'ซันสวีท'เปิดพื้นที่ให้ความรู้ ทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม

'ซันสวีท'เปิดพื้นที่ให้ความรู้ ทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม

เชียงใหม่ "ซันสวีท" จัดงานวันข้าวโพดหวาน ครั้งที่ 4 ให้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกร และบริษัทผู้นำด้านการเกษตร

 เข้าให้ความรู้การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม ลดปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเขตพื้นที่ภาคเหนือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณฟาร์มเกษตร KC Farm บ้านแพะประทานพร หมู่ 7 อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด เป็นประธานเปิดงานวันข้าวโพดหวานครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค.60 โดยมีเกษตรทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ ลงทะเบียนร่วมงานตลอด 3 วัน กว่า 1,200 คน นอกจากนี้แล้ว ภายในงานยังมีบริษัทชั้นนำด้านการเกษตร ได้เตรียมพื้นที่สำหรับการให้ข้อมูล และภาคการศึกษาเทคโนโลยีด้านการเกษตรใหม่ๆ ให้แก่เกษตรที่เข้าร่วมในครั้งนี้ อาทิ ชนิดปุ๋ย, การทำระบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรยุคใหม่ได้เข้าใจถึงการพัฒนาและลดรายจ่ายต้นทุนได้ในอนาคต     

ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริหารบริษัท ซันสวีท จำกัด เปิดเผยว่าว่า เริ่มมองเห็นว่าเกษตรกรในอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการปลูกแบบตามธรรมชาติ จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญทำอย่างไรให้เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการปลูกทั้งในสิ่งที่เขาเคยทำ มาผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่ และที่สำคัญในวันนื้คือเทคโนโลยีด้านการเกษตร ที่จะช่วยให้เกษตรกรยกระดับในเรื่องของคุณภาพต้นทุนให้ดำรงอยู่ได้

และในปีนี้จะตั้งเป้าไปที่ผลผลิตให้มีความพอดีต่อความต้องการของตลาด โดยจะไม่ให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดและกระจายพื้นที่มากขึ้น แต่จะให้ปลูกด้วยพื้นที่เดิมที่มีอยู่ แต่พัฒนาด้านการเกษตรให้ต้นข้าวโพดมีผลิตผลมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ต้นทุนของเกษตรกรโดยเฉลี่ยลดต่ำลง เพราะที่ผ่านมานอกจากราคาข้าวโพดจะไม่แน่นอนแล้ว เกษตรกรยังได้ราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน เป็นเหตุให้มีการขาดทุน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทางบริษัทผู้ผลิตข้าวโพดหวาน จะได้ส่งเสริมองค์ความรู้ทางเกษตรให้เกษตรกร ได้เข้าใจถึงกระบวนการวิธีปลูกพืชผลทางการเกษตร เมื่อปลูกแล้วและมีการหักต้นทุนแล้วจะต้องมีเงินเหลือเก็บ

ทั้งนี้สำหรับตลาดข้าวโพดหวานพบว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเจอสภาพอากาศแล้ง ทำให้ผลผลิตข้าวโพดขาดหายไปราว 2-3 เดือน กระทั่งช่วงท้ายปี ยังมีฝนลงมาให้ข้าวโพดได้มีน้ำล้อเลี้ยง และสามารถกลับมาผลิตได้ตามเป้าอีกครั้ง ส่วนในปี 2560 นี้ คาดว่าจะมีน้ำมาก ผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นอีกราว 20-30%

ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ปี 2558 และปี 2559 อยู่ที่ราว 100,000 ตัน ตัวเลขไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ช่วงปีที่ผ่านมาค่าเงินของไทยอ่อนตัว จึงส่งผลให้มูลค่าสินค้านั้นสูงขึ้น

“ในแง่การผลิตเองทางบริษัทเริ่มวางแผนอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของตลาด เพราะปัญหาที่พบคือ วัตถุดิบมากเกินความจำเป็น และบางครั้งวัตถุดิบที่รับซื้อมาเกินความต้องการจนถึงขั้นนำไปทิ้ง หรืออย่างปีที่ผ่านมาผลิตผลไม่เพียงพอ เชื่อแน่ว่าในปีนี้ความชัดเจนด้านผลผลิตจากเกษตรกรมากยิ่งขึ้น” ดร.องอาจ กล่าว