น้ำ (ไม่) ลด...ตอผุด

น้ำ (ไม่) ลด...ตอผุด

ถ้าเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 47 คือเรื่องใหม่ ส่วนอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 54 คือบทเรียน…

 แล้วสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้เราเรียกมันว่าอะไร

แน่นอนว่านี่คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ เพราะอิทธิพลความกดอากาศต่ำในทะเลฝั่งอันดามัน ส่งผลให้ฝนตกหนักในรอบหลายสิบปี กระทั่งระลอกล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน

ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) วิเคราะห์ว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์เลยจุดวิกฤติที่สุดมาแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมดจะยุติง่ายๆ กลับกันยังคงต้องเฝ้าระวัง พร้อมกับสร้างแนวทางฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนี้น่าจะเป็นโอกาสดีๆ ที่เราจะมองให้เห็นต้นตอปัญหาและต้นทุนของโอกาส คิดใหม่ ทำใหม่ โดยเฉพาะยามที่ประเทศไทยต้องจดจำคำว่า “น้ำท่วม” ให้ขึ้นใจ

ทุนน้ำใจ ไม่ไปไหน

ไม่ใช่จะมีแต่เรื่องร้ายเสียทีเดียว เหตุน้ำท่วมหนนี้คือหลักฐานที่ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหนคนไทยไม่เคยทิ้งกัน

ลองคิดถึงตอน เจ-เจตริน วรรธนะสิน ขี่เจ็ทสกีเพื่อแจกน้ำ-อาหารให้กับผู้ประสบภัยที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนำมาสู่การสร้างแนวร่วมในโซเชียลมีเดีย ก่อนนำมาสู่สัญญาณการรับบริจาคของภาคส่วนต่างๆ ที่เริ่มตั้งตัวได้ ซึ่งแม้ยอดบริจาคในช่วงแรกๆ จะมีจำนวนไม่มากเท่ากับวันที่รัฐบาลตั้งโต๊ะรับบริจาคเมื่อ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ “เร็ว”พอที่จะทำให้ผู้คนที่อยู่ในภาคต่างๆ ได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง

หน่วยงานรัฐและเอกชนก็ไม่ได้น้อยหน้า นอกจากสิ่งของอุปโภคบริโภคแล้ว เราเห็นแนวทางสร้างสรรค์ของการช่วยเหลือมากมายที่น่าสนใจ อาทิ การส่งบุคลากรและชุดนักเรียนของกลุ่มแวดวงการศึกษา การปรับลดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน การปรับราคาตั๋วเดินทางของบริษัทสายการบิน การส่งหญ้าแห้งเลี้ยงสัตว์ของกรมปศุสัตว์ กระทั่งการหานวัตกรรมใหม่ๆ จากบรรดานักออกแบบ

ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบที่ติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วม บอกว่า ทุกคนที่ทราบข่าวก็พร้อมจะมีส่วนร่วมในการช่วย แต่ในบางกรณีก็ยังไม่แน่ใจว่าของที่ตนเองจะบริจาคนี้เกินความจำเป็นแล้วหรือไม่…ซึ่งนี่เองนำไปสู่ความพยายามที่จะส่งวัสดุบรรเทาทุกข์ที่เชื่อว่าชาวบ้านมีความจำเป็นและยังไม่มีผู้ใดบริจาค

“ผมได้ยินมาว่าชาวบ้านต้องเลาะพื้นไม้เพื่อประกอบเป็นแพใช้วางของ เพราะน้ำที่สูงเขาไม่สามารถทำกับข้าว ไม่สามารถวางสิ่งของกับพื้นได้ จึงคิดว่าน่าจะมีวัสดุอะไรสักอย่างที่จะไปแทนที่โดยที่เขาไม่ต้องไม่งัดไม้หรือเอาผนังบ้านมาทำ เลยคิดว่าน่าจะเอาแผ่นโฟม แบบ Polystyrene Foam ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงไม่ลามไฟ ไม่เปลี่ยนสภาพ ขนาดความกว้างประมาณ 120x60 เซนติเมตร หนาสัก 1 นิ้ว มาใช้เป็นวัสดุแทน”

“ชาวบ้านอาจจะเอามาต่อเป็นแพ ใช้เป็นที่วางของ ที่นอนชั่วคราวหลังน้ำท่วมผ่านไปสามารถนำไปใช้งานกั้นผนังหลังคาอื่นได้ เพราะมีคุณสมบัติในการลดความร้อนเข้าสู่อาคาร”ดวงฤทธิ์เล่าที่มาของแผ่นโฟมที่ถูกลำเลียงจากกรุงเทพฯ ไป ยังเขตน้ำท่วมสูงในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อสุดสัปดาห์มา

ต้นทุนที่มีทั้งน้ำใจและไอเดียเหล่านี้ สามารถต่อยอดอะไรได้บ้างหากคนไทยต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งต่อไป ?

