'รมว.พาณิชย์'มั่นใจส่งออกปี 60 เริ่มฟื้นตัว

'รมว.พาณิชย์'มั่นใจส่งออกปี 60 เริ่มฟื้นตัว

"รมว.พาณิชย์" มั่นใจส่งออกปี 60 เริ่มฟื้นตัว คาดขยายตัวถึง 3.5% จากเป้าหมายเดิมที่ 3% หลังมีแผนขยายตลาดโดยใช้ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ศก.

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 ว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 59 ได้อย่างแน่นอน เพราะเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเครื่องจักรที่อยู่ในการดูแลและรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ทุกตัวจะมีการขับเคลื่อนได้ดีกว่าปีนี้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ประเมินในเบื้องต้นว่า ในปี 60 มีแนวโน้มที่การส่งออกจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3% โดยอาจจะเติบโตถึง 3.5% เพราะในปี 60 มีแผนจะเจรจาขยายตลาดโดยใช้ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) เจรจาเปิดตลาดการค้าการลงทุนกับประเทศเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ปี 59 ได้เจรจากับจีนและอินเดียไปแล้ว และยังมีแผนที่จะขยายตลาดใหม่ที่มีโอกาสโดยลงลึกเป็นรายเมืองมากขึ้น

“ประเมินว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นปี 60 เป็นต้นไป เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เศรษฐกิจคู่ค้าก็ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกน้ำมัน ที่แรงซื้อจะกลับมา ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น จะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยดีขึ้น" รมว.พาณิชย์ กล่าว

ในด้านการดูแลราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้า และค่าครองชีพ กระทรวงพาณิชย์จัดทำแผนติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญทุกรายการ ทั้งการติดตามปริมาณผลผลิตที่จะออกตามฤดูกาล การประสานติดต่อเพื่อหาตลาดรองรับผลผลิต และหากจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำก็จะพิจารณามาตรการออกมาใช้อย่างเหมาะสม

สถานการณ์สินค้าเกษตรขณะนี้ ส่วนใหญ่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยคาดว่าแนวโน้มราคาจะยิ่งปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน จากการวิเคราะห์ก็ไม่พบว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในภาพรวม ยกเว้นสินค้าที่ใช้แรงงานมาก เช่น เสื้อผ้า แต่ก็กระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เกิน 1 บาท กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะผลักดันให้เกิดการซื้อขายและเพิ่มแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยสนับสนุนตลาดต้องชมหมู่บ้านทำมาค้าขาย และตลาดกลางสินค้าเกษตร รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรเข้าสู่ช่องทางตลาดใหม่ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ

ในด้านการต่างประเทศ ในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ เช่น ในเวทีระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และเป็นประธานการประชุมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือ G77 ตลอดจนเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ในฐานะประธานกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย

สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการเยือนระหว่างคณะผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสองประเทศอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีโอบามา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรม ASEAN Economic Ministers (AEM) Roadshow to U.S. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ได้พบปะผู้นำทางธุรกิจหลายราย โดยเฉพาะสภาธุรกิจสหรัฐฯ ก็มีการพบปะกับนายกรัฐมนตรีเป็นประจำ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) ที่สหรัฐอเมริกา ในเดือน เม.ย.59 ซึ่งเป็นการประชุม TIFA JC ในระดับรัฐมนตรีครั้งแรกนับจากที่ว่างเว้นมานานถึง 13 ปี และมีผลเป็นรูปธรรมในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจการเงิน เพื่อรองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

นอกจากนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในการเยือนญี่ปุ่นของรองนายกฯ (พ.ย.58) มีการจัดทำข้อตกลงทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในปี 59 ประมาณ 2,250 ล้านบาท และสาธารณรัฐเกาหลี (มี.ค.59) มีมูลค่าการสั่งซื้อทันที 10 ล้านบาท และคาดการณ์สั่งซื้อภายใน 1 ปี มูลค่า 300 ล้านบาท สำหรับญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับไทยในฐานะศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรในภูมิภาค โดยเน้นพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิค การทำวิจัยและพัฒนา ตลอดจนนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วในขณะนี้

ส่วนตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน โอมาน และศรีลังกา ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำและรองนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้เริ่มเจรจาเขตการค้าเสรีกับกล่มยูเรเซีย ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย