“TTA-PSL” ฝ่ามรสุมเดินเรือ ดัชนีค่าระวางฯดิ่ง 30 ปี

“TTA-PSL” ฝ่ามรสุมเดินเรือ ดัชนีค่าระวางฯดิ่ง 30 ปี

ดัชนีค่าระวางเรือดำดิ่งรอบ 30 ปี ฉุดธุรกิจเดินเรือขาดทุนหนัก TTA พลิกเกมสู้ เล็งหาเพื่อนใหม่ ขยายสู่สตาร์ทอัพ ขณะ PSL รุกบริหารซัพพลายเรือ

ดัชนีค่าระวางเรือ” หรือ Baltic Dry Index (BDI) เดินเข้าสู่ “ยุคขาลง” อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์ม หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสในปี 2551 จากเคยสร้างรอยยิ้มให้วงการเรือขนส่งทางทะเล หลังการค้าทั่วโลกต้องพึ่งพาขนส่งทางทะเล 90% ของปริมาณขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ด้วยการทะยานขึ้นไปสร้าง “สถิติสูงสุด” ที่ระดับ 7,065 จุด ในปี 2550 

แต่ปัจจุบันดัชนีค่าระวางเรือเคลื่อนไหวเฉลี่ย 1,198 จุด หลังเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ปรับตัวลงไปสัมผัส “จุดต่ำสุด” ในรอบ 30 ปี ที่ระดับ 300 จุด 

ค่าระวางเรือต่ำเตี้ย จากภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลในวงกว้าง สะท้อนผ่านความต้องการขนส่งสินค้าที่มีตัวเลขหดตัว เป็นเหตุให้ในช่วงที่ผ่านมา “ฮันจิน ชิปปิ้ง” บริษัทชิปปิ้งขนาดใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นรายใหญ่อันดับ 7 ของโลก เข้าสู่โหมด “ล้มละลาย” หลังประสบปัญหา “ขาดทุนหนัก” โดยในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2559 ขาดทุนแล้ว 4.73 แสนล้านวอน หรือ 423 ล้านดอลลาร์ 

ขณะที่ผู้ประกอบการเดินเรือรายใหญ่ในต่างประเทศบางราย จำต้องหยุดซื้อเรือใหม่ และหันมา “ควบรวมกิจการ” เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ เช่น “เมอส์กไลน์” บริษัทเดินเรืออันดับหนึ่งของโลก รวมถึง นิปปอน ยูเซ็น เคเค,มิตซุย โอ.เอส.เค.ไลน์ส และคาวาซากิ คิเซน ไคชา เป็นต้น ซึ่งการควบรวมกิจการจะทำให้สามารถควบคุมธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือของโลกได้ประมาณ 7% หลังมีจำนวนเรือมากเกินความต้องการจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัว

ไม่เว้น 2 เบอร์ใหญ่ในธุรกิจเดินเรือของไทยอย่าง บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA และ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง หรือ PSL ประสบปัญหา “ขาดทุนหนัก” โดยในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2559 โดยขาดทุน 254 ล้านบาท และ 2,546 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 54 ล้านบาท และ 913 ล้านบาท ตามลำดับ 

แม้ว่า เมื่อพิจารณา“มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (Market Cap) ของ TTA  และ PSL กลับพบว่าเพิ่มขึ้น จากระดับ 13,941 ล้านบาท และ 8,576 ล้านบาท (วันที่ 4 ม.ค.2559) มายืนระดับ 17,222 ล้านบาท และ 13,331 ล้านบาท (วันที่ 2 ธ.ค.2559) เช่นเดียวกับราคาหุ้นขยับขึ้น จากระดับ 7.65 บาท และ 5.50 บาท มาอยู่ระดับ 9.45 บาท และ 8.55 บาท ตามลำดับ 

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า อุตสาหกรรมเรือเทกอง ยังได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมนำเข้าส่งออกถ่านหินและเหล็กที่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นมาช่วยแก้เกม หลังรัฐบาลจีนมีมาตรการจำกัดการผลิตในประเทศหนักในช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดปัญหามลพิษ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กในแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้กรุงปักกิ่ง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของค่าระวางเรือ ในช่วงที่ผ่านมาทั้ง TTA และ PSL มีความพยายาม “ปรับโครงสร้างธุรกิจ” เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ

ยกตัวอย่าง TTA ที่หันมาปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ ด้วยการให้น้ำหนักในสัดส่วนใกล้เคียงกันใน 3 ธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 

ดีลล่าสุดของ TTA คือ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ “ทีทีเอ สุเอซ” เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำดื่ม และให้บริการด้านการบำบัดน้ำเสีย โดย TTA ถือหุ้น 51% ที่เหลือ 49% ถือผ่าน Suez Environnement South East Asia Limited 

