ทีโอทีเร่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วม

ทีโอทีเร่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วม

ทีโอทีพร้อมลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ลั่นมีมาตรการเยียวยาลูกค้าองค์กรที่รับผลกระทบ เล็งติดตั้งเคเบิลเพิ่มเส้นทางตามแนวรถไฟเพิ่มความเสถียร

นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจขาย และบริการลูกค้าองค์กร บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ขณะนี้โครงข่ายไฟเบอร์ออพติกที่ใช้งานไม่ได้จากเหตุน้ำท่วมในอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนส่งผลกระทบให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เชื่อมต่อไปยังต่างประเทศไม่ได้ ได้แก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว และใช้งานได้อย่างเป็นปกติเมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

แนวทางแก้ไขขณะนี้ได้ให้พนักงานและทีมวิศวกรเครือข่ายลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และจะมีมาตราการเยียวยากับลูกค้าองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ส่วนลูกค้าส่วนบุคคลที่ใช้งานตามครัวเรือน พบว่าไม่ได้รับผลเสียหายเท่าใดนัก และส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกิดจากปัญหาภัยธรรมชาติจริงๆ

ทั้งนี้ สายไฟเบอร์ออพติกที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปต่างประเทศของทีโอทีมีอยู่ 3 เส้นทาง คือ กทม.-หาดใหญ่ กทม.-สตูล และ กทม.สงขลา โดยปีนี้มีแผนพัฒนาสร้างเพิ่มเติมอีก 1 เส้นทาง แต่เป็นเคเบิลตามแนวรถไฟ

นอกจากนี้ ยังเตรียมลงทุนพัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (AEE-1) มีเส้นทางหลักจากฮ่องกงผ่านประเทศไทยไปยังยุโรป โดยจะผ่านจุดเชื่อมต่อฮ่องกง สิงคโปร์ ไปสู่จุดเชื่อมต่อที่อิตาลี และฝรั่งเศส มีกำหนดเปิดใช้ในไตรมาส 1 ปี 2560 ช่วยเพิ่มความจุรองรับการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตเข้าประเทศไทยมากกว่า 4,000 Gbps

รายงานข่าวแจ้งว่า การสร้างเสถียรภาพของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมีความพยายามจากรัฐบาลที่ให้ทีโอทีและบมจ.กสท โทรคมนาคม รวมทรัพย์สินที่เกี่ยวกับเพื่อให้บริการโครงข่ายในชื่อบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ จำกัด (เอ็นบีเอ็น คัมปะนี) โดยตามโรดแมพของการทำงานจะต้องเสร็จภายในก.ค.นี้

นอกจากนี้ ยังเร่งให้ทีโอทีเปิดใช้งานตามแผนการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศตามที่ทีโอทีเสนอกำหนดระยะเวลาลงทุน 3 ปี (2557 - 2559) แต่สุดท้ายแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยมีรายละเอียดการลงทุน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเอเชีย - ยุโรป 1 (AAE-1) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ ศรีลังกา อินเดีย และเชื่อมต่อกับเครือข่ายประเทศใน จ.สตูล และจ.สงขลา วงเงินลงทุน 1,408 ล้านบาท

2. โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเซาธ์อีสต์เอเชีย - มิดเดิล อีสต์ - เวสเทิร์น ยุโรป 5 (SEA-ME-WE 5) เส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส บังกลาเทศ มาเลเซีย และประเทศไทย วงเงินลงทุน 1,376 ล้านบาท และ 3. โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเซาธ์อีสต์ เอเชีย - เจแปน เคเบิล ซิสเต็ม (SJC) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น วงเงินลงทุน 2,278 ล้านบาท

นอกจากนั้น มีงบประมาณที่กันไว้สำหรับงานปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายภายในประเทศ เช่น งานก่อสร้างสถานีเคเบิลใต้น้ำ จ.สตูล งานปรับปรุงสถานีเคเบิลใต้น้ำสงขลา งานขยายชุมสายอินเทอร์เน็ต และงบสำรอง รวม 417.94 ล้านบาท

ส่วนนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีเครือข่ายโทรศัพท์ขัดข้องในพื้นที่อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า เมื่อตรวจสอบแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือปัญหา มีเพียงสายเคเบิลของทีโอทีมีปัญหาสายขาดที่ อ.บางสะพานเท่านั้น และได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว

ส่วนเครือข่ายมือถือ สถานีฐานไม่ได้มีปัญหา จะมีปัญหาเกิดขึ้นจากไฟฟ้าดับ เนื่องจากน้ำท่วมทำให้ไฟฟ้าที่เลี้ยงสถานีฐานไม่สมบรูณ์
ทั้งนี้ กสทช.ได้ประสานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแล้วให้ดำเนินการแก้ไขโดยการใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าเลี้ยงสถานีฐานให้ใช้งานได้ โดยผู้ให้บริการได้ทยอยแก้ไข คาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

“การใช้งานดาต้าของค่ายมือถืออาจจะใช้งานไม่ได้ในบ้างพื้นที่ แต่ตอนนี้ได้กำชับไปแล้วว่าให้การติดต่อสื่อสารต้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากโครงข่ายล่ม แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมจนกังวลว่าจะไฟช๊อต จึงดับไฟที่สถานีฐาน และใช้วิธีนำน้ำมันไปเติมเครื่องปั่นไฟ”