บิ๊กโปรเจคท์ของ 'ฟีฟ่า' เวิลด์คัพฉบับ48ทีม

บิ๊กโปรเจคท์ของ 'ฟีฟ่า' เวิลด์คัพฉบับ48ทีม

ไม่มีอะไรพลิกโผ เมื่อที่ประชุมสภาสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มีมติเพิ่มทีมในรอบสุดท้าย

ฟุตบอลโลกจาก 32 เป็น 48 ทีม นับจากปี 2026 เป็นต้นไป แม้จะมีเสียงทัดทานจากบางกลุ่มที่เห็นว่าจะทำให้เสน่ห์ของทัวร์นาเมนท์อันดับหนึ่งของโลกลดทอนลง

“เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 กันแล้ว ผมต้องการปรับโฉมฟุตบอลโลกให้รับกับยุคใหม่”  จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบัน กล่าวในที่ประชุม “ฟุตบอลไม่ใช่ของยุโรปหรืออเมริกาใต้ กีฬานี้เป็นของคนทั้งโลก”

ตามสัญญา

แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ อินฟานติโน นำเสนอแก่ชาติต่างๆ ตั้งแต่ครั้งหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายใหญ่ ฟีฟ่า โดยเน้นหนักไปที่สมาพันธ์ในเอเชียและแอฟริกาซึ่งเป็นฐานเสียงหลัก กระทั่งได้รับคะแนนโหวตในรอบ 2 ถึง 115 เสียง 

48 ทีม ที่จะได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายปี 2026 นั้น คิดเป็นค่าเฉลี่ยเกือบ 1 ใน 4 ของชาติสมาชิก ฟีฟ่า ในปัจจุบันที่ 211 ประเทศเลยทีเดียว เทียบกับฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัย ในปี 1930 นั้น มีเพียง 13 ทีม และเป็นการเชิญเข้าร่วมโดยไม่ผ่านการคัดเลือก

เต็มพิกัด

นับจากฟุตบอลโลกครั้งแรกจนถึงปี 1978 หรือเกือบกึ่งศตวรรษ ตัวเลขของทีมที่เข้ารอบสุดท้าย ยังอยู่ระหว่าง 13-16 ทีมเป็นหลัก โดยจำกัดจำนวนตัวแทนจากเอเชียและแอฟริกาเพียงแค่ทวีปละหนึ่งประเทศ

การเปลี่ยนแปลงมาถึง เมื่อ โจอัว ฮาเวลานจ์ เอาชนะ เซอร์ สแตนลีย์ เราส์ ของอังกฤษ ขึ้นเป็นประธานฟีฟ่า ในปี 1974 แนวคิดการเพิ่มจำนวนทีมก็ถูกผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่าง จาก 16 เป็น 24 ทีม ในปี 1982 จากนั้น ฮาเวลานจ์ และ เซปป์ แบลตเตอร์ ซึ่งร่วมงานกันมาตลอดตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 70 ก็ช่วยกันผลักดันจนเป็น 32 ทีมได้สำเร็จ ในฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส

อันที่จริง แบลตเตอร์ และ มิเชล พลาตินี ซึ่งมีแผนลงสมัครชิงตำแหน่งประธาน ฟีฟ่า เช่นกัน ก็เคยมีแนวคิดเพิ่มจำนวนทีม แต่ยังมองไปที่การเพิ่มเป็น 40 ทีม แต่ยังติดขัดเรื่องรูปแบบที่ลงตัว ก่อน อินฟานติโน จะหาข้อสรุปได้ที่จำนวน 48 ทีม ซึ่งหากคิดเป็นค่าเฉลี่ยแล้ว เท่ากับเป็นการเพิ่มจากฟอร์แมตปัจจุบันถึง 50% เลยทีเดียว

สูตรที่ลงตัว

แม้จะมีความกังวลจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าจะทำให้ผู้เล่นต้องเปลืองพลังงานมากขึ้น แต่แผนของ อินฟานติโน กลับผ่านการคำนวณมาอย่างดี เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว

เพราะแม้จำนวนแมตช์โดยรวมจะเพิ่มจาก 64 เป็น 80 นัด แต่ด้วยฟอร์แมตใหม่ที่ให้รอบแบ่งกลุ่มมี 16 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ทีม คัดหา 2 ทีม ผ่านเข้ารอบ 32 ทีมสุดท้ายในระบบน็อคเอาท์ 

นอกจากจะตัดปัญหาเรื่องเกมนัดสุดท้ายไม่มีความหมายแล้ว ยังเท่ากับว่าทีมที่ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ จะลงเล่นมากที่สุดเพียง 7 เกมเท่าเดิม โดยจำนวนวันของทัวร์นาเมนท์จะคงที่ 32 วัน และนักเตะยังได้พักเท่าเดิมด้วย เช่นเดียวกับชาติเจ้าภาพที่สามารถจัดโดยใช้สนามแข่ง 12 สนาม เหมือนที่ บราซิล และ รัสเซีย

ส่วนกติกาเฉพาะอื่นๆ เช่นความเป็นไปได้ในการเพิ่มการดวลจุดโทษในกรุ๊ปสเตจ อินฟานติโน กล่าวแต่เพียงว่ายังมีเวลามากพอสำหรับพิจารณาเรื่องนี้ในอนาคต

เม็ดเงินมหาศาล

รายงานจากสำนักข่าวเอพี ระบุว่าภายใต้ฟอร์แมตใหม่ เม็ดเงินภายในองค์กร น่าจะสูงถึง 6,500 ล้านดอลลาร์ ด้วยหลายปัจจัย ทั้งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด สปอนเซอร์ และจำนวนผู้ชมที่มากขึ้น ฯลฯ เทียบกับฟุตบอลโลกที่รัสเซียในปีหน้าแล้ว จะสูงกว่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์ และ ฟีฟ่า จะมีกำไรจากทัวร์นาเมนท์นี้ ไม่ต่ำกว่า 640 ล้านดอลลาร์

“การตัดสินใจทั้งหมดเป็นไปตามเหตุผลและตัวเลข ไม่ใช่การมองหน้าและส่งสัญญาณกันในที่ประชุม” วิคตอร์ มงตาญานี ประธานสมาคมฟุตบอลแคนาดา และสหพันธ์ฟุตบอลคอนคาเคฟ กล่าว

แรงต้าน

เป็นธรรมดาที่ยุโรปจะเห็นว่าตนเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ แม้ยังไม่มีข้อสรุปว่า 16 ทีมที่เพิ่มขึ้นมา จะเป็นโควตาของทวีปใดบ้าง โดยปัจจุบัน ยูฟ่า เป็นสมาพันธ์ที่ได้สิทธิ์มากที่สุด คือ 13+1 สำหรับฟุตบอลโลกที่รัสเซีย หรือเกือบครึ่งหนึ่ง

ยังไม่นับความเห็นจากสมาคมฟุตบอลสโมสรยุโรป (อีซีเอ) หน่วยงานที่เป็นตัวแทน 220 สโมสรฟุตบอลอาชีพในทวีป ที่ยืนกรานว่า 32 ทีม คือรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับฟุตบอลโลก “เรารู้ว่านี่เป็นการตัดสินใจจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่ในแง่ของการกีฬา”

ขณะที่ ไรน์ฮาร์ด กรินเดิล ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี ก็เชื่อว่าจำนวนทีมที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพโดยรวมของการแข่งขัน และภาระที่เพิ่มขึ้นของผู้เล่นก็จะนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งระหว่างสโมสรกับทีมชาติ

โอกาสที่ยังไม่ชัดเจน

สำหรับชาติเล็กๆที่ยังไม่เคยสัมผัสรายการนี้ ย่อมมีความหวังมากขึ้นเป็นธรรมดา กระนั้น ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ อินฟานติโน และทีมงานต้องหาข้อสรุป ไม่ว่าจะเป็นชาติเจ้าภาพ ซึ่ง สหรัฐ อาจเสนอตัวร่วมกับ แคนาดา แต่ก็ไม่อาจมองข้าม จีน ที่แสดงความสนใจอยู่เช่นกัน และที่สำคัญที่สุดคือโควตาของแต่ละทวีป ที่น่าจะได้ข้อสรุปในการประชุมสภาฟีฟ่าครั้งต่อไป ในวันที่ 9 พ.ค.

“ผมหวังว่าเรามีเวลาพอสำหรับหารือกัน เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์แค่ไหน” นายใหญ่ขององค์กรลูกหนังโลกทิ้งท้าย