‘อาฟเตอร์ ยู’ วาดฝัน ต่อจิ๊กซอว์ขนมหวานสู่โลก

‘อาฟเตอร์ ยู’ วาดฝัน ต่อจิ๊กซอว์ขนมหวานสู่โลก

ประกายฝันปั้นคาเฟ่ขนมหวานเกิดนานแต่พ่อเบรก แต่ขีดเขียนร่างแผนไว้ เมื่อลงมือทำผลลัพธ์เกินคาด!กับเป้าหมายใหม่’อาฟเตอร์ ยู’สู่แบรนด์ขนมหวานโลก

นอกจากยกความสำเร็จให้พ่อ “วิวัฒน์ กนกวัฒนาวรรณ” อดีตเจ้าของแพ็คฟู้ด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารแช่แข็ง ที่คิดชื่อแบรนด์ร้าน “After You” (อาฟเตอร์ยู) ให้ก่อนจดทะเบียนตั้งบริษัท ยังต้องขอบคุณการเบรกความฝันในการทำธุรกิจร้านขนมหวานตั้งแต่วัยมัธยม

เมื่อพ่อบอกลูกสาว “กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) ว่า “ทุกอย่างเกิดจาก Dream (ฝัน) ที่ต้องเริ่มต้น Draw (วาด) ฝันก่อน”

ทำให้ตลอดระยะเวลา 8 ปี ก่อนเปิดคาเฟ่ขนมหวานแบรนด์อาฟเตอร์ยู กุลพัชร์ ออกเดินทางไปเยือนร้านเบเกอรี และขนมหวานในหลายประเทศ จด ขีด เขียนรายละเอียด คาแร็กเตอร์ อารมณ์ของร้านต่างๆ ดูการจัดซื้อ จ่ายเงิน การหมุนเวียนของร้าน กระทั่งสูตรขนม เสมือนการร่างแผนธุรกิจไว้ล่วงหน้า

“ป๊าบอกใจเย็นๆลูก ไอเดียมันเกิดจากความฝัน ให้วาดไว้ก่อน เก็บไอเดียไว้ มีโอกาสค่อยทำ ซึ่งตอนนั้นไม่คิดว่าจะมีโอกาส คิดแค่สนุก จดไปเรื่อย” เธอเท้าความกว่าจะได้เปิดร้านอาฟเตอร์ยู สาขาแรก

“ยากที่สุดตอนเปิดร้าน เพราะจังหวะที่อยากเปิดกับได้เปิดห่างกันถึง 8 ปี ตั้งแต่อายุ 17 ปี เปิดจริงตอนอายุกำลังจะ 25 ปี มันมีหลายอารมณ์..ไม่ทำดีกว่า ลืมบ้าง ก่อนเปิดล้านก็ลุ้นสุดชีวิต! ว่าจะได้อย่างที่คิดหรือไม่”

ทว่า ร้านอาฟเตอร์ยู กลับไม่ใช่ธุรกิจแรกของกุลพัชร์ เพราะก่อนนั้นเธอ “เจ๊ง” ไปกับการเปิดร้านอาหารทะเลในศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ หมดเงินก้อนแรกที่ขอพ่อมาทำหลัก 10 ล้านบาท

มาคราวนี้จึงตั้งใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ด้วยงบลงทุนที่น้อยที่สุด

โจทย์การปั้นแบรนด์ใหม่ เธอให้ความสำคัญกับ “ทำเล" (Location) มาก เพื่อให้เกิดการมองเห็น หรือรับรู้แบรนด์ (Awareness) สูง เพราะยุคก่อนไม่มีโซเชียลเป็นสื่อกลาง การสร้างแบรนด์จึงต้องเหนื่อยและใช้พลังมาก

แต่การหาทำเลไม่ใช่เรื่องง่าย โชคยังดีเมื่อพื้นที่บางส่วนที่ เจ อเวนิว ทองหล่อ เจ้าของเดิมไม่ต้องการค้าขาย เธอเลยรับเซ้งต่อ

“เราขับรถไปจอดตรงข้ามและมองเข้ามาที่ร้าน..มันใช่เลย ! ภาพมันชัดมากว่าร้านจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง” แม้จะถูกปรามเพราะร้านก่อนหน้าค้าขายไม่สำเร็จ แต่เมื่อไม่มีอะไรจะเสีย ขอเชื่อตัวเอง ผนวกกับมั่นใจใน “โปรดักท์” ที่มี เลยลุยเปิดร้านวันแรก 1 ต.ค.2550 วันแรกวันเดียวมียอดขายเกือบ 1 หมื่นบาท"

ผ่านไปทั้งเดือนอาฟเตอร์ยูทำรายได้ 4 แสนบาท

“ในใจคิดว่ารอดแล้ว” เธอหัวเราะ

ทำร้านอยู่ 6 เดือน ก็สามารถหาเงินคืนพ่อได้ แต่ท่านให้เก็บไว้เพื่อต่อยอดธุรกิจก่อน โดยตลอด 9 ปีที่บุกเบิกอาณาณาจักรคาเฟ่ขนมหวาน

กุลพัชร์ บอกว่า ผลลัพธ์ การเติบโต ทุกอย่างเกินฝันไปมาก จากพนักงาน 7 คนต่อร้าน 1 สาขา ปัจจุบันมีพนักงาน 700 คน มีร้าน 15 สาขา มีโรงงานเป็นครัวกลางลงทุน 80 ล้านบาท ยอดขายปัจจุบันทะลุกว่า 400 ล้านบาทต่อปี และเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ระดมทุนลุยขยายสาขาใหม่เพิ่ม

เมื่อมีทุน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสและ “ความเร็ว” ในการขยายสาขา โดยในปี 2561 ต้องการขยายสาขาให้ครบ 30 แห่ง รวมไปถึงการขยายสาขาในต่างจังหวัดตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา เป็นต้น

“หลังเข้าตลาดฯจะเติบโตเร็วหน่อย เพราะโรงงานใหญ่ที่เป็นครัวกลางเพิ่งเสร็จ ทำหน้าที่อบขนม เตรียมทุกอย่างให้พร้อม 70-80% เพราะต้องการโฟกัสงานหน้าร้านหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การให้บริการลูกค้าซึ่งมองว่าเป็นงานที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก”

สำหรับการทำร้านอาฟเตอร์ยู เบื้องต้นมีเพียงรูปแบบเดียว คือร้านเกาะทำเลศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ อนาคตต้องการเจาะเข้าไปยังอาคารสำนักงาน(ออฟฟิศ) และจะ “แตกไลน์” ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง ให้กว้างมากขึ้น จากเดิมรับจัดให้กับลูกค้างานแต่งงานเท่านั้น

ที่สำคัญจะได้เห็นสินค้า “ขนมหวานสำเร็จรูป” ภายใต้แบรนด์อาฟเตอร์ยู อีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายซื้อกลับไปบริโภคที่บ้าน

“อยากทำสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งจะเห็นเร็วๆ นี้ โดยเริ่มวางขายในร้านก่อน ส่วนแคทิกอรี่ไหนขออุบไว้ก่อน” เธอบอก และว่า นั่นเป็นความฝันก่อนเปฺ็นร้านอาฟเตอร์ยูด้วยซ้ำ

“แต่ตอนนั้นมองว่า ใช้เงินลงทุนสูง ฝันลิบๆเกินเอื้อม!”

การรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)ก็มีทำบ้าง โดยที่ผ่านมาได้ผลิตขนมหวานป้อนให้กับสายการบินไทยสมายล์ให้บริการโดยสารบนเครื่องบินมาแล้ว หลังจากโรงงานเสร็จ เธอจะเชิญลูกค้ามาเยี่ยมชมโรงงานก่อนเปิดรับคำสั่งซื้อโออีเอ็มอีกครั้ง

ขณะที่ฝันสูงสุดของกุลพัชร์ ต้องการผลักดันแบรนด์อาฟเตอร์ยูสู่การเป็น “เชนคาเฟ่ขนมหวานระดับโลก” ไม่ต่างจากร้านกาแฟแบรนด์ดังอย่าง “สตาร์บัค” โดยต้องการนำคาเฟ่ขนมหวานสายพันธุ์ไทยไปปักธงบนแผนที่นานาประเทศ

นำขนมฝรั่งไปให้ฝรั่งกิน !

“นิยามบริษัทในอนาคต ต้องการเป็นบริษัทต้นแบบระดับโลก อย่างเชนดังๆ เพราะงานร้านอาหารเป็นงานที่ละเอียดมาก จุกจิก แต่เชนเหล่านี้ขยายสาขารวดเร็ว เราก็อยากเป็นแบบนั้น”

การไต่บันไดโกอินเตอร์ เริ่มฉายแววตั้งแต่วันแรกๆ เมื่อมีนักลงทุนต่างชาติ มาชักชวนให้อาฟเตอร์ยูไปขยายสาขาในต่างแดนไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย เรียกว่ามาหมด ไปไกลถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เพราะ “ขุมทรัพย์” ทางการตลาดในประเทศยังมีให้กอบโกยอีกมาก จึงขอหมายมั่นปั้นมือขยายสาขาในบ้านก่อน

ส่วนในไทยโอกาสร้านจะมากแค่ไหน เธอบอกว่า หลักร้อยสาขา ย่อมเป็นไปได้

9 ปีกับเส้นทางคาเฟ่ขนมหวาน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบหลายส่วน กุลพัชร์ บอกว่า การทำให้ร้านดัง ค้นคำตอบคงง่าย แต่จะให้จีรังยั่งยืน คือการต่อ “จิ๊กซอว์” แต่ละส่วนให้ลงตัว สินค้าต้องถูกใจผู้บริโภค มีมาตรฐาน บริการที่ดี ความสะอาด จังหวะและเวลาในการออกสินค้าต้องใช่ เป็นต้น

“ภาพตอนนั้นชัดมาก แต่หลายคนทักว่า ทำร้านขนมไม่รอดหรอก ขายดึก ไม่มีใครกินหรอก มันอ้วน แต่เราเชื่อว่าเราทำได้ คุณภาพขนมคือหัวใจของการทำร้าน ต้องไม่เปลี่ยนสูตรเพราะคนที่มาต้องการรับรู้รสชาติอาหารในปากแบบนี้ ถ้ามาแล้วผิดหวังเจ้าของร้านอย่างเราทนไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด”