หัวใจอุ่นต้อง “อาบป่า”

หัวใจอุ่นต้อง “อาบป่า”

ความเขียวขจีคือยาดีในการรักษาสุขภาพกายและใจ ใครๆ ก็รู้

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ทำไมธรรมชาติสีเขียวๆ หรือความร่มรื่นของผืนป่าจึงเยียวยาหัวใจและร่างกายมนุษย์ได้


ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ให้คำตอบว่า ร่างกายของคนเราเป็นระบบนิเวศประเภทหนึ่ง ซึ่งในตัวเรานั้นมี “จุลชีพ” ที่มีจำนวนมากกว่าเซลล์ของเราถึง 1.5 เท่า โดยจุลชีพนี้จะทำหน้าที่ดูแลระบบต่างๆ ในร่างกาย และเป็นตัวสำคัญในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แม้แต่อารมณ์ก็แปรเปลี่ยนได้ตามจุลชีพในตัวเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงต้องการปฏิสัมพันธ์กับสังคมจุลชีพดีๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ 

“สถานที่ที่มีจุลชีพดีๆ ก็คือในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ในดงไม้ ในป่า มีงานวิจัยมากมายระบุว่า ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและระบบเลือดจะดีขึ้นเมื่อเรามีเวลาไปเดินป่าเพียงไม่กี่ชั่วโมง และมันจะดีต่อเนื่องไปทั้งอาทิตย์


นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิบะแห่งญี่ปุ่นพบว่า สาเหตุสำคัญมาจาก 3 ปัจจัย เอาแค่อากาศที่เราหายใจในป่า เราได้รับจุลชีพดีๆ ได้สูดน้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้ ได้รับประจุกระแสไฟฟ้าลบ ทั้งหมดปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเราดีขึ้น ปรับปรุงคลื่นสมองเรา อารมณ์ดีขึ้น และถ้าได้สัมผัสดินด้วยเราก็ได้รับจุลชีพดีๆ มากขึ้นไปอีกญี่ปุ่นจึงมีวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา เพื่อดูแลสุขภาพยุคโมเดิร์น คือกิจกรรม “ชิรินโยกุ” หรือการ “อาบป่า” (Forest Bathing) เพื่อสุขภาพกายและจิต”


ประจุไฟฟ้าขั้วลบเกี่ยวข้องกับร่างกายอย่างไร และทำไมมีอยู่มากในป่า ต้องบอกว่า การสังเคราะห์แสงของพืชนั้นจะทำให้เกิดโมเลกุลออกซิเจนที่มีประจุไฟฟ้าลบอ่อนๆ เมื่อเราสูดดมเข้าไปก็จะไปประกบกับประจุไฟฟ้าขั้วบวกของอนุมูลอิสระในร่างกายจนเปลี่ยนเป็นกลาง แล้วร่างกายก็จะหลั่งสาร “เซโรโตนิน” (Serotonin) หรือฮอร์โมนแห่งความสงบสุขออกมา ทำให้ร่างกายและจิตใจมีความกระปรี้กระเปร่า ลดอาการซึมเศร้าและคลายความเครียดลง ที่สำคัญระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ในร่างกายก็จะดีขึ้นด้วย


เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ก็คือ ในเมืองที่มีป่าน้อย ประจุไฟฟ้าขั้วลบก็น้อย อย่างในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ผู้คนในสังคมนั้นมักจะหงุดหงิด วุ่นวาย ปวดหัวง่าย อ่อนเพลีย เป็นรคภูมิแพ้ และมีอาการของคนเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่อยู่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยสีเขียว หรือคนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่า


จริงๆ แล้วในญี่ปุ่นมีการส่งเสริมให้ “อาบป่า” มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ชิรินโยกุ” ซึ่งในญี่ปุ่นมีการศึกษาอย่างจริงจัง และมีการตรวจวัดคุณสมบัติของป่าหลายๆ แห่ง ก่อนจะรองรับและแนะนำให้พื้นที่นั้นๆ เป็น “แหล่งอาบป่า” ที่มีคุณภาพ บางที่ถึงขั้นประกาศเป็น “คลินิกอาบป่า” เลยก็มี


คำว่า “อาบป่า” ในประเทศไทยอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ใช่ว่าจะไม่มีใครเคยอาบป่า เพราะ กิจกรรมในการอาบป่าสอดคล้องและใกล้เคียงกับคำว่า “เดินเล่นในสวนสาธารณะ” ของมนุษย์เมืองมากๆ คือทุกคนพยายามพาตัวเองไปเดินเล่นอยู่ในสวนเขียวๆ ที่ความเข้มข้นอาจไม่เท่า “ป่า” แต่ก็เรียกว่าร่มรื่นและรื่นรมย์ไม่น้อยเหมือนกัน