ปณทปล่อยขบวนจ่ายบัตรภาพ ร.9

ปณทปล่อยขบวนจ่ายบัตรภาพ ร.9

ไปรษณีย์ไทยปล่อยขบวนเริ่มนำจ่ายบัตรภาพผนึกตราไปรษณียากร พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้แก่ประชาชนกว่า 7 ล้านคน

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เผยความพร้อมการนำจ่ายบัตรภาพผนึกตราไปรษณียากรพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า ไปรษณีย์ไทย จะเริ่มนำจ่ายบัตรภาพฯ พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วานนี้ (9 ม.ค.) เป็นต้นไป ด้วยมาตรฐานเดียวกับบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS)


หลังจากได้รวม “ไปรษณีย์อาสา” ซึ่งเป็นพนักงานและลูกจ้างของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมบรรจุบัตรภาพฯ เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการส่งต่อไปยังศูนย์ไปรษณีย์ปลายทางทั่วประเทศ โดยการนำจ่ายบัตรภาพฯ

เจ้าหน้าที่นำจ่ายจะต้องดาวน์โหลดโปรแกรมการนำจ่ายบัตรภาพฯ เพื่อใช้บันทึกผลการนำจ่าย ทำให้มั่นใจได้ว่าไปรษณีย์ไทยนำจ่ายบัตรภาพฯ ให้แก่ประชาชนที่ได้ลงทะเบียนไว้ถึงมือทุกคนทุกบ้านอย่างแน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าจะนำจ่ายให้ถึงมือผู้รับกว่า 7 ล้านคน ภายในวันที่ 20 ม.ค. 2560

ทั้งนี้ บัตรภาพผนึกตราไปรษณียากรพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปรษณีย์ไทย จัดทำขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนคนไทยและกิจการไปรษณีย์ไทย โดยตั้งใจจะมอบให้พสกนิกรชาวไทยได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกและเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับบัตรตั้งแต่วันที่ 7 - 30 พ.ย. 2559 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

หากประชาชนพบปัญหาในการนำจ่ายบัตรภาพ สามารถติดต่อที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้าน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่คอลล์เซ็นเตอร์ 1545

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2559 ต่อเนื่องมาถึงปี 2560 ปณทใช้งบประมาณ 500 ล้านบาทลงทุนระบบไอทีเพื่อยกระดับองค์กรเป็นดิจิทัล โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาทปรับปรุงเคาท์เตอร์ให้บริการตามสาขาต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 1,300 แห่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ ซึ่งเคาท์เตอร์รูปแบบใหม่นี้ จะมีระบบไอทีทั้งหน้าบ้าน และหลังบ้าน เพื่อเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ ปณท พัฒนาขึ้น เพื่อให้การรับฝากสิ่งของหน้าเคาท์เตอร์รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ภายในปี 2560 จะทำบัตรสมาชิกที่เติมเงินได้ เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการชำระค่าบริการของไปรษณีย์ การให้บริการเครื่องเอพีเอ็ม (Automatic Post Machine) ตู้ให้บริการรับฝากอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับฝากสิ่งของ กรณีที่สถานที่ทำการปิดแล้ว คาดว่าจะเลือกผู้ผลิตเครื่องได้ภายในไตรมาสแรก และคาดว่าจะเริ่มติดตั้งได้ภายในสิ้นปีนี้

นางสมร กล่าวว่า ปณท ให้ความสำคัญกับการใช้ไอทีมาช่วยพัฒนาองค์กร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 การใช้ไอทีมาช่วยจะเพิ่มความสะดวกให้พนักงาน ต่อไปการคัดแยกสิ่งของ ปณท ก็จะใช้ระบบไอทีช่วยคัดแยกด้วย รถขนส่งสิ่งของจะติดตั้งจีพีเอส และอาร์เอฟไอดี เพื่อรู้สถานะการส่งของ และติดตามได้

ส่วนแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยระยะ 3-5 ปีขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนเพื่อให้มีคุณภาพมาตรฐาน ระดับสากล พร้อมทั้งรองรับการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและกลุ่มสตาร์ท อัพ ภายใต้นโยบายโพสต์เอ็กเซลเลนซ์ (Post excellence) เน้นพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงปรับปรุงยกระดับการทำงานอย่างมีมาตรฐานต่อเนื่อง และพัฒนาบุคลากรให้ร่วมทำงานอย่างเป็นทีม

ผลประกอบการปีที่ผ่านมา รายได้ของ ปณท ตั้งเป้าไว้ที่ 24,300 ล้านบาท ส่วนประมาณการณ์กำไรสุทธิ 3,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากการขยายตัวของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 42% ส่วนธุรกิจบริการไปรษณีย์ภัณฑ์ 37% ธุรกิจบริการระหว่างประเทศ 14% และธุรกิจการเงิน-ค้าปลีก 6% ปีนี้ก็น่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายได้ปี 2560 เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน 9% และกำไรคาดการณ์ว่าจะทำได้ราว 3,300 ล้านบาท