‘ระเฑียร ศรีมงคล’นำทัพ เคทีซี ฝ่าโลกดิจิทัลปี60

‘ระเฑียร ศรีมงคล’นำทัพ  เคทีซี ฝ่าโลกดิจิทัลปี60

ปีอันท้าทายของธุรกิจการเงินจากเทคโนโลยี’ฟินเทค’ ทีเปลี่ยนธุรกรรมการเงิน โจทย์ที่ผู้นำอย่าง’ระเฑียร ศรีมงคล’นำทัพ’เคทีซี’ฝ่าโลกดิจิทัลปี 60

คำของ “ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” ระหว่างแถลงแผนปี 2560 ท่ามกลางความหนาวเหน็บ 12 องศา ณ ประเทศอินเดีย ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน สะท้อนความท้าทายของการเดินเกมธุรกิจในวันที่โลกเปลี่ยน

หลังการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล นำพาความเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจการเงินมากมาย เช่น การมาถึงของ FinTech (Financial Technology) ที่เข้ามาพลิกโฉมการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินไปจากเดิม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในบริบทของประเทศไทย เช่น ระบบชำระเงินของประเทศ (National E-Payment) ซึ่งภาครัฐจะนำเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็น “พร้อมเพย์” (PromptPay) ระบบการโอนเงินและรับเงินรูปแบบใหม่ รวมถึงโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิคส์ (E-tax System) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า

ขณะเทรนด์ “คนรุ่นใหม่” กลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ถือบัตรเคทีซี ก็มี “พฤติกรรม” และ “ไลฟ์สไตล์” เปลี่ยนไปจากเดิมมาก นี่คือตัวอย่างเบาะๆ ของความท้าทายที่เขาว่า

“ปีหน้าเราเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว โดยไม่ได้ปรับอะไรใหม่ เพราะกลยุทธ์ที่เรามี เราทำสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ผมว่ามันท้าทายทุกปีนะ เราก็ต้องพร้อมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ โดยเราไม่เคยมีแผนระยะยาว เพราะธุรกิจปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” เขาย้ำ

การเตรียมความพร้อมของธุรกิจ เลยไม่ได้เริ่มจากแค่ ปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงาน และระบบ ให้เท่าทันกับวันโลกเปลี่ยน ทว่ายังรวมถึงการสร้าง "ดีเอ็นเอของคนเคทีซี"ผ่าน Brand Core Value (คุณค่าหลักของแบรนด์) ที่พร้อมเรียนรู้และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

“Brand Core Value หรือ Core ดีเอ็นเอของเรา สะท้อนอยู่ในกลยุทธ์ที่เราทำ จริงๆ เราไม่เคยพูดเรื่องแบรนด์อย่างเป็นกิจจะลักษณะมาก่อน เพราะไม่ได้ทำแบรนด์อะไรมากมาย แต่ต่อจากนี้คงต้องเล่าให้ฟังเยอะขึ้น”

นี่เลยเป็นครั้งแรกที่พวกเขาตอกย้ำแนวคิดใหม่ของแบรนด์ ผ่าน Brand Core Value ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ นั่นคือ

1. “Courageous” มีความกล้า กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

2. “Smart & Simplicity” ทำในสิ่งที่ชาญฉลาดและเรียบง่าย และ

3. “Meaningful” ทำในสิ่งที่มีคุณค่า และความหมาย ทั้งต่อ ลูกค้า องค์กร ผู้ถือหุ้น และพนักงาน

“เวลาทำอะไรเขาต้องมีทั้ง 3 อย่าง คือ มีความกล้า ต้องฉลาดและเรียบง่าย และทำอะไรต้องมีความหมาย ผมมองว่า การทำอะไรก็ตาม ต่อให้เราทำในสิ่งที่ฉลาดและเรียบง่าย และกล้าที่จะทำ แต่ถ้าทำไปแล้วไม่ได้ก่อประโยชน์กับใคร ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ฉะนั้นสิ่งที่ทำต้องมีคุณค่าด้วย” เขาอธิบายซ้ำ

นั่นคือเหตุผลที่ผู้นำมองว่า องค์กรไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องของ “คนเก่ง (Talent)” มากเท่ากับ “ความคิด (Mindset)” ของพวกเขา

ในวันที่โลกเปลี่ยน เจเนอเรชั่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้น ซึ่งซีอีโอเคทีซี บอกเราว่า วันนี้มีคนรุ่นใหม่วัย 20 ต้นๆ เข้ามาอยู่ในเคทีซีพอสมควร

อย่างไรก็ตามเขายังเชื่อว่า เคทีซีเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว แม้อาจไม่ได้เทียบเท่ากับบริษัทสตาร์ทอัพ ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) อยู่เต็มขั้น แต่ขณะเดียวกันคนของเขาก็ไม่ใช่องค์กรรุ่นเก่าที่เข้ามาแบบเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกัน ทว่าเป็นคนที่เปิดกว้าง และทำงานแบบคนรุ่นใหม่ด้วย

“ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ จงรักภักดีกับองค์กรน้อยลง ก็เป็นเรื่องจริงนะ แต่การจะดึงดูดเด็กเหล่านี้ ผมว่าใช้การโฆษณาไปก็เท่านั้น เพราะถึงได้เขาเข้ามา เขาก็เปลี่ยนได้ แต่มองว่า เราต้องปล่อยให้เขาเกิดความรู้สึกที่อยากจะเข้ามาในองค์กรของเรา และจงรักภักดีกับเราเอง ต้องใช้ Passive (ตั้งรับ) พูดไปไม่มีประโยชน์ ต้องรอให้เกิดขึ้นเอง” เขาว่า

คนพร้อม ทีมพร้อม มองเห็นสิ่งเดียวกันชัด ก็ได้เวลาเดินหน้าแผนรบในปี 60 ปีที่เคทีซีจะก้าวสู่ “แบรนด์ในใจที่สมาชิกชื่นชอบและเลือกใช้” ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาวของพวกเขา

ผู้นำบอกเราว่า เคทีซี มีเป้าหมายในการรุกธุรกิจทุกกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ร้านค้า การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและออนไลน์ รวมทั้งสร้างทางเลือกต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในการชำระค่าใช้จ่ายผ่านแพลทฟอร์มการชำระเงินใหม่ๆ ด้วยบัตรเครดิต เพื่อรองรับกระแสของเทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงของระบบชำระเงินของประเทศ ตลอดจนธุรกิจฟินเทคที่กำลังมา

เช่น ระบบพร้อมเพย์ ที่เมื่อสามารถรองรับการโอนเงินระหว่างองค์กรธุรกิจได้แล้ว ระบบของเคทีซีก็พร้อมจะรองรับชำระเงินและการจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เคทีซีจะให้ความร่วมมือกับกรมสรรพากรในการพัฒนาระบบเพื่อรองรับ E-tax System ในเดือนม.ค.2561 พร้อมปรับโฉมการสื่อสารต่างๆ ให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เช่น ผ่านแอพพลิเคชั่น “TapKTC” หรือเว็บไซต์เคทีซีที่ Click KTC เป็นต้น

โดยคาดว่าในปี 2560 บริษัทจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% และจะรักษาระดับของหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ให้อยู่ในระดับเดียวกับปี 2559 มีจำนวนสมาชิกใหม่ อยู่ที่ 5.6 แสนราย แบ่งเป็นสมาชิกบัตรเครดิต 4 แสนราย และสินเชื่อบุคคล 1.6 แสนราย ตั้งเป้าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เติบโตที่ 15% หรือคิดเป็นประมาณ 1.9 แสนล้านบาท

หลัง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2559 มีกำไรสุทธิ 1,854 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวมกว่า 2.8 ล้านบัญชี พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิ 57,015 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 14% ลูกหนี้ NPL ลดเหลือ 1.86% บัตรเครดิตลดเหลือ 1.37% และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ในระดับเดิมที่ 1.01% นับว่า ยังสร้างผลงานได้น่าพอใจ ในวันที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ยัง “บาดเจ็บ” กับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และสารพัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้

เมื่อถามถึงความรู้สึก ซีอีโอหนุ่มใหญ่ บอกทิ้งท้ายแค่ว่า..

“ผมไม่เคยพอใจหรือไม่พอใจอะไร แค่แฮปปี้ที่ได้ทำงานเท่านั้นเอง อะไรที่มันไม่ดีก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยไม่ได้มาประเมินว่า มันดีหรือไม่ดี แค่ทำให้ดีที่สุด และดูผู้เล่นรายอื่นไปด้วยว่าเขาเป็นอย่างไร เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก”

เพื่อขับเคลื่อนองค์กรผ่านคลื่นดิจิทัล ให้ธุรกิจยังคงเติบโต และแข็งแกร่งได้ในทุกสมรภูมิรบ