เปิดโมเดลไทยเบฟ เคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

เปิดโมเดลไทยเบฟ เคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ไทยเบฟปั้นโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางที่ได้เรียนรู้จากโครงการพระราชดำริ“ห้วยฮ่องไคร้”โมเดลพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ช่วยพลิกฟื้นภูเขาหัวโล้น ดินแห้งแล้งแตกระแหง เกินเยียวยา ของผืนป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่กวง 8,500 ไร่ หรือ “ห้วยฮ่องไคร้” ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ด้วยศาสตร์ของพระราชา ที่ทรงมีวิธีปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกป่า ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูผืนดิน ป่า น้ำ ในวัฏจักรของตัวเอง จน “ห้วยฮ่องไคร้” กลายเป็นต้นแบบการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

เรื่องเล่าของศาสตร์พระราชา ถูกแบ่งปันผ่าน “อดุลย์ มีสุข” เจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตรประจำศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ ผู้เคยรับเสด็จตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนห้วยฮ่องไคร้ครั้งแรก และต่อเนื่องมารวมถึง 8 ครั้ง

เขาเล่าว่า การแก้ปัญหาของพระองค์ท่านนั้น นับเป็นการพัฒนาเชิงบูรณาการ และมองทุกอย่างเป็นองค์รวม โดยขยายผลให้ ต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทางเป็นประมง และระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม ที่ดึงเอาหน่วยงานราชการจากทุกกอง ทบวง กรม อาทิ กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ มารวมเป็นศูนย์วิจัยแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จนวันนี้ ห้วยฮ่องไคร้ กลายเป็นต้นแบบแหล่งฟื้นผืนป่า ที่มีรูปแบบเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต” ที่เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาป่า ฝึกทักษะอาชีพให้ผู้คน และยังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้นด้วย

“ห้วยฮ่องไคร้ ต้องการขยายองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่รัฐบาลได้ยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9”

อดุลย์ เล่าถึงความมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งหน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขยายผลโครงการน้ำดีนี้ ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อร่วมแก้ปัญหาการเกษตรอย่างยั่งยืน คืนคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นสุขให้กับคนไทย

หนึ่งในภาคเอกชนที่ขานรับร่วมต่อจิ๊กซอว์โมเดลประชารัฐในครั้งนี้ คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดย “ประโภชฌ์ สภาวสุ” ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ไทยเบฟ เล่าให้ฟังว่า บริษัทไทยเบฟ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนและเรียนรู้แนวทางการพัฒนาโครงการพระราชดำริ และศูนย์การเรียนรู้ห้วยฮ่องไคร้ เพื่อศึกษาศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558

โดยก่อนหน้าที่พวกเขาได้เข้าไปสนับสนุนทุนการศึกษา และทุนพัฒนาโครงการโรงเรียนตามแนวชายแดน ภายใต้โครงการ “ครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งเป็นการให้รางวัลแก่คุณครู ที่มีบทบาทจัดการศึกษาให้กับผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และไทยเบฟเข้ามาสานต่อตั้งแต่ปี พ.ศ.2555

สำหรับห้วยฮ่องไคร้ พวกเขาเล็งเห็นถึงวิถีทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างบูรณาการ จึงได้เข้าไปร่วมเรียนรู้องค์ความรู้จากศูนย์เรียนรู้ห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งเรียกว่า สอดคล้องกับจุดยืนของไทยเบฟ ที่ต้องการเข้าไปช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังมีฐานะยากจน และเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของการพัฒนาประเทศ

“องค์ความรู้จากห้วยฮ่องไคร้ เสมือนแหล่งวิชาการ เป็นองค์ความรู้ที่มีการวิจัยและพัฒนา ทดลองทำซ้ำจนเข้าใจการพัฒนาการเกษตรอย่างครบวงจร รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับภูมิสังคมในแต่ละท้องถิ่นและภูมิภาคด้วย”

นอกจากนี้พวกเขายังวางแผนที่จะส่งเสริมต่อยอดโครงการที่มีความยั่งยืน ทว่าภาครัฐยังขาดงบประมาณเข้าไปสนับสนุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการแก้ปัญหาด้วย

“เดิมทีไทยเบฟเข้าไปสนับสนุนชุมชน เช่น ความต้องการเครื่องกะเทาะเปลือกกาแฟ แต่ยังไม่รู้ถึงการส่งเสริมให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เช่น ต้องพิจารณาถึงการมีน้ำที่เพียงพอในการล้างเมล็ดกาแฟหรือไม่ หรือการส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงปศุสัตว์ ในสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ห้วยฮ่องไคร้ได้รวบรวมเป็นแหล่งความรู้ช่วยให้เรามองเห็นแนวทางเข้าไปส่งเสริมชุมชนให้เกิดความยั่งยืนได้”

ที่ผ่านมาไทยเบฟ นำร่องพัฒนาใน 2 ชุมชน ของจังหวัดน่าน คือ ชุมชนน้ำปูน ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่เป็นป่าสงวน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขอคืนพื้นที่ จึงไม่สามารถปลูกพืชที่ใช้พื้นที่จำนวนมากได้ พวกเขาจึงต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านคิดหาวิธีเพิ่มรายได้จากการปศุสัตว์ ที่ใช้พื้นที่น้อย เป็นต้น รวมถึง ชุมชนศรีนาป่าน ที่เข้าไปส่งเสริมปัจจัยการผลิตให้

“คนที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่สามารถพูดเรื่องอุดมการณ์ใดๆ ได้ ในเมื่อท้องเขายังไม่อิ่ม เราจึงต้องเริ่มจากช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานเขา นั่นคือทำให้เขามีรายได้ที่ดีก่อน เราชวนชุมชนมาดูงานที่ห้วยฮ่องไคร้ แล้วให้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้น จากนั้นก็ค่อยๆ ส่งเสริมด้านความรู้และยกระดับการพัฒนาอาชีพตามมา” เขาบอก

นอกจากการนำองค์ความรู้จากห้วยฮ่องไคร้ มาสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสู่ชุมชน ไทยเบฟ ยังมีแผนสนับสนุนการรวบรวมองค์ความรู้และประวัติของห้วยฮ่องไคร้ สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราว องค์ความรู้ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จ จนกระทั่งมาทรงงานพลิกฟื้นผืนป่าอย่างบูรณาการจนเกิดเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเช่นในวันนี้

ปัจจุบันนอกจากห้วยฮ่องไคร้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ วิจัย พัฒนาและฝึกอบรมแล้ว ยังเป็นหน่วยงานกลางรับซื้อวัตถุดิบที่ส่งเสริมเกษตรกรไว้ อาทิ เห็ด นมแพะ นมวัว แล้วนำมาแปรรูปเพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด กระทั่งสินค้ามีชื่อเสียงและมีแบรนด์ ซึ่งบางชนิดไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย อาทิ ผลิตภัณฑ์จากนมแพะ ที่พัฒนาเป็น ไอศครีม โยเกิร์ต ชีท รวมถึงผลิตภัณฑ์สบู่ ที่ใช้ตราสินค้า “ห้วยฮ่องไคร้” เป็นต้น

ในอนาคตพวกเขาจะร่วมมือกับไทยเบฟ ในการพัฒนาเครื่องจักรแปรรูปนมแพะพาสเจอร์ไรซ์ หรือ นมผง หลังส่งเสริมการเลี้ยงแพะจำนวนมากจนอาจเกิดปัญหาวัตถุดิบล้นตลาด จึงได้พัฒนาเครื่องมือเครื่องจักร กระบวนการผลิต และแปรรูปเพื่อให้สามารถเก็บรักษานมได้นานขึ้น ซึ่งนมแพะนับว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต

และนี่คือแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ฉบับ “ไทยเบฟ” ที่เริ่มจากความร่วมมือ เดินหน้าด้วยองค์ความรู้ และความเข้าใจในปัญหาของชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง