ขอเวลา 2 ปี เนรมิต NEW IRPC

 ขอเวลา 2 ปี เนรมิต NEW IRPC

ไม่เกิน 2 ปี องค์กรจะพลิกโฉมใหม่ 'สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' เอ็มดีใหญ่แห่ง 'ไออาร์พีซี' เปล่งเสียงหนักแน่น หนึ่งงานเร่งด่วนสยายปีกโตนอกบ้านครั้งแรก

ฐานะการเงินผันผวนตามราคาน้ำมันดิบ บวกต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าคู่แข่ง หลังขีด ความสามารถในการแข่งขันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ บมจ.ไออาร์ซีพี หรือ IRPC ตกอยู่ในสถานภาพ 'ลูกเป็ดขี้เหร่'

เมื่อเทียบกับฐานะการเงินของบริษัทในเครือปตท. (บมจ.ปตท.หรือ PTT ถือหุ้น IRPC สัดส่วน 38.51% ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน วันที่ 24 ก.พ.2559) แม้ที่ผ่านมาจะสามารถปลดแอกศึกชิง IRPC กับ 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' ได้แล้วก็ตาม

ทว่าเมื่อจุดตำหนิเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงาน ผ่าน โครงการฟีนิกซ์ (เริ่มลงทุนโครงการสมัย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่) และ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด หรือ Delta ส่งผลให้บริษัทสามารถพลิกจากขาดทุน 5,234 ล้านบาท ในปี 2557 เป็นกำไรสุทธิ 9,401 ล้านบาท ในปี 2558 และ 8,026 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนปี 2559

หากพิจารณาจากผลการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาคงจะเอ่ยได้ว่า ความรุ่งเรืองของ IRPC อาจไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ เพราะโครงการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน เรียกสั้นๆ ว่า Delta จะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มตัวในปี 2560 หลังโครงการแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2559 ขณะที่ โครงการ EVEREST จะเข้ามาเสริมทัพเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นไป

'เมื่อโครงการ EVEREST แล้วเสร็จ องค์กรแห่งนี้จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และทุกคนจะเห็น NEW IRPC ภายในปี 2561' 'สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี ยืนยันเช่นนั้นกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' 

ไออาร์พีซี เริ่มมองการเติบโตออกเป็น 2 ทาง คือ 1.โตในบ้าน และ 2.โตนอกบ้าน ในส่วนของการออกไปทำงานในต่างประเทศ คงไม่ออกไปลงทุนเพียงคนเดียว เพราะการลงทุนโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมีหนึ่งแห่งใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงเฉลี่ยหลักหมื่นล้านเหรียญ ฉะนั้นต้องไปกับผู้ถือหุ้นใหญ่ (บมจ.ปตท.) หรือบริษัทในเครือของปตท.

หากไม่มีอะไรผิดพลาดอาจเห็นบริษัทออกไปลงทุน 'โรงกลั่นและปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์' มูลค่าการลงทุน 10,000-12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจังหวัดบินดินห์ ประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรก หลังปตท.มอบหมายให้บริษัทศึกษาการลงทุนมานานหลายปี

แต่โครงการมีความล่าช้า เพราะต้องค้นหาทำเลและเพื่อนใหม่ที่ดีที่สุด หลังทางการเวียดนามนำพื้นที่เดิมไปพัฒนาเป็นรีสอร์ทรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่พันธมิตรรายเก่า 'ซาอุดิ อารัมโก' บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกถอนตัวออกไป

ทำไมเลือกปักหมุดประเทศนี้ก่อนเพื่อน เขา ตอบว่า ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า เวียดนามยังสามารถเติบโตได้อีกมาก สะท้อนผ่านการบริโภคน้ำมันและปิโตรเคมีที่ยังอยู่ใน ระดับต่ำ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ 90 ล้านคน สูงกว่าไทยที่มีประชากรเพียง 70 ล้านคน ฉะนั้นโอกาสจะเห็นการบริโภคปิโตรเคมีมากขึ้นในอนาคตไม่ใช่เรื่องยาก

ขณะเดียวกันการเข้าลงทุนในเวียดนามครั้งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ทางหนึ่ง ที่สำคัญเวียดนามยังมีต้นทุนค่าแรงถูกกว่าเมืองไทยค่อนข้างมาก

'เวียดนามมีตัวเลขจีดีพีขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6-7% ส่วนเมืองไทยเติบโต 3% ฉะนั้นความต้องการใช้ปิโตรเคมีและน้ำมันยังมีอีกมาก เวียดนามมีลักษณะคล้ายเมืองไทยเมื่อ 20-30 ปีก่อน'

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกว่า วิธีการเติบโตภายในประเทศ ไออาร์พีซี มีแผนจะเพิ่มไลน์ผลิตใหม่ เพื่อดันยอดขายให้มากกว่าปัจจุบันที่ทำได้ในระดับ 50% แต่จะไต่ขึ้นไปสู่ระดับใดในอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้

อธิบายได้เพียงว่า อาจดึง 'โครงการลงทุนพาราไซลีน (PX)' กำลังการผลิตเฉลี่ย 1.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นโครงการที่เคยศึกษาร่วมกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC และ บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP กลับมาดำเนินการเอง

หลังผลการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เพราะราคาพาราไซลีนปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก แต่ในอนาคตราคามีโอกาสดีดกลับ ทว่าแผนงานนี้ขึ้นอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า การลงทุนในเวียดนามไม่เกิดขึ้น

เบื้องต้นไออาร์พีซี อาจทำการลดไซด์โครงการลงเหลือ 9 แสนตันต่อปี มูลค่าลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท การเพิ่มไลน์การผลิตใหม่ด้วยวิธีนี้ ถือเป็นทางเลือกที่ดีในการมีรายได้ในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยบริษัทก็มีวัตถุดิบตั้งต้นมาทำพาราไซลีน ฉะนั้นโอกาสจะเห็นผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 13% ไม่ใช่เรื่องยาก

'เราจะศึกษาโครงการในและนอกบ้านควบคู่กันไป การลงทุนแหล่งใดเหมาะสมที่สุดจะทำเรื่องนั้นก่อน'

เขา ย้ำว่า บริษัทยังมีโครงการที่ศึกษาร่วมกับกลุ่ม ปตท.เมื่อ 2-3 ปีก่อน นั่นคือ 1.โครงการอะคริลิกแอซิค (AA; Acrylic Acids) กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี และ 2.โครงการซุปเปอร์แอฟซอฟท์แบนท์ โพลิเมอร์ (SAP; Super Absorbent Polymer) กำลังการผลิต 80,000 ตันต่อปี

หากไม่มีอะไรผิดพลาดอาจเห็นการลงทุนสองโครงการนี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 13-14%

'ถ้าต้องการขยายไซด์ธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นต้องออกไปลงทุนนอกบ้าน แต่หากต้องการมีรายได้ในบ้านมากขึ้นต้องเพิ่มประสิทธิการผลิต เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น เพราะเราไม่สามารถขยายการผลิตในโรงงานเดิมได้แล้ว' 

เมื่อถามถึงทิศทางผลประกอบการในปี 2560 นายใหญ่ ตอบว่า กำไรสุทธิมีโอกาสขยายตัวมากกว่าปี 2559 หลังได้รับผลบวกจากโครงการ Upstream Project for Hygiene and Value Added Products หรือ UHV ที่จะสามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มประสิทธิภาพตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2560 จากปัจจุบันที่มีอัตรากำลังการผลิต 80%

ขณะเดียวกันยังได้รับประโยชน์ จากโครงการขยายกำลังผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) ประมาณ 3 แสนตันต่อปี หลังโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2560 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในงวดไตรมาส 3 ปี 2560 แม้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 จะมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น 1 เดือนก็ตาม

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 ในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นมีทิศทางดีขึ้น หลังค่าการกลั่น หรือ GIM อยู่ในระดับ 13 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าการกลั่น 12.5 เหรียญต่อบาร์เรล หลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ผ่านมา 9 เดือนบริษัทมีรายได้รวมแล้ว 133,816 ล้านบาท

'ปี 2560 อาจใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการขยายกำลังผลิต PP จำนวน 7,000 ล้านบาท และงบดำเนินงานปกติ (Capital expenditure: CAPEX) จำนวน 3,000 ล้านบาท'

'เอ็มดีใหญ่' ปิดท้ายบทสนทนาว่า หากสามารถปิดดีลได้ทุกโครงการ ไออาร์พีซีอาจมี “กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA” ขึ้นสู่ระดับ 29,029 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงเท่า 'ยอดเขาเอเวอเรสต์' ตัวเลขนี้จะทำให้ขึ้นแท่น 'บริษัทปิโตรเคมีชั้นนำของเอเชีย' ภายในปี 2563

'พนักงานทุกคนมีหน้าที่สร้างองค์กรแห่งนี้ให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน' กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยืนยันเช่นนั้น
 
ส่องทิศทาง 'ปิโตรเคมี-โรงกลั่น' 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี วิเคราระห์ทิศทาง "ธุรกิจปิโตรเคมี" ตลอดปี 2560 ว่า หากพิจารณาภาพรวมยังดูไม่ดีเท่าไหร่นัก หลังราคาน้ำมันดิบอาจปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ ระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรล ฉะนั้นจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบขยับสูงขึ้น และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) อาจอ่อนตัว

'น้ำมันขยับขึ้นจากปีก่อนแน่นอน หลังกลุ่มประเทศเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกนอกกลุ่มโอเปก (นอน-โอเปก) สามารถตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันได้' 

สำหรับทิศทาง 'ธุรกิจโรงกลั่น' ในปี 2560 แนวโน้มดีขึ้นกว่าปีก่อน เนื่องจากไม่มีกำลังการผลิตใหม่เติมเข้ามา ฉะนั้นมาร์จิ้นโรงกลั่นคงปรับตัวดีขึ้น แต่ในระยะยาวธุรกิจโรงกลั่นยังมี 'ความเสี่ยง' เพราะในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะ รถยนต์ไฟฟ้า

ส่วนตัวมองว่า ธุรกิจโรงกลั่นในอนาคตมีโอกาสน้อยมากที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ทำได้เพียงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการสร้างผลกำไร

'ในอนาคตธุรกิจปิโตรเคมีจะรุ่งกว่าโรงกลั่น เพราะความต้องการใช้ปิโตรเคมีจะเติบโตตามตัวเลขจีดีพีของประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลัง'