แต่ตั๋วบีอีที่ถือครองอยู่ยังไม่ครบกำหนดในช่วง 1-2 เดือนนี้ และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายลงได้ เมื่อถึงเวลาที่ครบกำหนดไถ่ถอนจะมีเงินมาชำระหนี้ได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟคครั้งนี้ไม่ได้มาจากตัวธุรกิจ แต่เกิดจากปัญหาบางอย่าง

“เดิมไอเฟคเตรียมเม็ดเงินไว้จ่ายตั๋วบีอีที่ครบกำหนดงวดแรกช่วงปลายปี 2559 แต่เกิดปัญหาบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถนำเงินส่วนนั้นมาคืนหนี้ได้ตามกำหนด และปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข”

สำหรับตั๋วบีอีที่บริษัทเข้าลงทุน ปัจจุบันมีประมาณ 390 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเพียง 1.3% ของพอร์ตลงทุน 30,000 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนตั๋วบีอี ไม่มีเรตติ้ง 20% ของพอร์ลงทุน

“ช่วงที่ผ่านมาบริษัทเจอตั๋วเงินบีอีที่ผิดนัดชำระหนี้เพียงรายเดียว คือ กรณีของเนชั่น (NMG) วงเงิน 100 ล้านบาท เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา กรณีการผิดนัดชำระหนี้มาจากปัญหาภายใน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับตัวธุรกิจ ซึ่งทางเนชั่นได้มีการจัดการงวดดังกล่าวแล้ว เหลืองวดเดือนมี.ค.นี้ที่จะครบกำหนดชำระเป็นวงเงินประมาณ 90 ล้านบาท เชื่อว่า จะชำระหนี้ได้ตามปกติ

 ส่วนกรณีของไอเฟค ยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ แต่ก็ติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด ต้องรอดูผลช่วงเดือนเม.ย.นี้ที่จะครบกำหนดชำระ อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาจริงๆ บริษัทก็มีแผนรองรับตามขั้นตอนที่ ก.ล.ต. กำหนดแล้วแต่มองว่าปัญหาน่าจะคลี่คลายได้ก่อน”

นายรัชต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2560 ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ที่55,000ล้านบาท เติบโต 25% จากปีก่อนอยู่ที่ 43,500 ล้านบาท เติบโต 15% จากปี 2558

บริษัทยังคงมุ่งเน้นเสนอทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการบริหารกองทุนเดิมให้กระจายไปสินทรัพย์ต่างๆทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ล่าสุด เปิดกองใหม่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้ เดลี่ พลัส เพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (ASP-DPLUS) เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้สำหรับเอไอ ลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในต่างประเทศ จุดเด่นโอกาสรับผลตอบแทนสูง ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยต่ำ และกระแสเงินไหลออกจากเงินฝาก สภาพคล่องสูง ซื้อ-ขายได้ ทุกวันทำการ Hedge ทั้งจำนวน เสนอขายไอพีโอวัน 16 ม.ค.-1 ก.พ. นี้

ด้านนางสาวษิฌาทับทิพรรณ อาจารย์ประจำภาควิชา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่าทิศทางของตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่มากอย่างผิดปกติโดยเฉพาะในหุ้นกู้ภาคเอกชนแม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่ภาคเอกชนมีการกระจายความเสี่ยงจากการกู้เงินสถาบันการเงินในอดีต แต่หากมีการเติบโตมากเกินไปก็เป็นความเสี่ยง

ส่วนการระดมทุนในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เอกชนไทยกระจายความเสี่ยงดีขึ้น เดิมกู้เงินจากสถาบันการเงิน มาเป็นการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์และออกหุ้นกู้ ซึ่งช่วยให้เอกชนมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น

ขณะที่ นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL) แจ้งตลาดหลักทรัพย์วานนี้ว่า (19 ม.ค.) บริษัทใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน ให้แก่ บลจ.โซลาริส จำกัดและไถ่ถอนตั๋วแลกเงินเลขที่ EFORL 019/2016 มูลค่าหน้าตั๋ว 200 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว