“อินโดรามา เวนเจอร์ส” รีไซเคิลเปลี่ยนโลกธุรกิจ

“อินโดรามา เวนเจอร์ส” รีไซเคิลเปลี่ยนโลกธุรกิจ

พวกเขาคือผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกมีโรงงาน66แห่งใน21ประเทศ วันที่โลกเปลี่ยนพวกเขาซื้อกิจการรีไซเคิลเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและโลก

ทุกๆ 1 ใน 5 ของขวด PET ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ผลิตจากเม็ดพลาสติกของพวกเขา ทุกๆ 1 ใน 2 ของผ้าอ้อมเด็กเกรดพรีเมี่ยม ก็ใช้เส้นใยเส้นด้ายจากที่นี่ และทุกๆ 1 ใน 4 ของถุงลมนิรภัย (Airbag) ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ยังผลิตจากเส้นใยของพวกเขา

นี่คือความยิ่งใหญ่ของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ทั้ง PET เส้นใยโพลีเอสเตอร์ เส้นใยจากธรรมชาติและวัตถุดิบ กระจายธุรกิจอยู่ใน 4 ภูมิภาคทั่วโลก มีโรงงาน 66   แห่ง ใน 21 ประเทศ มีรายได้รวมในปี 2558 แตะ 7 พันล้านดอลลาร์!

กว่า 2 ทศวรรษของการเติบโต(ก่อตั้งปี 2537) เติมเม็ดเงินเพิ่มพูนในธุรกิจ ทว่ากลับปฏิเสธไม่ได้ว่า มีของเสียจำนวนมากตกค้างเป็น “ขยะ” ให้กับโลก นี่คือที่มาของการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ “รีไซเคิล” ในยุโรปเมื่อปี 2011 และตั้งโรงงานรีไซเคิลที่เมืองไทยในอีก 3 ปี ต่อมา เพื่อหมุนเข็มทิศให้ธุรกิจได้เป็นมิตรกับโลก

"เรามองว่า รีไซเคิล เป็นหน้าที่สำคัญของบริษัทฯ ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2559 เราสามารถรีไซเคิลขวด PET อยู่ที่ 337,000 ตันต่อปี ทำรายได้ให้บริษัทฯ 6,845 ล้านดอลลาร์ ขวดที่ใช้แล้วจะถูกนำมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิล เพื่อส่งต่อให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องแต่งกาย”

คำบอกเล่าของ มร. ริชาร์ด โจนส์” รองประธาน บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส สะท้อนผลลัพธ์จากปฏิบัติการรักษ์โลก ที่แม้ปัจจุบันธุรกิจรีไซเคิลจะยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับธุรกิจ PET ทั้งหมดของบริษัทฯ แต่พวกเขายังเชื่อว่า “มีอนาคต” และเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมรีไซเคิล โดยนำวัสดุขวด PET ใช้แล้วมาผลิตใหม่เป็นเม็ดพลาสติก PET และโพลีเอสเตอร์ ที่ชื่อ “Ecorama” พร้อมแผนที่จะขยายธุรกิจรีไซเคิลไปก่อเกิดอีกในหลายประเทศ

ธุรกิจรีไซเคิลเป็นเทรนด์ที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจ สามารถสร้างแวลู่ให้บริษัทฯ และทำให้เราเติบโตอย่างยั่งยืนได้”

“นวีนสุดา กระบวนรัตน์” ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส บอกความเชื่อมั่นในธุรกิจรีไซเคิลของ IVL ที่พวกเขาทำคู่ไปกับ การส่งเสริม “รีไซเคิล” ให้เกิดมากขึ้นในสังคม ผ่านโครงการซีเอสอาร์ต่างๆ อาทิ โครงการธนาคารขยะ ที่สอนให้น้องๆ รู้จักคัดแยก และจัดเก็บขยะ เพื่อนำมาแปรเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา การสอนชุมชนผลิตสิ่งของจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ แม้แต่โครงการเปลี่ยนโลกการออกแบบอย่าง RECO Young Designer Competition โครงการประกวดออกแบบรีโค่ ยัง ดีไซเนอร์ ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011 ปีเดียวกับที่พวกเขากระโดดเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิล

โคมไฟสวยเด่น ทำจากแก้วกาแฟ ตุ๊กตาถอดแขนขาได้ช่วยฝึกพัฒนาการเด็ก จากเศษผ้าเศษขวดเหลือทิ้ง เสื้อผ้าแฟชั่นดีไซน์อย่างชิค จากวัสดุรีไซเคิล นี่คือตัวอย่างผลงานผู้ชนะจากสาขา Product Design และ Fashion Design ในเวที รีโค่ ยัง ดีไซเนอร์ ตลอด 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งพร้อมใจลงแข่งขันใน RECO Young Designer Competition 2017 ปีพิเศษที่มีการเฟ้น Champion of The Champ ภายใต้ตีม ECOFIT โดยดึงอดีตแชมป์เก่ามาแข่งขันกันเอง และผลงานที่ดีที่สุด 3 ทีมสุดท้ายของแต่ละสาขาจะได้เข้าร่วมแสดงผลงานบนเวทีแฟชั่นระดับโลก ELLE Fashion Week 2017 อีกด้ว

“ผมเปิดร้านกาแฟ สังเกตว่า ขยะที่เยอะสุดคือ แก้วน้ำ เลยนำมาออกแบบเป็นโคมไฟตั้งพื้น โดยทดลองกรรมวิธีใหม่ๆ เพื่อให้ดูเป็นวัสดุใหม่ไม่เหมือนของรีไซเคิล ซึ่งหากโคมไฟนี้เกิดแตกพังไป เรายังสามารถส่งไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดด้วย”

“ต้น-วัชรรักษ์ สินทัตตโสภณ” เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง สาขา Product Design RECO Young Designer 2013 โชว์ผลงานโคมไฟรีไซเคิล ที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้โลกแฟชั่น เมื่อผลงานช่างดูสวยเด่น และน่าใช้ ไม่เหมือนทำมาจากวัสดุรีไซเคิล แถมยังต้นทุนต่ำ เพราะทำมาจากขยะ และมันสมองของนักออกแบบอย่างเขา

เช่นเดียวกับ “เป้ย-จณัญญา จุลศักดิ์ศรีสกุล” เจ้าของตุ๊กตาฝึกพัฒนาการ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง สาขา Product Design เมื่อปี 2016 สะท้อนบทบาทของงานรีไซเคิลที่ไปไกลกว่าคำว่า แฟชั่น ทว่ายังสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้อีกด้วย ขณะที่เสื้อผ้าบุรุษของ “โอกี้-เอกพันธ์ พิมพาที” ที่ติดรอบ 10 คนสุดท้าย สาขา Fashion Design เมื่อปี 2014 และได้รองชนะเลิศอันดับ 2 ในปี 2016ก็ทำให้เห็นความน่าสนใจของวัสดุรีไซเคิล ที่สามารถโชว์ลูกเล่นบนผืนผ้าและน่าสวมใส่ โดยไม่ตะขิดตะขวงใจเลยสักนิดว่าเป็นของรีไซเคิล

การร่วมงานกับ ELLE ช่วยยกระดับงานให้ดูอินเตอร์ขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ทางอ้อมคือช่วยให้คนรู้จักเรื่องของรีไซเคิลมากขึ้น ได้รู้จักแบรนด์ Ecorama ที่เป็นโจทย์ให้ผู้สมัครได้ใช้ในการแข่งขัน และได้รู้ว่าวัสดุรีไซเคิล ก็สามารถโดดเด่นในโลกแฟชั่นได้

ระหว่างทางของการเดินหน้ารณรงค์ให้คนหันมารีไซเคิลมากขึ้น พวกเขายังมุ่งทำงานกับลูกค้าเพื่อพัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก ให้ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและสังคม เช่น การพัฒนาขวด ไบโอ PET ให้กับ โคคา-โคล่า ลดการใช้น้ำมันดิบในกระบวนการผลิตมาเป็นน้ำมันจากพืชพลังงาน สร้างแพคเก็จจิ้งจากธรรมชาติตอบแทนโลก หรือการร่วมกับ เนสท์เล่ ประเทศไทย สอนนักเรียนคัดแยกขยะ แล้วนำขวด PET ที่ได้ มาทำเป็นเส้นใยรีไซเคิล ก่อนทำเป็นเสื้อกันหนาวแจกเด็กๆ และร่วมกับ ปตท. เก็บขยะจากชายหาดมาผลิตเป็นโปรดักส์จากการรีไซเคิล สะท้อนการทำเพื่อโลกแบบไม่โดดเดี่ยว แต่ขอยั่งยืนร่วมกันทั้งห่วงโซ่

“วันนี้ลูกค้าเน้นสิ่งที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น แต่ถ้าไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจคือต้นทุนแพงไป เขาก็มองเรื่องการรีไซเคิล หรือลดการใช้ให้น้อยลง ทำให้เราในฐานะผู้ผลิตต้องมองหาโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ตรงนี้ ซึ่งการรีไซเคิลไม่เพียงช่วยตอบโจทย์ลูกค้าเท่านั้น ทว่ายังช่วยบริหารความเสี่ยงในธุรกิจของเราด้วย เพราะการรีไซเคิลทำให้เราพึ่งพาการใช้น้ำมันดิบลดลง ช่วยสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจได้มากขึ้น”

โลกการค้าเลยเดินหน้าไปพร้อมการ “รีไซเคิล” เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทั้ง ธุรกิจ สังคม และโลก