ข้างหลังแข้ง

ข้างหลังแข้ง

มองมุมไหนเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ “แดง” กับ “น้ำเงิน” แน่ๆ

ไม่ได้จบที่ชนะ-แพ้… หรือเอาแค่เสียงเฮจากกองเชียร์ ยามนักมวยบนเวทีบรรเลงเพลงแข้งใส่คู่ชก

ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ นักมวยไทยรุ่นเด็กที่ต่อยกันอย่างเอาจริงเอาจัง สะท้อนคำถามที่ยังไร้ทางออกได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องสุขภาพเด็ก ค่านิยมของพ่อแม่ กระทั่งความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

“มันคือความรุนแรงที่ถูกยัดเยียดให้กับเด็ก ใช้เด็กเป็นแรงงานในธุรกิจสีเทา” หลายคนเชื่ออย่างนั้น รวมไปถึงสื่อต่างชาติที่เคยรายงานเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อน

ขณะเดียวกันยังมีไม่น้อยเลือกมองมุมที่ว่า หากเด็กชายตัวเล็กๆ มีเส้นทางที่ดีกว่านี้ เขาจะยอมเจ็บตัวหรือ

“เด็กต้องหาเงินส่งเสียตัวเองเรียน หากไม่ให้เขาต่อยมวย แล้วจะให้ทำอะไร?” 

 

มวยเด็กไปไหน

บ่ายวันทำงานส่งท้ายปี ที่ห้องสมาคมมวยอาชีพแห่งประเทศไทย อนันต์ ชาญกล้า เลขาธิการสมาคม วัย 75 ปี ยังคงทำงานไม่ต่างกับวันอื่น นอกจากท่าทางคล่องแคล่วผ่านการทักทายแล้ว เขารีบวางแฟ้มเอกสารข่าวที่ถูกตัดจากหนังสือพิมพ์-นิตยสารมวยต้อนรับผู้มาเยือน

“ดาวรุ่งภูธร-มวยมันส์งานฤดูหนาว--เทียบฟอร์มชิงแชมป์ชมรมมวย” เรากวาดสายตารอบๆ ชื่อคอลัมน์ในเอกสารข่าวตรงหน้า พร้อมๆ กับพิจารณารูปถ่ายนักมวยในคราวเดียวกัน ทั้งภูมิลำเนา ประวัติการชก ร่วมด้วยปี พ.ศ.เกิด ซึ่งหักลบแล้วเกือบทั้งหมดอายุไม่ถึง 15 ปีด้วยซ้ำ

“กฎหมายบอกให้นักมวยที่ขึ้นชกอาชีพต้องอายุ 15 ปีบริบูรณ์ใช่ไหม แต่ในความเป็นจริงมันชกก่อนหน้านั้นแล้ว ผมเองเข้ากรุงเทพฯ ตอนอายุ14-15 ปี แต่ก็เริ่มฝึกมวยตั้งแต่ยังเด็ก ขึ้นชกครั้งแรกก็งานประจำฤดูที่ จ.แพร่ ตอนอายุ 12 ปี” ลุงอนันต์เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวเอง

กว่าจะมาเป็น “อนันต์ศักดิ์ รฟท.” อดีตแชมป์มวยไทยหลายเวที ได้มีงานทำเช่นทุกวันนี้ เขาย้ำว่ามีการชกมวยนี่แหละเป็นใบเบิกทาง แม้กระทั่งชื่อท้าย รฟท.ก็มาจากค่ายผู้สนับสนุนอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ให้ตำแหน่งเสมียนธุรการตอบแทนหลังการชกในสังกัดมานาน

“สำหรับเด็กบ้านนอก ตอนนั้นผมไม่เห็นทางอื่นนอกจากชกมวย ผมเองก็ชอบด้วย เลยขอเขาไปฝึก พยายามไปหาครูมวยที่เขามีฝีมือ พอชกจนชนะทั้งจังหวัดหมดแล้ว ก็คิดเลยว่าต้องหาทางเข้ามาชกในกรุงเทพฯให้ได้”

“สมัยนี้ก็ไม่ต่างกันหรอก เชื่อเถอะไม่มีใครอยากเจ็บตัวโดยที่ไม่มีเป้าหมาย พ่อแม่เองก็ไม่ได้บังคับลูก แต่เด็กที่เข้ามาชกเพราะเขาชอบ เขาอยากเป็นนักมวย อยากเป็นเหมือนบัวขาว อยากเป็นเหมือนสมรักษ์ อยากมีชื่อเสียง มันเป็นทางที่จะพาเขาประสบความสำเร็จได้ ถ้ามีงานเทศกาล มีงานประจำปี เขาจะขอชกเองเลย เพราะเขาอยากให้คนมาเห็น อยากให้คนชวนไปซ้อมในค่าย แล้วไปชกที่กรุงเทพ”

มันจึงไม่แปลกหรอกที่ค่ายมวยใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ จะมีค่ายมวยเครือข่ายในต่างจังหวัด มีแมวมองคอยหาคนมีแววป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตนักมวย นำเด็กเหล่านั้นมาซ้อมบ่มเพาะให้เป็นนักกีฬามีชื่อเสียง ขณะที่กระบวนการที่ว่านี้ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก อาจเริ่มจากการที่ผู้ปกครองพาเด็กเข้าค่ายขอฝากตัวเป็นศิษย์ พอมีฝีมือแล้วก็อาจจะทำข้อตกลงซื้อ-ขายกันเหมือนนักกีฬาทั่วๆ ไป

จากนั้นหากมีการย้ายค่ายกันจริงๆ ค่ายในกรุงเทพฯต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับค่ายที่เอามาปั้นในตอนแรกเพื่อเอามาปันส่วนกับผู้ปกครองตามข้อตกลง ส่วนตัวนักมวยเองเมื่อก้าวเข้าสู่เมืองหลวงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการผจญภัยบทใหญ่ของชีวิตเริ่มต้นขึ้น ได้ทั้งเรียนหนังสือ ซ้อมมวย เจอคนเก่งๆ แถมบางค่ายถ้ามีคนมีเงิน มีนักมวยฝรั่งมาขอร่วมฝึกก็อาจได้ทั้งเพื่อนใหม่และค่าขนมไปด้วยในตัว

“คนรวยที่ไหนครับจะมาชกมวย มีหรือที่อยากเจ็บตัว ผมว่านักมวยไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เหมือนกันคือเพราะเขารักมัน และเขาเลือกแล้ว มวยก็เลือกเขาเหมือนกัน มันเป็นวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจริงและอยู่กับสังคมไทยมานาน ถ้าจะมีใครแนะนำว่าให้เลิกเอาเด็กมาต่อยมวย ก็ต้องถามว่าแล้วจะให้เขาทำอะไร” เลขาธิการสมาคมนักมวย ที่คลุกคลีกับวงการมวยไทยมาค่อนชีวิตบอก

 

ความเสี่ยงของนักชก

โครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กโรงพยาบาลรามาธิบดี เคยเปิดผลการวิจัยว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีซึ่งใช้กติกาไม่ต่างกับมวยไทยอาชีพถือเป็นความรุนแรง

เหตุเพราะสมองที่ถูกชกที่ศีรษะโดยตรง รวมไปถึงกรณีศีรษะถูกสะบัดและหมุนด้วยแรงเหวี่ยงกะทันหันระหว่างชกจะสร้างบาดแผลให้กับเนื้อสมองโดยตรง เสี่ยงต่อเลือดที่ออกในเนื้อสมอง เกิดการยืดหรือขาดของเส้นประสาท

ดร.นพ.วิทยา สังขรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้วิจัยย้ำอีกครั้งในงานเสวนา “นักมวยเด็ก…ความขัดแย้งของสุขภาพกับกีฬา วัฒนธรรม และความยุติธรรมของสังคม” ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2559 ว่า เมื่อศึกษาเปรียบเทียบด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) กับสมองของเด็กที่ชกมวย 323 คน กับเด็กทั่วไปซึ่งมีสถานะการเงินทางบ้านและสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกันจำนวน 253 คน แล้วพบว่าเด็กทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างทางสมองอย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลักคือ 1. เด็กที่เป็นนักมวยจะมีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง มากกว่าเด็กปกติ 2. เซลล์สมองและใยประสาทของนักมวยเด็กจะฉีกขาด ถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ 3. การทำงานของสมองด้านความทรงจำลดลงนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญา หรือภาวะสมองเสื่อมได้ 4. จากการวิจัยพบว่าระดับสติปัญญา (ไอคิว) ของเด็กที่ชกมวยมากกว่า 5 ปีจะลดต่ำลง โดยอยู่ที่ระดับ 84 คะแนน ต่ำกว่าเด็กไทยทั่วไป ซึ่งจะอยู่ที่ระดับ 90-110 คะแนน

“ถ้าลองเทียบระดับไอคิวเป็นความสามารถในการเรียน จะพบว่าคะแนนช่วง 90-110 ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ ส่วนไอคิวที่มีคะแนนระดับ 80-89 จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น และนักมวยเด็กส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ นี่คือกลกระทบหนึ่งที่จะส่งผลต่อการศึกษาและอนาคตของเด็ก เมื่อสมองบอบช้ำและไม่ได้อยู่ในวงการมวย เขาจะใช้ชีวิตในสังคมได้ยากกว่าคนปกติ” ดร.นพ.วิทยา ขยายความ

มันจึงเป็นความกังวลและคำถามถึงนักมวยตัวเล็กๆ ที่อยู่ในสังเวียนว่า หากเด็กเหล่านี้ไม่ได้ถึงฝั่งฝันของการเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะสมองต้องสะสมความบอบช้ำ ไอคิวต่ำกว่าคนทั่วไป พร้อมๆ กับเกิดความเสี่ยงจากโรคทางระบบทางประสาทอื่นๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เบื้องหลังของนักมวยตัวเล็กๆ จึงถูกซ่อนด้วยความเสี่ยงสุขภาพของตัวเด็กเอง และประเทศชาติในฐานะเจ้าของทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาในอนาคต

 

หลักการ-เรื่องจริง สิ่งที่สวนทาง

ชัดเจนว่าข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติกีฬามวย 2542 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก 2546 ระบุการชกมวยอาชีพของเด็กต่ำกว่า 15 ปีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

“ห้ามไม่ให้จ้าง บังคับ ขู่เข็ญ ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก” ส่วนหนึ่งของมาตรา 26 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ระบุ

ขณะที่ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ฯ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ย้ำถึงทางออกว่า ทีมวิจัยไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกการชกมวยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี แต่เพียงต้องการเสนอให้มีกติกาที่สอดคล้องกับความปลอดภัยของเด็ก ได้แก่ 1.นักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องเป็นเพียงวัฒนธรรมและกีฬาสมัครเล่นโดยมีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุ ไม่ใช่เป็นอาชีพ

2.ต้องมีการกำหนดเกณฑ์อายุและกติกาที่สอดคล้องกัน เช่น หากนักมวยอายุต่ำกว่า 9 ปี ให้แค่รำมวย แสดงท่าทางอันหลากหลายของแม่ไม้มวยไทย อายุ 9-12 ปี จะแข่งแบบปะทะได้ แต่ห้ามชกศีรษะ อายุ 13-15 ปี แข่งแบบปะทะได้ มุ่งเป้าศีรษะได้ แต่ต้องชกแบบเน้นเข้าเป้า ให้คะแนนจากความแม่นยำ 3.จำกัดเวลาชกโดยในการแข่งขันกีฬาให้กำหนดชก กำหนดช่วงพักระหว่างการชกแต่ละครั้ง หากมีการบาดเจ็บสมองต้องพักนานขึ้น ทั้งนี้ข้อเสนอสามารถเกิดขึ้นจริงได้ โดยการแก้ไขกฎหมายพรบ.กีฬามวย ให้สอดคล้องกับพรบ.คุ้มครองเด็กและอนุสนธิสัญญาสิทธิเด็ก เวลาเดียวกับที่ค่านิยมของการชกเพื่อทดแทนบุญคุณของผู้ใหญ่ต้องยุติลงไปด้วย

แต่ถึงเช่นนั้นก็เถอะในวงการมวย ใครๆ ก็รู้ว่าหลักฐานทางด้านสุขภาพและความเป็นจริงคือสิ่งที่ตรงกันข้าม ค่ายมวยใหญ่ๆ ยังพยายามมองหาเด็กชายแววดีมาขัดเกลาฝีมือ ส่งผลให้จำนวนนักมวยอายุต่ำกว่า 15 ปีทั้งที่ลงและไม่ได้ลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยมีจำนวนมาก ทั้งนี้คาดการณ์ว่านักมวยไทยที่อายุต่ำกว่า 15 มีมากถึงแสนคนในทั่วประเทศ ขณะที่การเก็บสถิติความเสี่ยงจากการถูกชกบริเวณศีรษะของการชก 1 คู่ อยู่ที่จำนวน 40-50 หมัดต่อการชก 1 ยก

“ถ้าลองไปเปิดหนังสือพิมพ์-นิตยสารมวยดู คุณจะเห็นประวัติการชกของมวยดาวรุ่งแต่ละคนที่ไม่ธรรมดาทั้งนั้น หรือไม่ก็ลองไปดูค่ายมวยใกล้ๆ บ้าน ผมเชื่อว่าคุณต้องเห็นเด็กๆ จากต่างจังหวัดที่เข้ามาฝึกมวย อย่างน้อยๆ ก็สัก 1 คน ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องพบกับความเสี่ยงอะไรบ้าง แต่ทุกคนก็มั่นใจว่าตัวเองมีฝีมือผ่านมันไปได้ เขาคิดว่าเขาพร้อมจะแลกมันมา ถ้ามีการแก้กฎหมายเรื่องอายุนักมวย ผมเชื่อว่าเขาจะออกมาประท้วงด้วยซ้ำ” ผู้เฝ้าสังเกตการณ์วงการมวยเด็กคนหนึ่งประเมินความเป็นไป

การต่อสู้ของเด็กตัวเล็กๆ บนสังเวียนผ้าใบ จึงสะท้อนภาพใหญ่ที่ถูกซ่อนไว้ด้านหลังอันเต็มไปด้วยคำถาม