รัฐบาลเตรียมต่ออายุมาตรการลงทุนเอกชน

รัฐบาลเตรียมต่ออายุมาตรการลงทุนเอกชน

"สมคิด" เผยรัฐบาลเตรียมต่ออายุมาตรการลงทุนเอกชน หักภาษี 2 เท่าหลังเศรษฐกิจฟื้นต่างชาติสนใจเข้าลงทุน แต่มีเงื่อนไขต้องเพิ่มวงเงินลงทุนมากขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจเยี่ยมและประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลังวานนี้ (5 ม.ค.) เพื่อมอบนโยบายการทำงานปี 2560 พร้อมระบุว่ารัฐบาลพร้อมต่ออายุมาตรการภาษีค่าเสื่อมราคาให้นักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ เพื่อจูงใจเอกชนให้ลงทุนเพิ่มหลังจากที่ผ่านมาภาคเอกชนไม่เกิดขึ้นและคาดว่าทั้งปีนี้จะหดตัวเมื่อเทียบกับปี 2558

โดยนายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายจะต่ออายุมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน จากเดิมที่ครบอายุเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2559 หลังสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น นักลงทุนเตรียมจะลงทุนในไทย โดยทางหอการค้าญี่ปุ่นได้ส่งหนังสือถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการเข้าลงทุนในไทยเพิ่ม แต่ขอให้ขยายเวลาการหักลดหย่อนภาษีด้วย

“เดิมทีทางรัฐมนตรีคลังจะไม่ต่ออายุมาตรการลงทุน แต่ตอนนี้ใจอ่อนแล้วเตรียมทำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ก็มีเงื่อนไขในการต่ออายุ เช่นจะต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะต่ออายุออกไปนานแค่ไหนนั้น อยู่ที่รัฐมนตรีคลัง”

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเปิดให้หักค่าเสื่อมราคาได้ 2 เท่า ในปี 2559 สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2559 ได้แก่เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ และอาคารถาวร ไม่รวมที่ดิน และอาคารที่ถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย

นายสมคิด กล่าวว่า การที่นักลงทุนเอกชนตัดสินใจลงทุนในไทย สะท้อนว่านักลงทุนมองภาพเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ถ้าการเมืองยังไปได้ดี มั่นใจว่าเศรษฐกิจในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้ 4% เห็นได้จากตลาดหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 วันทำการตั้งแต่เปิดทำการหลังปีใหม่ เกิดจากเงินทุนจากสหรัฐที่ไหลมาทางเอเชีย ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจ

"ปี2560 หากการเมืองไปได้โครงการต่างๆ ออกมา เชื่อว่าเราคงโตได้ถึง 4% แต่ก็ต้องให้เอกชนลงทุนด้วยจะหวังแค่การส่งออกคงเป็นไปไม่ได้”

สั่งสรรพากร-สรรพสามิตรีดรายได้เพิ่ม

นายสมคิดกล่าวว่า ได้มอบนโยบายเศรษฐกิจ 3-4 เรื่องให้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิตไปหาแนวทางหารายได้เพิ่ม เพราะต่อไปจะใช้จ่ายมากขึ้น ต้องหารายได้เข้ามาเพิ่มด้วย โดยปีงบประมาณ 2561 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายมากเป็นเท่าตัว

ส่วนรายได้จะมาจากไหนบ้างนั้น แต่ละกรมมีแนวทางอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังกล้าๆกลัวๆที่จะเสนอ ก็ให้เวลา 3 เดือนไปพิจารณาแนวทางมา

มอบสศค.เจ้าภาพมาตรการดูแลคนชรา

นอกจากนี้ ยังมอบให้สศค.เป็นเจ้าภาพเรื่องมาตรการดูแลสังคมผู้สูงอายุ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีมาตรการออกมาหลายส่วน แต่ออกมาเป็นชิ้นๆ ต้องการให้ออกมาเป็นแพ็คเกจและมีเจ้าภาพที่ชัดเจน โดยให้ไปดูว่าจะทำอะไรบ้างและหาเงินจากไหนมาดูแล ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ เช่นการเคหะแห่งชาติ สถานพยาบาล ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ให้ สศค.ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กองทุนหมู่บ้านไปดูเรื่องการตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยเหลือชุมชน ให้มีแหล่งเงินทุนโดยใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์มาฝากไว้ มีลักษณะคล้ายบรรษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ หรือนำที่ดินไปขาย ซึ่งต้องการให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

ปลายเดือนนี้มาตรการแก้หนี้นอกระบบจะมีแคมเปญใหญ่ออกมาดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ชัดเจน ปีนี้จึงจะเป็นปีที่ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบ ส่วนเรื่องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หรือเนกาทีฟอินคัมแท็ก จะช่วยเหลือเป็นกลุ่มเฉพาะ และมีเงื่อนไข เช่นช่วยแล้ว ต้องการให้กลุ่มนั้นทำอะไรบ้างเป็นต้น

“รัฐบาลมีเวลาทำงาน 1 ปีกว่า จึงอยากให้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายที่จะทำ และมีหลักมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการประสานและติดตามงาน โดยจะตรวจการบ้านในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งใครทำงานดี ตอนโยกย้ายก็ได้ดี ใครทำดีก็ได้อยู่ต่อ โดยนโยบายสำคัญๆ ส่วนใหญ่ก็จะออกมาในปีนี้แทบทั้งนั้น เช่นพ.ร.บ.การกำกับรัฐวิสาหกิจเป็นต้น“

เห็นด้วยยกระดับสภาพัฒน์

ขณะที่ นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายสมคิด ให้กำกับดูแลการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยในเร็วๆ นี้ เขาและรองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการทำงานให้แก่ สศช. โดยจะเน้นไปที่การปรับบทบาทของ สศช.เพื่อให้รองรับภารกิจการพัฒนาประเทศในอนาคต

รวมทั้งการทำงานของ สศช.ที่ต้องรองรับการขับเคลื่อนแผนระดับชาติทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สศช.มีหน้าที่ต้องเป็นเลขานุการให้คณะกรรมการระดับชาติหลายชุด

นายสุวิทย์ กล่าวว่า บริบทการพัฒนาประเทศในอนาคตจะมีความท้าทายและหลากหลายมากขึ้นการพัฒนาประเทศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการพัฒนาชนบท แต่ต้องจัดเตรียมแผนการพัฒนาของเมืองที่ชัดเจน เพราะในอนาคตนอกจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่มีการเติบโต นโยบายการพัฒนาภูมิภาคและชนบทจะทำให้เกิดเมืองขนาดใหญ่ และเมืองที่ต้องการการพัฒนาให้ทันสมัยเป็นสมาร์ท ซิตี้ สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

ขณะเดียวกันบทบาทของ สศช.จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาในระดับโลกเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา สศช.สามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาคในระดับอาเซียนและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) ได้เป็นอย่างดีแต่ในอนาคตการพัฒนาจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและต้องเชื่อมโยงกับประชาคมโลกมากขึ้น ซึ่งบทบาทการทำงานของ สศช.นอกจากขับเคลื่อนแผนพัฒนาในประเทศแล้วจะต้องสร้างเครือข่ายการพัฒนาที่เชื่อมโยงระดับโลกให้มากขึ้นด้วย นอกจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรในอนาคตก็ต้องมาหารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ได้คนเก่ง และมีความสามารถมาทำงานในองค์กรรวมทั้งเข้ามานั่งในบอร์ดบริหารของ สศช.มากขึ้น

ระยะต่อไปจะต้องหารือกันถึงบทบาทของสศช.ในอนาคตอาจจะต้องยกระดับเป็นกระทรวงแห่งอนาคต (Ministry of future) หรือยกระดับเป็นหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ในการวางแผนอนาคต (Future Planning Unit) ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วมีกระทรวงหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในส่วนนี้อยู่หลายประเทศ

เช่น ประเทศสวีเดนมีกระทรวงอนาคตที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตสีเขียว การสร้างงาน และการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ในประเทศฝรั่งเศส จัดตั้งกระทรวงแห่งอนาคตเช่นกัน ส่วนประเทศเกาหลีใต้ก็มีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการวางแผนอนาคต ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

“อนาคตเป็นเรื่องที่ผันผวนมากและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดในศตวรรษที่ 21 เรายังไม่มีหน่วยงานที่มอนิเตอร์การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งหน้าที่ของหน่วยงานลักษณะนี้ไม่ใช่แค่ติดตามเท่านั้นแต่ต้องมีความลึกในการตอบโจทย์สามารถวิเคราะห์ได้ว่าความผันผวนของสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่นประเด็นของการเอาหุ่นยนต์มาทำงานแทนคน หรือเรื่องของโอโตโมชั่น เป็นประเด็นที่หลายประเทศพูดกันมาเมื่อห้าถึงสิบปีที่แล้วแต่เราไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจน ซึ่งกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกแบบนี้ต้องมีหน่วยงานที่ติดตาม วิเคราะห์ และนำไปสู่การวางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

โดยนายสมคิด กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สภาพัฒน์ฯควรจะยกระดับองค์กรให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งอดีตสภาพัฒน์แข็งแรงมากในการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวให้ประเทศ แต่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการขาดคน มีคนน้อย ก็ต้องเสริมฐานให้แข็งแรงยกระดับองค์กร โดยการเพิ่มคนก่อน เพราะถึงแม้จะตั้งเป็นกระทรวงแต่ไม่มีคน ก็ไม่แข็งแรง

'กรุงศรี' ชี้ศก.โตกระจายขึ้น

ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวได้ราว 3.3% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจาก 4 ด้าน คือ 1.การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อน อานิสงส์จากรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังภัยแล้งคลี่คลาย 2. ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การเสริมสภาพคล่องแก่เกษตรและเอสเอ็มอี การทำงบกลางปีเพิ่มอีกเกือบสองแสนล้านเพื่ออัดฉีดเข้ากลุ่มจังหวัด

3.การส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ 1.8% จากปัจจัยด้านราคา ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และ 4.การท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวปีนี้จะขยายตัวได้ 8-10%

“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสมดุลและกระจายไปหลายภาคส่วนมากขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินปีนี้น่าจะอยู่ในระดับผ่อนคลายช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป”

‘เอชเอสบีซี’ปรับเพิ่ม‘จีดีพี’ไทย

ด้านนางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ระบุว่า เอชเอสบีซี ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2560 เป็น 3.2% จากเดิมที่ 2.8% โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐยังเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย แม้มีแนวโน้มชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวมากในปี 2559

“หลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้พัฒนาไปสู่ลำดับการประกวดราคาหรือการก่อสร้างแล้ว โดยได้รับผลดีมาจากการที่รัฐบาลได้มีแผนปฏิบัติการประจำปี (action plan) ออกมาเพื่อให้ความชัดเจนมากขึ้นในส่วนของโครงการสำคัญและเร่งด่วน”

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนจากภายนอก เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐ และการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย มีแนวโน้มที่จะทำให้การส่งออกของไทยยังขยายตัวต่ำ แม้ว่าผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะลดน้อยลงจากปี 2559 ก็ตาม

“มุมมองในเชิงบวกมากขึ้น ส่วนหนึ่งได้คำนึงถึงพื้นที่การดำเนินนโยบายการคลังที่ยังมีเพียงพอ โดยงบขาดดุลงบประมาณปี 2560 ที่ 3.9 แสนล้านบาท ของรัฐบาลยังสามารถที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก 50% ตามกฎหมาย หากมีความจำเป็น ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 1.9 แสนล้าน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. คาดว่าจะผ่านความชอบของสนช.ในช่วงต้นเดือน ก.พ. และทำให้การขาดดุลเพิ่มเป็น 3.3% ซึ่งเรายังคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% ในอีกสองปีข้างหน้า”