ผู้บริหาร 'เบอร์ลี่ยุคเกอร์' ขายหุ้น

ผู้บริหาร 'เบอร์ลี่ยุคเกอร์' ขายหุ้น

ผู้บริหารเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ขายหุ้นรวมกันกว่า "7 หมื่นหุ้น" ในวันที่หุ้นเพิ่มทุนเข้าเทรดวันแรก ด้านโบรกระบุ "เหมาะถือยาว"

ผู้บริหารเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ขายหุ้นรวมกันกว่า 7 หมื่นหุ้นในราคาสูงสุดของวัน โดยทำรายการวันที่หุ้นเพิ่มทุน 566,800 หุ้นเข้าเทรดวันแรก ด้านโบรกระบุเหมาะกับการลงทุนระยะยาว มองกำไรเติบโตได้จากการบูรณาการ 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่ข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) พบว่า ผู้บริหารบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) BJC รายงานการขายหุ้น ประกอบด้วย นายธีระพล เกียรติสุรนนท์ ทำรายการขายวันที่ 10 ม.ค. 25560 จำนวน 39,600 หุ้น ราคา 49.00 บาทต่อหุ้น, และทำรายการขายวันที่ 11 ม.ค. 2560  จำนวน 10,400 หุ้น ราคาขาย 49.00  บาทต่อหุ้น และนายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ทำรายการขายวันที่ 10 ม.ค. 2560 จำนวน 20,000 หุ้น ราคาขาย 49.00 บาทต่อหุ้น

ราคาเคลื่อนไหวหุ้นวันที่ 10 ม.ค. หุ้นบีเจซี ปิดการซื้อขายที่ 47.50 บาท ระหว่างวันแตะราคาสูงสุดที่ 49 บาท และวันที่ 11 บาท ปิดการซื้อขายที่ 48.25 บาท ราคาสูงสุดอยู่ที่ 49.25 บาท

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เข้าซื้อขายวันที่ 10 ม.ค. 2560 เป็นวันแรก จำนวน 566,800 หุ้น ส่งผลให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนใหม่ 3,990.09 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 3,990.09 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น 1 บาท

นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า หุ้นเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตในภูมิภาคที่น่าสนใจและชัดเจน โอกาสที่จะปรับประมาณการต่อเนื่องมีค่อนข้างมาก เนื่องจากเรายังไม่ได้รวมการขยายตัวของ BIGC ในประเทศลาวและกัมพูชา, โอกาสในการซื้อ MM Mega Market ในประเทศเวียดนามจากกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่นหรือ TCC และการก่อตั้งบริษัทอาหารเพื่อป้อนอาหารพร้อมรับประทานให้แก่ร้านสะดวกซื้อในเครือ

โดยเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีแผนที่จะใช้แบรนด์ BigC ในการสร้างอาณาจักรค้าปลีกในภูมิภาค โดย BIGC ได้เข้าซื้อ MM Mega Market 2 แห่ง ในประเทศไทยจาก TCC (บริหารโดย BJC) และเปลี่ยนชื่อเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ส่วน M-Point ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศลาวอาจจะเปลี่ยนชื่อเป็น Mini BigC ในขณะที่สาขา BigC แห่งแรกในประเทศกัมพูชาน่าจะเปิดให้บริการในปี 2561 

ศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย, กัมพูชา, ลาวและเวียดนามอาจปูทางสู่การเป็นหนึ่งในค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จำนวนสาขาของ B's Mart มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 160 สาขาในสิ้นปี 2559 จาก 121 สาขาเมื่อสิ้นปี 2558 และอัตราการขยายสาขาน่าจะอยู่ที่ 40-50 สาขาต่อ 1 ปี ส่วน MM Mega Market ในเวียดนามอาจเริ่มกลับมาทำกำไรได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้ BJC ใช้สิทธิซื้อธุรกิจจาก TCC ที่ราคาทุนบวกค่าใช้จ่ายในการถือครอง นอกจากนี้บริษัทมีแผนเปิด บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศกัมพูชาในปี 2562 และในประเทศลาวหลังจากนั้น สำหรับในประเทศไทยบริษัทเน้นการขยายร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยมีแผนที่จะเร่งขยาย มินิ บิ๊กซี จาก 75 สาขาในปี 2559 เป็น 200 สาขาในปี 2560

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าตื่นเต้น คือการสร้างธุรกิจที่มีความต่อเนื่องไปยังต้นน้ำซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว นอกจากการผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ให้ BIGC แล้ว BJC อยู่ระหว่างการก่อตั้งบริษัทผลิตอาหารเพื่อป้อนอาหารพร้อมรับประทานให้แก่ร้านสะดวกซื้อในเครือ ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างบริษัทผลิตอาหารนี้ยังไม่ได้รวมเข้าไปในประมาณการผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการควบรวมกิจการกับ BIGC มูลค่า 1.7 พันล้านบาท