ด่วน! 'อ.วราพร' ตกจากชั้น2กะโหลกร้าว!

ด่วน! 'อ.วราพร' ตกจากชั้น2กะโหลกร้าว!

ด่วน! อ.วราพร ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตให้ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ตกจากชั้น 2 กระโหลกร้าว เข้าไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

เมื่อช่วงสายวันนี้ (16 ม.ค.) เพจเฟซบุ๊กเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ได้โพสต์แจ้งด่วนข้อความว่า "ด่วน.. อาจารย์วราพร สุรวดี ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ประสบอุบัติเหตุตกจากชั้น 2 กะโหลกศีรษะร้าว เมื่อหนึ่งทุ่มเศษ คืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้นำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน อาจารย์อาการหนักมาก จึงส่งต่อไปสถาบันประสาทฯ (เลยโรงพยาบาลรามาธิบดี 200 เมตร ตรงข้ามบ้านราชวิถี) ขณะนี้อยู่ที่ห้องไอซียู ศัลยกรรม ชั้น 3 อาคารรัชมงคล ท่านไม่รู้สึกตัวต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขอพวกเราช่วยส่งแรงใจด้วยครับ"

** เปิดให้เข้าเยี่ยม 3 ช่วงเวลา12.00-13.00, 15.30-16.00, 17.30-18.30

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 22 กรกฎาคม 2559 รศ.วราพร สุรวดี ได้ตกเป็นข่าวระดมทุนหาเงิน 10 ล้าน ซื้อที่ดินช่วยพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โดยซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเจ้าของที่ดินดังกล่าวมีแผนสร้างตึกสูง 8 ชั้น ซึ่งจะบดบังทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวลงอย่างสิ้นเชิง รวมถึงอาจส่งผลกับโครงสร้างของอาคารหลายหลัง อีกทั้งเป็นอาคารอนุรักษ์ ซึ่งก่อนหน้าเปิดขอรับบริจาค เคยทำจดหมายถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อร้องขอให้ซื้อที่ดินดังกล่าวแต่ไม่เป็นผล รศ.วราพร จึงติดต่อขอซื้อด้วยตนเอง ราคา 40 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนตัวมัดจำแล้ว 30 ล้านบาท ชำระส่วนที่เหลือ 10 ล้าน ภายใน 2 กันยายน 2559

จนกระทั่งโลกโซเชียลมีเดียได้รณรงค์ช่วยเหลือ รศ.วราพร จนวันที่ 2 สิงหาคม 2559 การระดมทุนสำเร็จได้เงินครบตามจำนวน โดย รศ.วราพร ได้นำเงินไปให้เจ้าของที่ดิน และกำหนดเป้าหมายว่าในส่วนที่ดินที่ซื้อมานั้น จัดทำสวนหย่อมสร้างพท้นที่สีเขียว พร้อมจัดทำที่จอดรถสำหรับพิพิธภัณฑ์บางกอกต่อไป

ทั้งนี้ หลัง รศ.วราพร รับมอบมรดกที่ดินและตัวบ้านย่านเจริญกรุงจากมารดา จึงปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เพื่อรักษาสถาปัตยกรรมและข้าวของเครื่องใช้อันล้ำค่าของชาวบางกอกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ โดยพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย ที่ดินตามโฉนด 2 แปลง รวม 1-0-6 ไร่ เป็นของตกทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ ต่อมาได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือ อาคารพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 หลัง อีกทั้งข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายในให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก 

สำหรับประวัติของ รศ.วราพร จบการศึกษาระดับปริญญาโท MAT. (Biology (Indiana University); Dip. In Marine Science (University of Oslo) อดีตอาจารย์ประจําภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประเมินผล

“พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 1 ใน 27 พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ก่อตั้งโดยเอกชน โดยเจ้าของบ้านมีวัตถุประสงค์ที่จะมอบบ้านของตนให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษา และต่อมาได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กรุงเทพมหานครดูแล โดยทำเลที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เป็นย่านพักอาศัยของชุมชนชาวบางรัก ซึ่งในอดีตเป็นย่านตากอากาศ ชุมชนนานาชาติ และทำเลธุรกิจที่สำคัญมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา 

เนื้อหาในการจัดแสดงจึงแสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาของชีวิตชาวบางกอก(กรุงเทพฯในยุคก่อน)และความเป็นมาของเขตบางรักที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมหลายชนชาติ ทั้งไทย จีน ฝรั่ง และแขก มีวิวัฒนาการและอิทธิพลจากตะวันตกต่อการปฏิรูปประเทศ สถานที่ต่างๆซึ่งเกี่ยวกับภูมิหลังของชุมชน เช่นกุศลสถานอาสนวิหารอัสสัมชัญ โบสถ์สืบสัมพันธวงศ์ โรงพยาบาลเลิดสิน วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร วัดพระศรีมหาอุมาเทวี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แฟลตแห่งแรกของไทย และสโมสรแห่งแรกในไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นย่านที่พำนักของบุคคลสำคัญ เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัยที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2(พ.ศ. 2480-2500) เจ้าของบ้านเดิมคือ รศ.วราพร สุรวดี ที่ได้รับบ้านและทรัพย์สินตกทอดมาจากมารดา คือ คุณสอาง สุรวดี (ตันบุณเต็ก)