สัญญาณเฟดขึ้นดบ.ต่อ ฉุดเงินเอเชียร่วงทุบสถิติ

สัญญาณเฟดขึ้นดบ.ต่อ ฉุดเงินเอเชียร่วงทุบสถิติ

สกุลเงินเอเชียอ่อนลงถ้วนหน้า หลังดัชนีดอลลาร์แข็งค่าทุบสถิติรอบเกือบ 14 ปี ผลจาก "เฟด" ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีหน้า 3 ครั้ง

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์เทียบกับ 6 เงินสกุลหลักในตะกร้าเงิน อยู่ที่ระดับ 103.14 วานนี้ (16 ธ.ค.) หลังจากแตะระดับ 103.56 เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ธ.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 ปี การทะยานของเงินดอลลาร์มีขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งสหรัฐเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เพราะเทรดเดอร์คาดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ อันจะดันเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้น และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่รวดเร็วขึ้น

เมื่อวันพุธ (14 ธ.ค.) เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า แทนที่จะปรับขึ้นแค่ 2 ครั้งตามที่เคยคาดหมายไว้

สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐ พุ่งขึ้นมากกว่า 2.6% สู่ระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือนก.ย. 2557 ซึ่งส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น ดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 118.66 เยนต่อดอลลาร์ หรือสูงที่สุดในรอบ 10 เดือนครึ่ง

เงินเยนอ่อนค่าลง 11% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่นายทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่ามากกว่าเงินเปโซเม็กซิโกที่ลดลงไป 10%

ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐที่สะท้อนว่าราคาอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งในเดือนพ.ย. ประกอบกับแนวโน้มที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นหลังจากข้อมูลค่าเช่าสูงขึ้น น่าจะหนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นปีหน้า

นักลงทุนคาดว่ามีความเป็นไปได้ 75% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนมิ.ย.ปีหน้า และมีเพียง 25% ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นในเดือนมี.ค.

หยวนอ่อนสุด8ปีครึ่ง

ธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนอ่อนลงวานนี้ 6.95078 หยวนต่อดอลลาร์ แต่หนังสือพิมพ์ไชนาเดลี ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ ระบุในบทบรรณาธิการว่าไม่วิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ว่าอาจเพิ่มแรงกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่า หรือทำให้กระแสทุนไหลออกมากขึ้น เพราะปัจจัยพื้นฐานระยะยาวทางเศรษฐกิจ เป็นตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน

ไชนาเดลี ระบุว่า ช่วงเวลาที่สหรัฐจาม ทั้งโลกก็เป็นหวัดนั้น ค่อยๆ หายไปแล้ว เพราะสภาพคล่องในตลาดโลกทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในสกุลดอลลาร์ทั้งหมด

บทบรรณาธิการระบุว่าประชาคมโลกเริ่มมองแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในแง่ดีมากขึ้น หลังจากมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ดังนั้นแม้ในระยะสั้นยังมีแรงกดดันค่าเงินหยวนอยู่ แต่ในระยะยาวแล้ว ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน

ริงกิตอ่อนสุด14เดือน

สำหรับเงินสกุลอื่นในเอเชียนั้น ปรากฏว่าเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าที่สุดในรอบ 14 เดือนครึ่งที่ 4.4755 ริงกิตต่อดอลลาร์ เงินวอนเกาหลีใต้อ่อนค่าลง 0.4% และเงินรูเปี๊ยะห์อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 0.1% อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินเปโซฟิลิปปินส์แข็งค่าขึ้น

นายเทปเป อิโน นักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ กล่าวว่า แม้มีสัญญาณของกระแสทุนไหลออกจากตลาดเงินเอเชียหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่ปริมาณเงินทุนที่ไหลออก ไม่มากนัก และคาดว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอีกในช่วง 2-3 สัปดาห์หน้า เมื่อเทียบกับค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปคือเศรษฐกิจสหรัฐจะรับมือได้หรือไม่หากเงินดอลลาร์และผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทองต่ำสุด10เดือน

ราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ใกล้ระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือนครึ่งที่ 1,134.18 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยสัปดาห์นี้ราคาทองคำร่วงลงไปมากกว่า 2% และทำท่าจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน

นายเจียง ชู นักวิเคราะห์แห่งชานตงโกลด์กรุ๊ป กล่าวว่าผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีแรงมาก และคาดว่าราคาทองจะอยู่ในระดับต่ำไป

เงินบาทอ่อนรอบ2เดือน

ส่วนเงินบาทไทย วานนี้ปิดตลาดที่ 35.75-76 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากราคาปิดวันก่อนหน้า แต่ยังคงเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 3,671 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดหุ้น 1,980 ล้านบาท โดยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านนี้ ซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,090 ล้านบาทและขายหุ้นสุทธิ 5,198 ล้านบาท

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเงินทุนไหลออกจากจีนมากขึ้น เป็นการไหลออกจากทั้งเงินทุนต่างชาติและเงินของนักลงทุนจีนเองที่นำไปลงทุนในต่างประเทศ เงินที่ไหลออกต่อเนื่องส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ลดลงราว 8 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน

“ช่วงนี้จีนเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมาต่อเนื่อง เพราะต้องการชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวน แม้จะมีการเทขายดอลลาร์เพื่อประคองเงินหยวน แต่เงินหยวนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลว่าจีนจะถูกกดดันจากสหรัฐฯ ในด้านการค้าและจะยิ่งทำให้เงินหยวนอ่อนค่าแรงต่อเนื่องในปีหน้า นักลงทุนจึงอยากนำเงินออกนอกประเทศไปก่อนที่หยวนจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้”

หวั่นหยวนกดดันบาท

นายอมรเทพ กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินหยวน อาจเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคมากกว่าปัจจัยในเรื่องของเฟด ซึ่งผลกระทบตรงนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยมองว่าปลายปีหน้าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตามระยะสั้น อาจจะมีเงินทุนไหลกลับเข้าลงทุนในภูมิภาคได้ หากความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจึงความระมัดระวังความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองว่า กรอบสัปดาห์หน้าน่าจะอยู่ที่ระดับ 35.55-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ในวันที่ 19 ธ.ค.และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทยในวันที่ 21 ธ.ค. รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันที่ 22 ธ.ค. โดยมองว่า กนง.และบีโอเจ จะยังคงนโยบายการเงินตามเดิม แต่มีแนวโน้มที่ บีโอเจ อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินน้อยลงหลังจากที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ส่วน จีดีพีสหรัฐถ้ายังโตมากกว่า 3% ในไตรมาส3 น่าจะส่งผลบวกกันค่าเงินดอลลาร์ต่อไป