ดีเดย์มี.ค.สแกนลายนิ้ว ผู้ใช้มือถือทั่วประเทศ

ดีเดย์มี.ค.สแกนลายนิ้ว ผู้ใช้มือถือทั่วประเทศ

“ฐากร” เผยเดือนมี.ค.นี้ ประกาศใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือผู้ใช้มือถือหลังเซ็นสัญญาจ้างม.เกษตรศาสตร์ 15 ล้าน พัฒนาระบบซอฟต์แวร์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 กสทช. ได้เซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) พัฒนาระบบยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือด้วยการสแกนลายนิ้วมือ มูลค่า 15 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นสถาบันเดิมที่พัฒนาระบบการลงทะเบียนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้ต่อยอดการพัฒนาระบบสแกนลายนิ้วมือได้เร็วขึ้น คาดว่าภายในเดือน ก.พ.2560 จะพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เสร็จ จากนั้นภายในเดือนมี.ค. จะออกประกาศให้ประชาชนใช้ระบบดังกล่าวได้ผ่านศูนย์บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์)


สำหรับเครื่องสแกนลายนิ้วมือ โอเปอเรเตอร์ รวมถึงเอ็มวีเอ็นโอทุกรายต้องจัดซื้ออุปกรณ์มาให้บริการกับประชาชน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าราคาเรื่องสแกนลายนิ้วมือราคาอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

แต่สำนักงาน กสทช. จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณา ลดการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ในส่วนการจัดเก็บเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนยูเอสโอ) จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในอัตรา 3.75% จากรายได้รวมต่อปี

“หากโอเปอเรเตอร์ไม่ปฎิบัติตามที่ กสทช. ประกาศ โอเปอเรเตอร์จะมีความผิด อาจถูกยึดใบอนุญาตได้ ขณะที่เอ็มวีเอ็นโอหากจะมาขอเลขหมายเพิ่ม และ กสทช.พบว่ามีลูกค้าที่ไม่ลงทะเบียน ก็จะไม่ขอเพิ่มไม่ได้ เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม กสทช. เห็นว่าการลงทะเบียนด้วยระบบลายนิ้วมือเป็นการยืนยันตัวบุคคลได้อย่างชัดเจนมากกว่าการถ่ายสำเนา หรือรูปบัตรประชาชน รวมถึงเพื่อรองรับการใช้งานด้านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบายเพย์เม้นต์) ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น

การลงทะเบียนด้วยการสแกนลายนิ้วมือ ทาง กสทช. จะบังคับให้ดำเนินการเฉพาะการเปิดซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งานโมบาย เพย์เม้นต์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 14 ล้านเลขหมาย จาก 110 เลขหมาย ในตลาด ทาง กสทช. จะไม่บังคับ แต่กลุ่มดังกล่าว คือกลุ่มเป้าหมายที่ กสทช. ต้องการโน้มน้าวให้มาลงเบียนเพิ่มเติมด้วยการสแกนลายนิ้วมือมากที่สุด

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตกลงและเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเพื่อดูแลให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งว่าจะได้รับการดูแลอย่างรัดกุม โดยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์มือถือเท่านั้น และไม่ปรากฏชื่อของผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ใช้บริการแล้ว ทำให้ในกรณีที่มีเปลี่ยนแปลงหมายเลขดังกล่าว ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะแจ้งไปยังสถาบันการเงิน สถาบันการเงินจะรับทราบและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด