iflix เป็นต่อที่ ‘คอนเทนท์’

iflix เป็นต่อที่ ‘คอนเทนท์’

จากนี้ไปการดูคอนเทนท์จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไปขึ้นอยู่กับการผสมผสานคอนเทนท์ โซเชียลมีเดีย และการเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนมากขึ้น

 “เจ้าของกิจการ” และ “ผู้บริหารมืออาชีพ” นั้นแตกต่างกันแต่ก็มีข้อดีไปคนละด้าน

จากประสบการณ์ ทินกร เทียนประทุม จากที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีมาโดยตลอด ตั้งแต่ลุยทำธุรกิจนำเข้าซอฟต์แวร์ของตัวเองมาจนถึงการนั่งเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่

“ผมจบสายไอที และทำงานสายไอทีมาตลอดชีวิต แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา

ภายหลังจากที่เรียนจบก็มีโอกาสเข้าทำงานที่ไอบีเอ็ม ทำโปรเจ็คให้กับธนาคาร พอจบปริญญาโท ก็ออกมาเปิดบริษัทนำเข้าซอฟต์แวร์ด้านบัญชีเป็นของตัวเอง เพราะเห็นว่าธุรกิจต่างก็ต้องทำเรื่องบัญชีกันทั้งนั้น

สิ่งที่เราสร้างความแตกต่างได้ในช่วงนั้นก็คือ แทนที่จะนำเข้าทั้ง 100% ผมก็ปรับเป็นทำโค้ดโปรแกรมอีก 10% เพื่อทำให้ตามที่ลูกค้าอยากได้ ทำตรงนี้มา 5-6 ปีก็มีคนสนใจบริษัทแล้วก็ตัดสินใจขายไป”

จากนั้น ทินกร ตัดสินใจเข้าทำงานในหลายองค์กรด้านไอทีและโทรคมนาคม ตั้งแต่ ดีแทค ทรู และ ทีโอที ไอพีทีวี (TOT IPTV) ซึ่งเป็นบริการรับชมทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ทีโอที รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้านคอนเทนท์ให้กับผู้ให้บริการหนังและซีรีย์ออนดีมานด์

“ผมมองว่าเป็นจังหวะมากกว่า การทำธุรกิจตัวเองก็ได้ประสบการณ์แบบหนึ่งแต่ในสเกลที่เล็กกว่าการทำงานองค์กรขนาดใหญ่ที่สเกลของงานเป็นหลักร้อยล้าน พันล้าน และที่สำคัญคือการได้เรียนรู้

เพราะพื้นฐานจบทางด้านวิศวะการทำงานด้านนี้ ถือเป็นโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ว่า มาร์เก็ตติ้งทำอย่างไร และอีกหลายด้านในเชิงลึกทำให้สนุกดี”

จนมาล่าสุดอีกหนึ่งบทบาทการเป็นผู้บริหารมืออาชีพอย่างเต็มตัวในตำแหน่งประธานบริหาร บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการสตรีมและดาวน์โหลดซีรีส์และหนัง โดยมีผลตั้งแต่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภายหลังจากไอฟลิกซ์ ครบ 1 ปีของการให้บริการไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นี่เป็นอีกก้าวรุกสำคัญของไอฟลิกซ์ กับการเดินเกมด้านคอนเทนท์อย่างเต็มรูปแบบใน 2 เรื่องหลัก นั่นคือ “คอนเทนท์” และ “รูปแบบการเข้าถึงผู้บริโภค/ตลาด”

“ในมุมมองของผมหลักๆ แล้ว bottom line แล้วก็คือคอนเทนท์ ซึ่งต้องยกให้เป็นตัวนำ แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้จะอยู่ที่รูปแบบการเข้าถึงคน

โดยเฉพาะวันนี้ตอนนี้ผู้บริโภคปลี่ยนไปมาก หากย้อนดูในแต่ละปีที่ผ่านมา คนเริ่มดูทีวีน้อยลง แต่ไม่ว่าจะดูทีวีน้อยลงอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ยังดูคอนเทนท์ เพียงแค่มีรูปแบบการดูที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง 

ซึ่งการเข้าดูในแบบ OTT จะตอบโจทย์ได้มากกว่า มีความหลากหลายกว่า ในยุคที่ผู้บริโภคอยากจะดูเมื่อพร้อม และอยากจะดูเวลาไหนก็ได้"

ว่าด้วยเรื่องของ “คอนเทนท์”

“ผมให้ความสำคัญกับคอนเทนท์มากๆ ถ้าคอนเทนท์ดี อะไรก็ง่าย มาร์เก็ตติ้งก็ง่าย อีกทั้งยังนำไปสู่ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ก็ทำได้ง่ายกว่า 

เหมือนพ่อครัวเก่งๆ ต่อให้ ร้านอาหารบรรยากาศไม่ดี ไม่มีแอร์ แต่คนก็อยากกิน เพราะอร่อย การทำธุรกิจคอนเทนท์ก็เช่นเดียวกัน”

ด้วยจุดเด่นของเน็ตเวิร์ค ไอฟลิกซ์ ที่รุกตลาดแล้วทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน ทำให้สามารถสร้างอำนาจต่อรองและทำ Economy of Scale ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

เมื่อบวกกับขนาดตลาดของธุรกิจให้บริการคอนเทนท์ รูปแบบ Over-The-Top (OTT) ขยายใหญ่ขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยสนับสนุนทั้งอินเตอร์เน็ตที่เร็วและครอบคลุม รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมดูหนังและซีรีย์มากขึ้นก็เป็นแรงส่งให้ ไอฟลิกซ์ ขยายบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน

