(รายงาน) เผือกร้อน 'กทค.-กสทช.'

(รายงาน) เผือกร้อน 'กทค.-กสทช.'

(รายงาน) เผือกร้อน "กทค.-กสทช."

แม้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ใน กสทช. จะ "ปลดล็อค" ปัญหาการคิดค่าโทรตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีลงได้ หลังจากที่ประชุมบอร์ดกทค.เมื่อวันที่ 11 มกราคม มีมติให้เปลี่ยนแปลงมติบอร์ด กทค.เดิมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 59 ที่ระบุให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ทุกรายคิดค่าโทรเป็นวินาทีในทุกรายการส่งเสริมการขาย มาเป็นการแบ่งสัดส่วนการคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีและคงค่าบริการแบบเหมาจ่ายตามระบบเดิม ในสัดส่วน 50/50 ซึ่งถือเป็นการปลดล็อคพบกันครึ่งทางลงไปได้

แต่ในส่วนของการปิดบัญชีเงินรายได้นำส่งรัฐจากการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอดีตที่คาราคาซังมาเกือบกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 - 3 ธันวาคม 2558 วงเงินกว่า 14,868.83 ล้านบาทนั้น บอร์ดกทค.กลับยังคงไม่สามารถปิดบัญชีลงได้ และต้องวิ่งวุ่นหาเกราะกำบังให้กับตนเอง
ล่าสุด บอร์ดกทค. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ยังสร้างความคลางแคลงใจให้กับบริษัทสื่อสารหนักขึ้นไปอีก เมื่อมีมติให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส นำส่งเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในช่วงมาตรการเยียวยาหลังหมดสัญญาสัมปทาน ระหว่าง 1 ต.ค.58 - 30 มิ.ย.59 จำนวนเงินทั้งสิ้น 7,221 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งหากเอไอเอสไม่เห็นด้วยก็สามารถทำเรื่องอุทธรณ์ หรือใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองได้

แต่ในส่วนของรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHzของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัดหรือดีพีซี ที่กินเวลากว่า 2 ปีข้างต้นนั้น บอร์ด กทค. กลับมีมติให้สอบถามความเห็นเพิ่มเติมจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลัง จากนั้นให้คณะทำงานสรุปเสนอบอร์ด กทค.พิจารณาภายใน 30 วัน

งานนี้เล่นเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมแม้แต่คนใน กสทช.เองยัง “อึ้งกิมกี่” เพราะในขณะที่ บอร์ดกทค. เคาะโต๊ะชี้ขาดเม็ดเงินรายได้นำส่งรัฐของเอไอเอสในช่วงมาตรการเยียวยา 8 เดือนจาก 1 ตุลาคม 58- 30 มิถุนายน 59 จะต้องนำส่งรายได้ให้แก่รัฐรวมทั้งสิ้น 7,221 ล้านบาท แต่กลับเงินรายได้นำส่งรัฐของบริษัท ทรูมูฟ ก่อนหน้าที่มีการเยียวยากินเวลาร่วม 2 ปีนั้น กทค.กลับโยนเผือกร้อนไปให้กระทรวงการคลังและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาร่วมรับผิดชอบให้ตนเองเสียอีก

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขรายได้นำส่งรัฐจากการใช้คลื่น 900 MHzในช่วงมาตรการเยียวยาที่บอร์ดกทค.สั่งให้เอไอเอสจ่ายเข้ารัฐ (รวมค่าใช้คลื่นของทีโอที) จำนวน 7,221 ล้านบาทนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้นำส่งรัฐจากการใช้คลื่น 1800 MHz ที่เป็นปมปัญหาที่ทำให้บอร์ดกทค.ไม่สามารถชี้ขาดได้

เพราะตัวเลขที่คณะทำงานติดตามตรวจสอบเงินรายได้นำส่งรัฐที่ กทค.และกสทช.แต่งตั้งขึ้นสรุปตัวเลขรายได้นำส่งรัฐ ในช่วงมาตรการเยียวยาที่กินเวลาร่วม 2 ปีจาก 16 กันยายน 56 - 3 ธันวาคม 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 14,868.83 ล้านบาท แยกเป็นของทรูมูฟ 13,989 ล้านบาทและดีพีซี 879.59ล้าน แต่หลังจากกทค.มีคำสั่งไปยังบริษัทเอกชนให้จ่ายเงินเข้ารัฐตามตัวเลขดังกล่าว ก็ถูกโต้แย้งว่าสูงเกินจริง ก่อนที่วันดีคืนดีสำนักงานกสทช.จะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองรายได้นำส่งรัฐขึ้นมาภายใน และคำนวณรายได้ใหม่ที่ออกมาต่ำติดดินเพียง 3,967.81ล้านบาทเท่านั้น

ท่ามกลางความงวยงงของหลายๆ ฝ่าย ทำไมตัวเลขรายได้ที่ว่ามันถึงลดฮวบแตกต่างกันเป็น 10,000 ล้านบาทได้ ยิ่งหากดูวิธีการทำงานของคณะทำงานกสทช.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองและทบทวนรายได้จะเห็นว่า ขณะที่คณะทำงานสามารถคำนวณเงินรายได้นำส่งรัฐในส่วนของบริษัทดีพีซี ที่มีฐานลูกค้าไม่ถึง 1 ล้านเลขหมายออกมาใกล้เคียงกับคณะทำงานตรวจสอบรายได้ที่กทค.ตั้งขึ้นคือ 879 ล้านบาท แต่ในส่วนของรายได้ที่ทรูมูฟจะต้องจ่ายเข้ารัฐกลับคำนวณออกมาได้เพียง 3,900 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่ฐานลูกค้าสูงถึง 17 ล้านเลขหมาย

ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับรายได้นำส่งรัฐในช่วงมาตรการเยียวยาของคลื่น 900 MHz ที่กินเวลาเพียงแค่ 8 เดือน แต่กลับมียอดสูงถึง 7,221 ล้านบาทด้วยแล้วก็ยิ่งเห็นถึงความผิดปกติ ทำไมรายได้จากการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่กินเวลากว่า 2 ปีกลับมียอดต่ำเพียง 3,900 ล้านบาทเศษเท่านั้น ทั้งที่ฐานลูกค้าในช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกันคือ 17-18 ล้านเลขหมาย???

สิ่งที่สำนักงาน กสทช.คงต้องตอบคำถามสังคมก็คือ การที่สำนักงาน กสทช.ไปตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาในภายหลัง ก่อนสรุปตัวเลขออกมาย้อนแย้งกับที่คณะทำงานตรวจสอบรายได้นำส่งรัฐที่บอร์ดกทค.และสำนักงาน กสทช.แต่งตั้งขึ้นมาเองกับมือเองนั้น เป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือ?

จึงไม่แปลกใจที่เหตุใดกรณีปิดบัญชีตัวเลขรายได้จากการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 1800 MHz มันถึงได้คาราคาซังปิดบัญชีไม่ลงมาจะ 2 ปีเข้าไปแล้ว และไม่แปลกใจที่เหตุใดบอร์ดกทค.ถึงได้เอาแต่เล่นเอาเถิดด้วยการโยน “เผือกร้อน” ไปให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลังมาช่วยหาทางออกให้ ทั้งที่ 2 หน่วยงานที่ว่าไม่ได้เข้ามารับรู้กระบวนการที่ กทค.- กสทช.ดำเนินการกันไปแม้แต่น้อย!