นายกฯหนุนแนวคิด 'ประวิตร' เรียกทุกพรรคการเมืองจับเข่าคุย

นายกฯหนุนแนวคิด 'ประวิตร' เรียกทุกพรรคการเมืองจับเข่าคุย

“พล.อ.ประยุทธ์” หนุนแนวคิด “พล.อ.ประวิตร” เรียกทุกพรรคการเมืองจับเข่าคุย ชี้เป็น“สัจจะวาจา”ไม่ใช่ลง“สัตยาบรรณ”เพื่อนำไปสู่ปรองดอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดให้พรรคการเมืองมาลงสัตยาบรรณร่วมกันเพื่อความปรองดอง ว่า เรื่องปรองดองยังไม่ได้ทำ อยู่ระหว่างการเริ่มตั้งคณะกรรมการ เรื่องนี้ตนได้ฟังมาจากพล.อ.ประวิตร มีความคิดแบบนั้นแล้วดำริขึ้นมา ก็ต้องดูว่าถ้าจะต้องทำกัน แต่ตนไม่ได้หมายความว่าจะทำหรือไม่ทำ เพียงแต่มีแนวคิดขึ้นมา ซึ่งตนก็โอเค หลังได้ฟังในขั้นต้น โดยพล.อ.ประวิตร มีแนวคิดเรียกพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาคุยกัน ว่าอะไรที่จะร่วมมือกันได้บ้าง และอะไรที่จะไม่ทำอีก เช่น การทำให้เกิดปัญหากับประชาชน จะไม่ทำอีกได้หรือไม่ 

“เขาเรียกว่าเป็นสัจจะสัญญา แต่ไม่ใช่สัตยาบรรณ เป็นสัจจะวาจาทำนองนั้น คือพูดแล้วต้องไม่ลืม ต้องทำตามนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือเปล่า แต่อย่าเอามาพันกัน ซึ่งมีหลายเรื่องหลายประเด็น ผมได้ให้แนวนโยบายไปว่าการปรองดองมีหลายมิติ และมีคดีความมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีการเมือง แต่ละอย่างจะทำกันอย่างไร ระหว่างนี้ก็สร้างการรับรู้กับสังคม ประชาชน ให้รู้ว่าเขาคิดกันมาแบบนี้ ไม่ใช่งุบงิบทำ มันทำไม่ได้” นายกฯ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าโดยวิสัยฝ่ายการเมืองจะมีเงื่อนไขต่อรอง นายกฯ กล่าวว่า ต้องไม่มีเงื่อนไข ขั้นแรกเท่าที่ตนคุยกับพล.อ.ประวิตร จะเป็นการเรียกทุกพรรคมาคุยและเสนอความคิดเห็นมา และบันทึกไว้ ซึ่งจะฟังทุกพรรคทุกคนที่พูด จากนั้นนำมารวบรวมดูว่าอันไหนควรนำมาปฏิบัติหรือนำมาทำ ทั้งนี้ต้องดูฝ่ายกฎหมายด้วย ไม่ใช่พูดกับคณะนี้แล้วไปชี้ผิดชี้ถูกมันไม่ใช่ ต้องหาประเด็นและแนวทางให้เจอ โดยความคิดเห็นของทุกภาคส่วน กลุ่มไหนมีปัญหา ก็ให้เสนอของเขามา เราก็นำมากลั่นกรอง สิ่งไหนที่ตรงกัน ก็ต้องดูว่าจะนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมายได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องเลือกว่าจะทำอันไหน แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะทำด้วยกฎหมายหรืออะไรก็ตาม สังคมต้องยอมรับ โดยบังคับกันไม่ได้อยู่แล้ว เข้าใจกันหรือไม่ เดี๋ยวก็บานปลายกันไปอีก 

“ผมไม่ได้ต้องการจะปรองดองกับคนโน้นคนนี้ ผมไม่ได้มองว่าเป็นใครคนไหน แต่ผมมองประเทศชาติ ปัญหาทุกปัญหาของประเทศชาติจะต้องได้รับการแก้ไข นี่คือการปรองดอง อย่าไปมองเรื่องนิรโทษกรรม ลดโทษ ยังไม่ถึงตรงนั้น ฟังดูก่อนว่าเขาเดินหน้าไปอย่างไร เวลานี้มีคณะกรรมการหลายคณะ”

นายกฯ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ว่า ขั้นตอนต่อไปเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากโปรดเกล้าฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ก็จะต้องทำเรื่องขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับลงมา เพื่อแก้ไขและนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป เรื่องนี้อย่าวิตกกังวลกันมาก เป็นการทำตามขั้นตอน