“สิ่งที่ผมชอบตอนนี้ก็คือ สู้กันด้วยคอนเทนท์ จากโอกาสของตลาดที่ใหญ่ขึ้น จาก นิช เริ่มเป็น แมส ทำให้ในช่วงจังหวะนี้ ไม่ว่าใครก็ตาม แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่หากไม่มีคอนเทนท์ที่คนอยากได้ ก็ไม่ใช่แล้ว

กลยุทธ์ผมคือการนำเสนอคอนเทนท์ที่ดี ให้กับลูกค้าที่ใช่”

กลุ่มลูกค้าที่ “ใช่” สำหรับ ไอฟลิกซ์ เน้นในกลุ่ม A B อายุไม่เกิน 50 ปี ที่มีพฤติกรรมเล่นออนไลน์ และพักอาศัยอยู่ในหัวเมืองใหญ่ อาทิ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น

โดย ไอฟลิกซ์ พิจารณาจากสองส่วน เริ่มจากคอนเทนท์ที่เรามีว่าเหมาะกับลูกค้ากลุ่มไหน ในอีกมุม ลูกคาที่เราเลือกแล้วว่าใช่ เค้าต้องการคอนเทนท์แบบไหน ก็ต้องไปหามา เติมให้เต็ม แล้วหาช่องทางการเข้าถึงให้ได้

 “แต่ก่อนแม่ผมใช้สมาร์ทโฟนไม่เป็น ปัจจุบันใช้ไลน์ เฟซบุ๊ค เมื่อเทียบกับคนที่เล่นออนไลน์อื่นๆ ก็จะมีความแตกต่างในเรื่องคอนเทนท์ที่รับชม นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ได้

หลักๆ ก็คือ อินเตอร์เน็ตต้องเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคต้องเข้าใจในเทคโนโลยี และคอนเทนท์ที่อยากดู”

ในส่วนของ “ช่องทางการเข้าถึง” และสีสันการตลาด

ที่ผ่านมา ไอฟลิกซ์ เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ล่าสุด “เพลย์ลิสต์ (Playlists)” ที่รวมเอาเหล่าเซเลบกว่า 30 คนมานำเสนอซีรีส์และหนังเรื่องโปรดของตัวเอง

ทินกร บอกการมีหนังเป็นจำนวนมากๆในระบบบางครั้งก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ชมในการตัดสินใจว่าจะดูเรื่องไหน ซึ่ง Playlists จะมาทำหน้าที่ตรงนี้

“Playlists เป็นการเอาคอนเทนท์มาร้อยเป็นกลุ่มให้เข้าใจง่าย ช่วยให้การเข้าถึงคอนเทนท์ได้ง่ายขึ้นโดยใช้ดาราคนดังมาอ้างอิง

ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมคนไทย ยึดติดกับ เซเลบบริตี้ ดาราคนนี้มาบอกว่าดูหนังเรื่องอะไร เปรียบเหมือนกับมีดีเจที่แนะนำเพลง ซึ่งก็เหมือนเป็นการคัดหน้าหนังให้อีกทางหนึ่ง

ที่ผ่านมาได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ล่าสุด ชาริล ชับปุยส์ นักฟุตบอล จะมีคนเข้ามาติดตามมากที่สุด”

สำหรับกลยุทธ์ในปี 2560 คอนเซ็ปต์คร่าวๆ ได้มีการพูดคุยกับสตูดิโอหลักๆ ไว้ว่าจะมีหนังอะไรบ้างที่เข้ามาฉาย ซึ่งทิศทางแล้วจะเป็นในลักษณะ Exclusive มากขึ้น

“ธุรกิจของคอนเทนท์ เปลี่ยนไป สมัยก่อน ถ้าเป็นดิสนีย์ หรือ พาราเม้าท์ กว่าจะเอาคอนเทนท์มาลงออนไลน์ จะต้องรอ 2-3 ปี ก่อนจะเข้าสู่ช่องทางโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์

แต่เมื่อวันนี้ตลาด OTT เริ่มใหญ่ขึ้น สตูดิโอก็เริ่มลดเวลาลงมา คนได้ดูเร็วขึ้นกว่าเดิม

มาถึงวันนี้ตลาดก็เปลี่ยนอีก ถ้าใครจะซื้อก่อนก็ได้ แต่ต้องราคาที่กำหนด ซึ่งเราจะเริ่มเห็นบางค่ายในไทย นำเสนอหนังใหม่ที่ออกจากโรงแค่เพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่เน้นขายเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้ขายเป็นบุฟเฟต์

ผมมองว่าดี การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดีกับคนดูและผู้ประกอบการ เพราะหมายความว่าสตูดิโอเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของคนชมหนังและซีรีย์

สำหรับเราแล้วสิ่งที่อยากได้คือ ออกจากโรง ต้องมาที่เราเลย ทำให้หนังนั้นยังใหม่ สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่ต้องการความรวดเร็วในการรับชม”

อีกกลยุทธ์ของ ไอฟลิกซ์ ที่จะเห็นในปี 2560  ก็คือ การเติบโตไปพร้อมกับพาร์ทเนอร์

“ล่าสุดเราดีลกับซัมซุงจะเอา application iflix ลงเครื่อง คาดหวังว่า จะทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้จากช่องทางนี้ประมาณ 6 ล้านคน”

ทินกร กล่าวว่า นับจากนี้ การดูคอนเทนท์ จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไปขึ้นอยู่กับการผสมผสานคอนเทนท์ โซเชียลมีเดีย และการเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคน ซึ่งแน่นอนว่า ทุกอย่างต้องทำให้สนุกขึ้น 

ในทุกช่องทางการรับชมจากทั้ง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค และเชื่อมต่อเพื่อดูบนทีวี โดยดูได้ทั้งแบบออนไลน์หรือดาวน์โหลดมาเก็บไว้ดูออฟไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา