บิ๊กดีลอสังหาฯปี59‘ทุนใหญ่’ฮุบรายเล็ก

บิ๊กดีลอสังหาฯปี59‘ทุนใหญ่’ฮุบรายเล็ก

ด้วยโครงสร้างอสังหาฯเปลี่ยนไป มีความซับซ้อนมากขึ้น และขนาดตลาดใหญ่ขึ้น การแข่งขันไม่จำกัดกรอบเฉพาะผู้ประกอบการรายเดิม 

แต่วันนี้ มีกลุ่มทุนรายใหญ่จากธุรกิจอื่นๆ อย่าง กลุ่มเบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง ซีพีเอ็น ก้าวมาเป็นคู่แข่งขัน ทำให้ต้นปีที่ผ่านมาจึงปรากฏภาพ “อสังหาฯรายใหญ่” หันไป“ซื้อกิจการ” อสังหาฯรายเล็ก โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่ทุ่มเม็ดเงินซื้อหุ้นรายย่อย เพื่อต่อยอด ขยายกิจการ หวังสร้างความใหญ่จากขนาด (Economy of Scale) รับการแข่งขันสูง

หลังจากปี 2558 จะเป็นภาพของเร่งเติบโต ทาบกิ่งธุรกิจ ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers&Acquisitions : M&A) ดีลเกิดขึ้นในปีนั้น จึงเป็นลักษณะ“บิ๊กดีล” มูลค่ารวมการร่วมทุนในธุรกิจอสังหาฯตลอดทั้งปี สูงกว่า 1.2 แสนล้านบาท

รวมถึงหลายบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ  เช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มมิตซุย ฟูโดซัน จากญี่ปุ่น , เอพี (ไทยแลนด์) ร่วมลงทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป องค์กรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าสินทรัพย์เป็นอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น, แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทควีนแลนด์ , ชาญอิสระ ร่วมทุนกับกลุ่มจุนฟา บริษัทอสังหาฯของจีน

     อีก 2 ดีลล่าสุดส่งท้ายปี 2559 คือ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับ ฮันคิว เรียลตี้ ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในไทย ภายใต้ชื่อ เสนา ฮันคิว เพื่อร่วมทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯ อีกดีลคือ ชินวะ กรุ๊ป ดำเนินงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ร่วมทุนกับ วรลักษณ์ พร็อพเพอร์ตี้ ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯในเมืองไทย

การซื้อหุ้นของบริษัทรายใหญ่ โดยหลักแล้วน่าจะเป็นเรื่องของการสนับสนุนธุรกิจเดิม หรือต่อยอดธุรกิจใหม่ อย่างดีล สิงห์ เอสเตท ซื้อกิจการไดอิ กรุ๊ป ผู้ผลิตรั้ว ประตู และหน้าต่าง ภายใต้แบรนด์“เฟนเซอร์”และ“นิวโว” รวมถึงให้บริการรับสร้างบ้าน

ทั้งนี้ การมีไดอิกรุ๊ป เข้ามาเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรใหม่ จะเป็นการติดปีก จากการได้ทีมงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจก่อสร้างสมัยใหม่ มาเสริมศักยภาพด้านงานก่อสร้างให้กับทั้งสิงห์ เอสเตท และเนอวานาฯ

      เนื่องจากไดอิ กรุ๊ป มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่อยู่อาศัยสำเร็จรูป หรือ พรีแคส โอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรวมธุรกิจแนวดิ่ง(Vertical Integration) โดยจะเห็นเนอวานา ขยับลงมาทำตลาดบ้านเดี่ยวระดับกลาง ราคาเริ่มต้น 5 ล้านบาทเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ จากการที่มีไดอิ กรุ๊ปมาสนับสนุนด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบพรีแคส ที่ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างได้ จากเดิมบ้านเดี่ยวของเนอวานา จะเป็นตลาดระดับบน 7-10 ล้านบาทขึ้นไปเป็นหลัก

จากในปีที่ผ่านมา สิงห์ เอทเตท ซื้อกิจการ รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ พร้อมจัดตั้ง เอส โฮเทล แมเนจเม้นท์ เป็นบริษัทย่อย เพื่อประกอบธุรกิจบริหารกิจการโรงแรม ทำให้สิงห์เอสเตทครอบคลุม 3ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอสังหาฯ ่เพื่ออการพักอาศัย โดยเน้นกลุ่มลูกค้าระดับลักชัวรีและระดับซูเปอร์ลักชัวรี , ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอสังหาฯเพื่อขาย ส่วนไดอิ กรุ๊ป จะดำเนินธุรกิจ 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอสังหาฯเพื่อการพักอาศัย เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

นอกจากนี้ กลุ่มเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ได้เสนอซื้อหุ้นบางส่วนของ สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ (SF) จำนวน 428.34 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 24.11% ในราคาหุ้นละ 6.20 บาท เมเจอร์ต้องการที่จะลงทุนระยะยาวในสยามฟิวเจอร์ เพื่อขยายธุรกิจให้มีความหลากหลาย โดยยังคงวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไป

จากก่อนหน้านี้พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ได้เข้าไปซื้อ ไทย พร็อพเพอร์ตี้ ทำให้บริษัทต่อยอดธุรกิจไปในส่วนของโรงแรมและคอนโดมิเนียมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาการซื้อกิจการของกลุ่มอสังหาฯต่อจากนี้ จะมีต่อเนื่องหรือไม่ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจเริ่มเห็นการร่วมทุน หรือการมองหาธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมมากขึ้น อย่างพฤกษา (PS) ก็ผันตัวไปเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี ขณะที่อนันดา และเอพี ใช้วิธีการร่วมทุนเพื่อการขยายโครงการได้เร็วยิ่งขึ้น