เตรียมชง 'กพช.' เคาะแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน

เตรียมชง 'กพช.' เคาะแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน

"พพ." เตรียมชง "กพช." เคาะหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอสพีพี และวีเอสพีพี 17 ก.พ.นี้

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการประชุมวันที่ 17 ก.พ.นี้ พิจารณาอนุมัติหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากภาคเอกชน สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP)ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (ไฮบริด)ในรูปแบบสัญญาเสถียร (Firm) และรูปแบบสัญญาเสถียรระยะสั้น (Semi Firm) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

เบื้องต้น สัญญารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ SPP จะกำหนดระยะเวลา 12 เดือน และ สัญญารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ VSPP จะกำหนดระยะเวลา 3-6 เดือน ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เนื่องจากมีข้อจำกัดปริมาณเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า โดยหากหลักเกณฑ์ดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากกพช.แล้ว เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะพิจารณาออกประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าต่อไป ส่วนปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนนั้น ยังจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาก่อนเสนอเข้าที่ประชุม กพช.ต่อไป

นอกจากนี้ พพ.ยังเตรียมนำเสนอ กพช.พิจารณาให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 25 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งรวม 5 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 2-3 บาทต่อหน่วย และจะไม่มีการให้เงินส่วนเพิ่มในการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบฟีดอินทารีฟ (FIT) เพราะไม่ได้เป็นโครงการที่แสวงกำไร โดยโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 100 กิโลวัตต์
"โรงไฟฟ้าทั้ง 25 แห่ง แบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ จำนวน 3 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 2 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาใบอนุญาต ร.ง.4 และกฎหมายต่างๆของภาครัฐ แต่ขณะนี้ได้ปลดล็อคปัญหาจบแล้ว จึงนำเสนอกพช.เพื่อขออนุมัติเดินหน้าโครงการได้ในปีนี้"

ทั้งนี้ หาก กพช.อนุมัติแล้ว จะส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยชุมชน เป็นผู้ดำเนินโครงการต่อไป