เสนอสนช.แก้ก.ม.บังคับนายจ้าง คาดมีผล พ.ค.นี้

เสนอสนช.แก้ก.ม.บังคับนายจ้าง คาดมีผล พ.ค.นี้

ครม.ไฟเขียวแก้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างเกษียณอายุสูงสุด 10 เดือน ระบุฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

กระทรวงแรงงานเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ปรับปรุงจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ที่บังคับใช้มานานกว่า 19 ปี เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในสังคมปัจจุบัน

ในอดีตการเกษียณอายุแล้วแต่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ เป็นผู้กำหนด ว่าลูกจ้างจะมีสิทธิ์ได้รับการชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ ทำให้เกิดการฟ้องร้องหลายครั้ง ซึ่งศาลได้ตีความแล้วว่าการให้ลูกจ้างเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างต้องมีการชดเชย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวานนี้(4 ม.ค.)ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ....ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงข้อกำหนดในการเลิกจ้างโดยเหตุเกษียณอายุ ให้กำหนดว่า กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานโดยเกษียณอายุให้ถือว่าเป็นการ“เลิกจ้าง” ต้องมีการจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด

บังคับนายจ้างจ่ายชดเชยหลังเกษียณ

ทั้งนี้กรณีที่ไม่ได้มีการตกลง หรือกำหนดการเกษียณอายุลูกจ้างไว้ ให้ถือว่านายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุ เมื่อลูกจ้างอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ โดยหลังจากเกษียณอายุแล้วมีการจ่ายเงินชดเชยแล้ว นายจ้างกับลูกจ้างอาจทำสัญญาจ้างงานกันใหม่ โดยแตกต่างจากสัญญาเดิมก็ได้ ซึ่งข้อกำหนดนี้แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิม ที่การเกษียณอายุของลูกจ้างแล้วนายจ้างไม่มีภาระต้องจ่ายชดเชยแต่อย่างใด

สำหรับอัตราการจ่ายชดเชยการเกษียณอายุของลูกจ้างให้ครอบคลุมลูกจ้างทั้งระบบ และได้รับการจ่ายชดเชยจากนายจ้างตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดการชดเชยการเลิกจ้างกรณีที่ลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปให้ได้รับชดเชยค่าจ้างในอัตรา 10 เดือน กรณีทำงาน 6 -10 ปีได้รับชดเชยค่าจ้าง 8 เดือน และกรณีทำงานตั้งแต่ 3 -6 ปีได้รับชดเชย 6 เดือน

เบี้ยวจ่ายคุก6เดือน-คิดดบ.15%

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่จงใจฝ่าฝืนไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินปีละไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งคิดค่าดอกเบี้ยในการจ่ายเงินล่าช้าปีละ 15% และสามารถคิดอัตราค่าปรับเพิ่มเติมอีก 15% ของเงินต้นทุกๆ 7 วัน เป็นต้น

“มีหลายกรณีที่ลูกจ้างอายุ 60 ปี แต่นายจ้างทำไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยให้ทำงานไป จนกระทั่งทำไม่ไหวขอลาออกเองก็ไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งอาจจะสูงถึงเกือบ 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน” นายกอบศักดิ์ กล่าว

กรณีนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายให้มีความชัดเจน ทุกคนจะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมทั้งระบบ ก่อนหน้านี้เคยเกิดคดีความไปฟ้องร้องในชั้นศาล ว่าการกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งศาลก็มีการวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้าง การปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเกษียณอายุของลูกจ้าง ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งจะมีแรงงานสูงอายุได้รับประโยชน์ปีละ 3 -4 แสนคน”นายกอบศักดิ์ กล่าว

ตีกรอบ3กลุ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับกลุ่มลูกจ้างต่างๆ ให้ครอบคลุมแรงงานอีก 3 กลุ่มคือ แรงงานคนพิการ แรงงานเด็กรวมทั้งนิสิต นักศึกษา และผู้สูงอายุ เพื่อให้ครอบคลุมการจ้างงานทั้งระบบให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมากยิ่งขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

เร่งเสนอสนช.ออกก.ม.มีผลพ.ค.นี้

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่าครม.ยังเห็นชอบให้ปรับปรุงข้อกำหนดเพื่อลดภาระของนายจ้าง โดยให้มีการยกเลิกบทบัญญัติของนายจ้าง ที่มีนายจ้างรวมกันตั้งแต่10 คนขึ้นไปจากเดิมมีหน้าที่ในการส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้กับอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยให้เปลี่ยนเป็นเก็บสำเนาไว้ที่สำนักงานของผู้ประกอบการเอง หากมีการตรวจสอบให้สามารถส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบได้ทันที โดยประเด็นการส่งสำเนาข้อบังคับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน พ.ค.2560

ทั้งนี้เนื่องจากทางธนาคารโลก (World Bank) จะปิดรับข้อมูลความคืบหน้าของการดำเนินการปรับปรุงขั้นตอนความยากง่ายในการจัดทำธุรกิจ (Doing Business) ในเดือนดังกล่าว การปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ได้ทันเวลาจะส่งผลต่อการพิจารณาจัดอันดับ Doing Business ของธนาคารโลกในปีนี้ ในเบื้องต้นได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คาดว่าจะสามารถเร่งรัดตรวจร่างกฎหมายและส่งให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณา โดยกฎหมายจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือน พ.ค.2560

ยันเอกชนจ่ายชดเชยตาม ก.ม.

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานใหม่ ถือเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่นายจ้างต้องปฏิบัติตามหากจะดำเนินธุรกิจ ในแง่ของลูกจ้างถือว่าได้รับความเป็นธรรม ที่จะมีกฎหมายออกมาคุ้มครองคุณภาพชีวิต แต่ในแง่นายจ้าง ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้จ่ายชดเชยให้กับแรงงานเกษียณอยู่แล้ว และบริษัทขนาดใหญ่ก็ยึดตามกฎหมาย แต่อาจมีบางบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตาม

ในส่วนนี้อาจจะมีผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ และระยะเวลาในการดำเนินการ เช่น หากเป็นธุรกิจรุ่นเก่า ที่มีลูกจ้างอายุงานมาก หรือทำงานมา 20-30 ปี อาจได้รับผลกระทบบ้างขึ้นอยู่กับจำนวนแรงงานที่จะเกษียณ ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 30-40 ปี กว่าจะเกษียณยังมีเวลาอีก 20 ปี ในการที่นายจ้างจะเตรียมพร้อม

“หากมองในแง่ความเป็นธรรม ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับแรงงาน หากไม่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งไทยกำลังจะมีกองทุนฯนี้ เพื่อดูแลแรงงานวัยเกษียณ ที่จะบังคับใช้ปี2561 ควรพิจารณาด้วยว่า กฎหมายที่ออกมามันซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เพราะประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะให้กองทุนฯดูแลแรงงาน แต่ไทยยังมีคนจนอยู่ในระบบถึง13% ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม”

ส่วนกรณีที่ครม.ขยายอำนาจคณะกรรมการค่าจ้างให้ครอบคลุมกำหนดค่าจ้างแรงงานเด็ก คนพิการ และคนสูงอายุ มองว่า เป็นเรื่องดีที่จะทำให้เกิดความชัดเจน ในการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน เกิดความชัดเจนในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่กำหนดอัตราค่าจ้างแบบเบ็ดเสร็จ

เผยอาจกระทบต้นทุนนายจ้างบ้าง

ทั้งนี้ การปรับแก้กฎหมาย ในภาพรวมคงไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างเท่ากับกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ แต่อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนของนายจ้างบ้าง โดยเฉพาะนายจ้างที่ทำธุรกิจอยู่เดิม ส่วนการลงทุนใหม่ อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทย เพราะอัตราค่าจ้างถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ ประกอบกับปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้าน มีการใช้สิทธิประโยชน์การลงทุนที่ผ่อนปรนมากขึ้น ดังนั้นนักลงทุนอาจใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอนาคตได้

เอกชนหนุนแก้กม.แรงงาน

นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ กล่าวว่าปัจจุบันธุรกิจขนาดใหญ่มีการจ่ายชดเชยให้กับแรงงานเกษียณตามกฎหมายในอัตราสูงสุดไม่เกิน10 เดือนอยู่แล้ว สำหรับแรงงานที่มีอายุงาน10ปีขึ้นไป การปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานครั้งนี้ น่าจะเป็นการคุ้มครอง กรณีที่บางบริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเรื่องดีที่แรงงานจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น

โดยเชื่อว่า การปรับแก้กฎหมายจะไม่มีผลกระทบ เพราะมีรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกกำหนดไว้แล้ว รวมถึงการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.นี้แล้ว