บจ.ตัดขายลูก'ตปท.' ลดภาระขาดทุน

บจ.ตัดขายลูก'ตปท.' ลดภาระขาดทุน

ปี2559 บริษัทจดทะเบียนไทยหลายแห่ง "ปรับโครงสร้างธุรกิจ" โดยการตัดธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในต่างประเทศเพื่อลดภาระขาดทุน

ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ปี 2560 ยังคงเห็นบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งปรับโครงสร้างธุรกิจต่อเนื่อง โดยการพยายามตัดธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักและเปลี่ยนการลงทุนเหล่านั้นกลับมาเป็นกระแสเงินสด โดยปลายปีนี้พบว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะตัดขายธุรกิจที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ

ล่าสุด รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แจ้งว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงกับ Musashi Seimitsu Industry จากประเทศญี่ปุ่น ในการขายหุ้นทั้งหมด คิดเป็น 21% ในมูซาชิ ออโตพาร์ท จำกัด คิดเป็นมูลค่าการขายหุ้น 970 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผลขาดทุนจากรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้น เป็นประจำในครั้งนี้ (Non-Recurring Loss) ประมาณ 150 ล้านบาท เนื่องจากการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายหุ้นทั้งหมดนี้ประมาณ 180 ล้านบาท ทั้งนี้มูซาชิ เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นนำ

อารักษ์ ราษฎร์บริหาร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น AQUA แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจำหน่ายเงินลงทุนใน เท็กซัส 121 จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท อควา เพาเวอร์ จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% ให้แก่ บริษัท แม็กซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) MAXรวมเป็นเงิน 7.70 ล้านบาทนอกจากนี้บริษัทจะได้รับคืนเงินกู้และดอกเบี้ยจากเท็กซัส 121 ในช่วงสิ้นเดือน ก.พ. 2560 เป็นเงิน 93.10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้ที่นำไปใช้ในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเงิน 91 ล้านบาท และอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี

สำหรับเท็กซัส ประกอบธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทนในและต่างประเทศ และได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Mogami และ โครงการ Hanamaki ที่ญี่ปุ่น กำลังผลิตรวม 3.87 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุน 455 ล้านบาท ผ่านบริษัทSolar Mogami Godo Kaisha ในญี่ปุ่นหลังการจำหน่ายเงินลงทุน และชำระบัญชีใน ซีวีเค อควา เอ็นเนอร์ยี่ เพื่อปิดบริษัทย่อยแล้ว บริษัทไม่มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าอีกต่อไป

เช่นเดียวกับ อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ซึ่งตัดสินใจขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ดำเนินการโดย อีซีเอฟ ทอร์นาโด เอนเนอร์จี จีเค ซึ่งมีกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ ณ เมืองฮิเมจิ ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นการขายให้กับบริษัท Capital ซึ่งเป็นบริษัทใน

สำหรับทรัพย์สินที่จำหน่ายไปมีมูลค่า 82.19 ล้านบาท คิดเป็นกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนเงินลงทุน 43.94%สาเหตุที่ตัดสินใจขายทรัพย์สิน เนื่องจากผลกำไรที่จะได้รับ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากโครงการที่ 8% ต่อปี

ขณะที่ บล.ซีมิโก้ ตัดสินใจขาย บีคอน ออฟชอร์ ซึ่งทำธุรกิจให้บริการตรวจสอบอุปกรณ์ ความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมทางทะเลและนอกชายฝั่งในประเทศไทย ซึ่งถือหุ้นอยู่ 18.7% มูลค่ารวมของการขายหุ้นทั้งหมด เท่ากับ 22.14 ล้านบาท โดยได้รับชำระค่าหุ้น ในวันที่ 14 ธ.ค. 2559 จากบริษัทเบลลิสิมา จำกัด 

เดิมทีบริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการนำบีคอน ออฟชอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใน 2-3 ปี อย่างไรก็ตามผลกระทบจากความผันผวนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อเป็นอย่างมาก ทำให้ขนาดของธุรกิจลดลง จึงคาดว่าบีคอนไม่น่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว