โบรกเกอร์รุก ‘ฟินเทค’ สร้างความต่าง

โบรกเกอร์รุก ‘ฟินเทค’ สร้างความต่าง

ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทตลาดทุน ​"บริษัทหลักทรัพย์" จึงเร่งพัฒนาแอพพลิเคชั่น มาสร้างความแตกต่างด้านการบริการ เพื่อรักษาฐานลูกค้า

ในยุคที่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยปลายนิ้ว ทำให้การทำธุรกิจด้านการเงินต้องมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีในธุรกิจการเงินมีความรุนแรงมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ที่ต้องปรับตัวตามความต้องการของลูกค้า หากใครปรับตัวไม่ทันก็อาจต้องตกขบวนส่วนแบ่งทางการตลาดอาจลดลงง่ายๆ

ผลดังกล่าวทำให้เกิดการตื่นตัวของแต่ละบล.ค่อนข้างคึกคัก จากเดิมที่เน้นการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน แต่ปัจจุบันทุกบริษัทหลักทรัพย์ต่างมีแอพพลิเคชั่นเป็นของตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า 

เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองว่าในปี 2560 จะยังเน้นการให้ข้อมูลลูกค้าผ่าน แอพพลิเคชั่น “KS Super Stock” มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการให้ข้อมูลกับนักลงทุนถึงปัจจัยพื้นฐานของหุ้นต่างๆ รวมถึงเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ด้วย

นอกจากบล.กสิกรไทยแล้ว บล.อื่นๆ ก็มีการขยับตัวเช่นเดียวกัน อย่างในค่ายใหญ่ที่ถือว่าเป็นผู้นำทางด้านฟินเทค อย่าง บล.บัวหลวง ที่ถือว่าเป็นบล.รายแรกที่นำโปรแกรมการซื้อขายหุ้นอัตโนมัติเข้ามาในประเทศไทยเป็นรายแรกๆ ในปี 2559 ที่ผ่านมา มี แอพพลิเคชั่น Bualuang Mobile Trading เป็นหัวเรือหลัก โดยจุดเด่นของบล.บัวหลวง นอกจากสามารถดูปัจจัยพื้นฐาน หรือบทวิเคราะห์แล้ว ยังสามารถนำรูปแบบกราฟทางเทคนิคมาประยุกต์ใช้ โดยโปรแกรมสามารถอ่านกราฟของแต่ละหุ้นแล้วสามารถบอกได้ว่าหุ้นตัวดังกล่าวลักษณะอย่างไรและสามารถเข้าทำการซื้อขายได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่นที่มีความโดดเด่น คือ Bualuang iAlgo ซึ่งมีลูกเล่นใน Better Order ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อหรือขายในราคาที่ดีกว่า 1 ช่องการซื้อขาย โดยหลังจากเปิดตัวโปรแกรมดังกล่าว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีในทันที

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มการแข่งขันรุนแรง คือกลุ่มดิสเคาท์โบรกเกอร์ อย่างบล. โกลเบล็ก ทางผู้บริหาร ยอมรับว่า ในระยะหลังบล.จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ไม่เน้นด้านการซื้อขายในราคาต่ำเหมือนในอดีตอีกต่อไป ซึ่งโกลเบล็ก ได้มีความร่วมมือกับ ฟินเทคชื่อดังอย่าง StockRadars เพื่อช่วยในการขยายฐานลูกค้า และสามารถส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบดังกล่าวได้ ซึ่งกลยุทธ์ในระยะต่อไป ที่โกลเบล็กจะเดิน คือการเน้นรูปโปรแกรมเทรดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยนักลงทุนให้สามารถมีระบบการซื้อขายที่เป็นมาตรฐานและสร้างความสนใจให้กับนักลงทุนได้

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้านแอพพลิเคชั่นนั้น ยังมีทั้ง บล. เอเซียพลัส, บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง รวมไปถึงเจ้าตลาดออนไลน์ อย่าง บล.เอสบีไอไทย ออนไลน์ ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้หลายบริษัทหลักทรัพย์จะมีการเปิดให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ทุกบริษัทหลักทรัพย์จะมีบริการที่คล้ายคลึงกัน คือการเผยแพร่บทวิเคราะห์ ข้อมูลพื้นฐานของหุ้น เป็นหลัก แต่ในปี 2560 มุมมองของผู้รับจ้างพัฒนาระบบการซื้อขาย มองว่าจะมีความแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟินเทค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาระบบการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ให้กับบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง เปิดเผยว่า วิวัฒนาการฟินเทคของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์นั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้าที่การส่งคำสั่งซื้อขายจะส่งผ่านเจ้าหน้าที่หลักทรัพย์ แต่ในยุค 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มพัฒนามาถึงการส่งคำสั่งผ่านคอมพิวเตอร์ และส่งคำสั่งผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมถึงแท็บเล็ต และเมื่อฟินเทคเข้ามาทำให้หลายบริษัทหลักทรัพย์ต้องปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขัน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เริ่มเห็นหลายบริษัทหลักทรัพย์ให้ความสำคัญในด้านดังกล่าวมากขึ้น มีหลายบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อพัฒนาธุรกิจดังกล่าวด้วยตัวเอง หรือมีบางรายที่หันไปจับมือกับกลุ่มฟินเทคเพื่อช่วยกันพัฒนาการให้บริการกับลูกค้า และล่าสุดเริ่มเห็นว่า บางบริษัทหลักทรัพย์ได้เปิดช่องทางให้ฟินเทคสามารถเข้าเชื่อมต่อกับระบบของบริษัทได้โดยตรง

“การเกิดขึ้นของฟินเทคจะไม่ใช่เข้ามาแย่งบทบาทกับบริษัทหลักทรัพย์หรือแย่งลูกค้า แต่จะเข้ามาในลักษณะของการสนับสนุนกันมากกว่า ซึ่งเทรนในอนาคตบริษัทหลักทรัพย์ก็จะเปิดช่องให้ฟินเทคเข้ามาเชื่อมต่อ และช่วยพัฒนาการให้บริการกับลูกค้า ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ไม่ต้องลงทุนในส่วนใดเลย ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งฟินเทคและบริษัทหลักทรัพย์”

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยฟินเทคได้อย่างมาก คือการเปิดสนามทดลองของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อทดลองการให้บริการกับบุคคลในวงจำกัดว่าฟินเทคแต่ละชนิดสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ รวมถึงการปรับเกณฑ์ของการเป็นผู้แนะนำการลงทุนจากเดิมที่จะต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ฟินเทคเข้าให้บริการได้ ซึ่งจะช่วยให้ฟินเทคเติบโตได้ในอนาคต

ทั้งนี้ระยะต่อไปของกลุ่มฟินเทคกับบริษัทหลักทรัพย์ การให้บริการของบริษัทหลักทรัพย์นั้น น่าจะไปในทิศทางการใช้โปรแกรมทำการซื้อขายมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันต่างประเทศ เพื่อเข้ามาช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้นต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบเข้ามาช่วยจัดพอร์ตให้กับนักลงทุนให้มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ซึ่งภาพรวมการซื้อขายหลักทรัพย์และการแข่งขันของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 น่าจะมีสีสันให้ได้ติดตามมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมแล้ว แต่ละบริษัทหลักทรัพย์ก็จะนำฟินเทคที่กำลังซุ่มพัฒนา ออกมาแข่งขันกันอย่างคึกคักแน่นอน