แผนรับมือ คือ O.K.?

ถ้าต้นทุนคือมุมมองในด้านที่ดีแล้ว เรื่อง “ต้นตอ” ของปัญหาก็ไม่ต่างอะไรจากความจริงที่ต้องพูดกัน

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเคยมีประสบการณ์ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิและน้ำท่วม ประเมินว่า ถึงวันนี้สิ่งที่สังคมไทยขาดไม่ใช่ความช่วยเหลือ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่างหากที่ยังเกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะ

“เราไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือครับ แต่เราขาดการรับมือกับภัยพิบัติที่เป็นระบบ อย่างพื้นที่บางสะพานยังมีประชาชนที่ติดอยู่ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่มีแผนรับมือภัยพิบัติในระดับจังหวัด ระดับอำเภอไว้แล้ว บางพื้นที่ซึ่งยังมีผู้เดือดร้อน มีคนที่ยังไม่ได้รับอาหาร ตรงนี้ต้องตั้งคำถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำตามแผนที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่”

“อย่างน้อยๆ การแจ้งเตือนที่ระบุว่าต้องแจ้งล่วงหน้า 120 ชั่วโมง ก็ไม่ถูกปฏิบัติตาม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีใครติดอยู่ในพื้นที่แน่ๆ ตรงนี้อธิบายว่าแผนรับมือมี แต่ไม่ซักซ้อม ไม่ทำให้เกิดการปฏิบัติจริง” ดร.ไชยณรงค์ กล่าวเสริม

ขณะที่ ดร.รอยล จิตรดอน มองเรื่องนี้ว่า ข้อมูลหรือแผนรับมือภัยพิบัติที่ภาครัฐมีอยู่ไม่ใช่ปัญหา เพราะคนไทยกับเรื่องข้อมูลนั้นเพียงพออยู่แล้ว แต่เป็นเพราะหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ชำนาญที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ได้ ทำให้ข้อมูลที่ได้รับไม่ถูกนำไปตัดสินใจ แปรเปลี่ยนเป็นความพร้อมและใช้รับมือในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน

“ผมยกตัวอย่างถ้าระบบแจ้งเตือนบอกมาว่ามีปริมาณฝนตกที่เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี สัก 200 มิลลิเมตร ถามว่ารู้ไหม… ทุกคนรู้ แล้วมีแผนไหม มันก็มีชัดเจน แต่ผมมองว่าเราขาดความชำนาญที่จะวิเคราะห์ต่อว่าถ้าฝนตกที่นี่แล้ว มันจะไปที่ไหนต่อ น้ำจะไหลลงไปตรงไหน จะกระทบกับชุมชนหรือเกษตรกรตรงไหนบ้าง”

พอภาครัฐไม่ตอบสนองได้ทันเวลา จึงไม่แปลกที่ในเวลานี้การพูดถึงโมเดลชุมชนให้เข้มแข็ง กลายเป็นประเด็นต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ชาวบ้านมีบทบาทในกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาหลังภัยพิบัติ การพูดคุยและถกกันถึงปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่ เพื่อช่วยกันคิดหาวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

“ปัญหาของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย คือมุมมองในการแก้ปัญหา ที่มักจะมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างขนาดใหญ่อย่างการสร้างเขื่อน ขุดแม่น้ำสายใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าอย่างชุมชนกลับถูกมองข้าม ทั้งที่เป็นกลไกที่สามารถช่วยตัวเองได้ทันที ผมยกตัวอย่างที่ตำบลกรุงชิง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ผลจากประสบการณ์ภัยพิบัติในปี 47 ทำให้เขาฝึกฝนชาวบ้าน เช่น ฝึกโรยตัวเมื่อต้องอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ปิดล้อม สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งนี่เป็นกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า หากกลไกของรัฐมีปัญหา ก็น่าจะเป็นกระบวนการชุมชนเข้ามาช่วยและได้ผล” ดร.ไชยณรงค์ กล่าวเสริม

ฟื้นฟูสู่อนาคต

เตรียมรับมือกับโรคระบาด การฟื้นฟูบ้านเรือน เรื่องปากท้อง และอีก...ฯลฯ เอาไว้ล่วงหน้าได้เลย เพราะนี่คือตอคำถามที่เริ่ม “ผุด” ขึ้นมาแล้วในเวลานี้

รวมถึงบางเรื่องที่ใครต่อใครอาจไม่คาดคิด อย่างสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วยเช่นกัน ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลฟันธงว่า แม้จะยังไม่น่าเป็นห่วงในระดับผู้บริโภค แต่ก็ควรเฝ้าระวัง เพราะกระแสน้ำจะไปเจือจางความเค็มจนมีผลต่อการเลี้ยงสัตว์ทะเลได้

“มันก็ต้องเฝ้าระวัง แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนะ เพราะน้ำที่ท่วมในภาคใต้มีที่มาจากฝนตกและจำกัดอยู่ในบริเวณภาคใต้อย่างเดียว แตกต่างจากน้ำท่วมเมื่อปี 54 ซึ่งน้ำเคลื่อนตัวมาจากภาคเหนือ กลาง กรุงเทพ ก่อนสู่อ่าวไทย ซึ่งน้ำจะสกปรก มีสารปนเปื้อน ส่งผลต่อสัตว์ทะเลละแวกปากอ่าวที่ได้รับสารปนเปื้อนที่มากับน้ำ”

“ปีนี้ต่างจากเมื่อปี 54 แต่ที่เห็นๆ กันอยู่ก็น่าจะเป็นกรณีเกษตรกรซึ่งน้ำท่วมทำให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้ต้องตายไป อพยพไม่ทัน หรือกรณีผู้เลี้ยงปลากระชัง ชายฝั่งที่จะได้รับผลกระทบจากการผันน้ำสู่ทะเล เพราะเมื่อความเค็มในน้ำลดลง ปลาที่เลี้ยงไว้ตายได้ ขณะที่ชาวประมงเองก็ต้องออกไปจับปลาในระยะทางที่ไกลขึ้น บางคนเครื่องมือหากินอาจจะไปกับสายน้ำ”

ขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานวิจัยเรื่องระบบน้ำมาอย่างต่อเนื่อง สรุปการบ้านหลังจากเห็นตอของปัญหาเพื่อมองในสถานการณ์ต่อไปว่า ถึงสถานการณ์ยังไม่ยุติ น้ำยังไม่ลด แต่ก็เห็นปัญหาที่ต้องกลับไปทบทวนแล้ว โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ  

1.เมื่อทุกคนต่างเชื่อว่าน้ำในภาคใต้มีลักษณะไปเร็ว-มาเร็ว แต่เมื่อสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องยาวนานเช่นในปีนี้ เรามีแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ระดับเลวร้ายที่สุดอย่างไรบ้าง

2.การจัดการน้ำในพื้นที่ป่าพรุ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ไหลของน้ำจากภูเขาลงสู่ทะเล ขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวมีการจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว จากนี้ไปจะแก้ปัญหาอย่างไร จำเป็นต้องมีการเวนคืนพื้นที่บางส่วนหรือไม่ 

3.ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พื้นที่ภาคใต้ต้องมีการพูดคุยเรื่องผังเมือง มีกำหนดเขตพื้นที่รับน้ำ แบบเดียวกับการป้องกันน้ำในเขตกรุงเทพ และ 4.จำเป็นต้องมีการแก้ปัญหาในเชิงระบบอย่างการสร้างคลอง สร้างเขื่อนหรือไม่

“นี่เป็นข้อสังเกตที่ประมวลขึ้นจากเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มจนถึงวันนี้ ขณะนี้ผมมองว่าเราตั้งตัวได้และอยู่ระหว่างจัดการให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ผลที่เกิดขึ้นตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็พอจะเห็นว่ามีบางส่วนที่ยังต้องได้รับการแก้ไข”

ทั้งหมดจึงเป็นทั้งข้อสังเกต คำวิจารณ์ และการบ้าน ในวันที่น้ำยังไม่ลดแต่พวกเรากลับเห็นตอผุดซึ่งต้องบอกกันตั้งแต่เนิ่นๆ