‘แบงก์-ประกัน’ เข็นสินค้า รองรับ ‘สังคมสูงวัย’

‘แบงก์-ประกัน’ เข็นสินค้า  รองรับ ‘สังคมสูงวัย’

การเคลื่อนตัวเข้าสู่“สังคมสูงวัย”ของประเทศไทย ทำให้“ภาคธุรกิจ”ตื่นตัวกับการ“ออกผลิตภัณฑ์”

เพื่อจับตลาดผู้สูงอายุกันมากขึ้น“ธุรกิจการเงิน”เป็นอีกภาคส่วนที่ออกสินค้ามารองรับเทรนด์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านหรือประกันชีวิตและประกันภัยผู้สูงวัย

ล่าสุด 2 ธนาคารรัฐ เตรียมออก“รีเวอร์ส มอร์ทเกจ”หรือ“สินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ”โดยสินเชื่อดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาล เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน

หลักการของ รีเวอร์ส มอร์ทเกจ คือ การให้ผู้สูงอายุ นำบ้านมาขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยที่ผู้กู้ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมได้ขณะที่ทางธนาคารจะจ่ายเงินให้เป็นรายเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ จนกว่าจะเสียชีวิตหากผู้กู้เสียชีวิต แล้วมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าเงินกู้ ส่วนต่างที่เหลือจะตกเป็นของทายาท อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ทายาทมาไถ่ถอนบ้านคืนได้ แต่หากไม่มีทายาท สินทรัพย์นั้นจะตกเป็นของธนาคาร และธนาคารก็จะนำไปขายทอดตลาดต่อไป

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคธนาคารในการให้สินเชื่อ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสรุปหลักเกณฑ์คาดว่าจะสามารถสรุปหลักเกณฑ์ได้ในเร็วๆนี้

“ชาติชาย พยุหานาวีชัย”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่า ปีหน้า ออมสิน เตรียมเปิดตัวสินเชื่อรีเวิร์ส มอร์ทเกจ กำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 5 พันล้านบาท จะกำหนดอายุผู้กู้ ขั้นต่ำจะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 85 ปี เพราะจากการศึกษาพบว่าอายุ 85 ปีเป็นอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทย

สำหรับวงเงิน สูงสุดที่จะได้รับจากการทำ รีเวอร์ส มอร์ทเกจ จะได้รับสูงสุดไม่เกิน 70 % ของมูลค่าหลักประกันคือ บ้านที่ผู้ขอสินเชื่ออยู่อาศัย ขณะที่ดอกเบี้ยที่จะคิดจากผู้กู้นั้น จะใช้อัตราเอ็มแอลอาร์ แต่สูตรการคำนวณอาจมีหลายสูตร อาจเป็นลักษณะการค่อยๆ เพิ่มดอกเบี้ย จนถึงปีสุดท้าย หรืออาจจะเป็นค่อยๆลดดอกเบี้ยจนถึงปีสุดท้าย เป็นต้น

กรณีที่ผู้ขอสินเชื่อเสียชีวิตก่อนอายุ 85 ปี ธนาคารสามารถนำบ้านหลังนั้นไปขายทอดตลอด กรณีขายได้เกินกว่าวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารจ่ายออกไป ส่วนเกินจะมอบให้แก่ทายาท ,แต่หากทายาทของเจ้าของบ้านต้องการขอซื้อบ้านหลังนั้นกลับคืนก็สามารถทำได้ แต่กรณีจบโครงการแล้วผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต สามารถขอทบทวนหลักประกัน เพื่อขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ เพราะหลักประกันอาจสูงขึ้นตามช่วงเวลาที่ผ่านไป

สำหรับธอส.แม้ว่า การทำสินเชื่อรีเวอร์สมอร์ทเกจจะต้องรอแก้ไขพ.ร.บ.ธอส.ก่อน แต่ที่ผ่านมาธนาคารก็เตรียมสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุไว้หลายโครงการ ทั้งสินเชื่อบ้านธอส.เพื่อผู้สูงอายุ วงเงินรวม 7 พันล้านบาท แบ่งเป็นสำหรับผู้กู้รายย่อย (Post Finance ) 3 พันล้านบาท และสินเชื่อพัฒนาโครงการ (Pre Finance) 4 พันล้านบาท และล่าสุดคือสินเชื่อบ้านกตัญญู วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ในปีหน้า ธอส.ยังเตรียมแพ็คเกจสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุไว้อีกวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อทั่วไป 1 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อสำหรับให้ผู้ประกอบการ หรือการเคหะแห่งชาติ(กคช.)สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ

“ฉัตรชัย ศิริไล”ผู้จัดการ ธอส. ระบุว่าแพ็คเกจสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ ในปีหน้าจะเน้นความร่วมมือในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะโดยธอส.จะสนับสนุนสินเชื่อทั้งให้กับผู้ประกอบการ และสินเชื่อให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทที่เตรียมไว้นี้ ยังไม่รวมสินเชื่อรีเวอร์สมอร์ทเกจ เพราะสินเชื่อรีเวอร์สมอร์ทเกจจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขพ.ร.บ.ธอส.ก่อน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายเรื่องยังอยู่ที่การพิจารณาของกระทรวงการคลัง

ขณะที่ธุรกิจประกันภัยประกันชีวิตก็ตื่นตัวรับเทรนด์สังคมสูงวัย ผลักดันให้เบี้ยประกันในแบบที่เกี่ยวเนื่องเติบโต ไม่ว่าจะเป็นรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า การประกันชีวิตผู้สูงวัย เริ่มให้บริการในประเทศไทยมาแล้ว 5 ปี

“สุทธิพล ทวีชัยการ”เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ตลาดประกันผู้สูงอายุ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมา คปภ. ได้เร่งแก้ไขปัญหา กรณีปัญหาสิทธิประโยชน์ของบริษัทประกันชีวิต ไม่เป็นไปตามที่มีการโฆษณาผ่านสื่อ โดยเฉพาะการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนนั้น จน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อคุ้มครองผู้เอาประกัน

“จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์”ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย บอกว่า ปีนี้ตลาดประกันผู้สูงอายุเติบโตชะลอลงไป เพราะบริษัทประกันที่ขายประกันนี้ให้ความร่วมมือปรับปรุงแก้ไขตามที่คปภ. และสมาคมฯแนะนำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งใบเสนอขายประกัน คำโฆษณา สิทธิประโยชน์หลัก เป็นต้น แต่ยังเป็นสินค้าที่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมทำความเข้าใจกับลูกค้าค่อนข้างมาก หลายบริษัทลดดีกรีการขายลงไปหันไปขายประกันชีวิตระยะยาวแทน