ขณะที่ PSL ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักโดยเป็นเจ้าของเรืออเนกประสงค์ขนาดเล็ก ขนาดแฮนดี้ไซส์ ซุปราแมกซ์ และขนาดอัลตราแมกซ์ สำหรับขนส่งสินค้าแห้งเทกองในตลาดการเดินเรือแบบไม่ประจำเส้นทาง ก็มีความพยายามปรับยุทธศาสตร์การทำงานใหม่เช่นกัน 

โดยเฉพาะการหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพกองเรือ ด้วยการลดอายุเฉลี่ยของกองเรือลดลงจาก 10 ปี เหลือ 5.22 ปี และขายเรือเก่าออกอีก 2 ลำ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี2560 เพื่อทำให้กองเรือมีความสมดุลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความพยายามแก้ปัญหาในหลากหลายทางของผู้ประกอบการ ไม่อาจทำให้ “ฐานะการเงินพลิกเป็นบวกได้ภายใน 1-2ปีนี้” แม้ดัชนี BDI ในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอุปสงค์ที่ดีขึ้นในระยะสั้น หลังช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ประเทศจีนนำเข้าแร่เหล็ก และถ่านหินเพิ่มขึ้น 9.1% และ 15.3% ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้น 2.7% ขณะที่การผลิตเหล็กลดลง 0.3% เหล่านักวิเคราะห์หลายสำนัก ประเมินเช่นนั้น 

นั่นอาจเป็นเพราะ ทิศทางตลาดยังคงย่ำแย่ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปทาน สะท้อนผ่านตัวเลข “กองเรือเทกองโลก” ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น จากระดับ 771.90 ล้านเดทเวทตัน เป็น 785.78 ล้านเดทเวทตัน คิดเป็นการขยายตัว 1.77% 

ขณะเดียวกันยังมีกำหนดส่งมอบเรือภายในปี 2559 อีก 4.8% หรือ 36.94 ล้านเดทเวทตัน และมีกำหนดส่งมอบเรือภายในปี 2560 อีก 4.92% หรือ 37.99 ล้านเดทเวทตัน ซึ่งการส่งมอบเรือในจำนวนดังกล่าว หากคำนวณอัตราการส่งมอบล่าช้าที่ 55% ของการส่งมอบ และตั้งสมมติฐานที่ว่า การปลดระวางเรือมีอัตราสูงถึง 34.70 ล้านเดทเวทตัน 

เท่ากับว่า สิ้นปี 2559 และสิ้นปี 2560 จะมีกองเรือเทกองสุทธิอยู่ระดับ 793.68 ล้านเดทเวทตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.82% และ 785.22 ล้านเดทเวทตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.07% ตามลำดับ 

ตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่า อุปทานไม่ดีอย่างหวัง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า ปีนี้อัตราขยายตัวของกองเรือโลกจะติดลบ

“เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ “โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์” แสดงความเห็นผ่าน “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า อุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุลกันในขณะนี้จะทำให้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า บริษัทเดินเรือต่างชาติบางแห่งอาจต้องการควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

พร้อมกับยอมรับว่า ในส่วนของ TTA อาจพิจารณาเรื่องการจับมือเป็น “พันธมิตร” กับบริษัทอื่นๆ เมื่อเห็นโอกาสที่เหมาะสม ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ 

ตามแผนงานบริษัทยังคงเดินหน้าหาโอกาสที่ดีในการขยายสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจกลุ่ม Startups 

ทว่าเขาไม่ยอมเผยรายละเอียดของดีล !

เมื่อถามถึงมุมมองที่มีต่อธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกองในปี 2560 เขาอธิบายว่า ความต้องการขนส่งสินค้าอาจสูงขึ้น ขณะที่จำนวนเรือในท้องตลาดที่มีอัตราการตัดเป็นเศษซากจะสูงขึ้นเช่นกัน หลังสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอาจอยู่ในลักษณะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนผ่านการที่หลายประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งนโยบายของแต่ละประเทศอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ยังคาดการณ์ว่า ปีหน้าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจปรับตัวขึ้น จากระดับ 43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2559 เป็นประมาณ 50.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 

“ขนส่งสินค้าแห้งเทกองสิ้นปีนี้อาจโตจากปีก่อนเฉลี่ย 2 % แม้ต้นปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะกดดันให้ดัชนีต่ำสุดในรอบ 30 ปี หลังจีนลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหิน และแร่เหล็ก รวมถึงราคาน้ำมันตกต่ำในรอบ 10 ปีก็ตาม” 

“กรรมการผู้จัดการใหญ่ TTA” ยังบอกถึงการปรับตัว ท่ามกลางอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สอดคล้องกัน หลักการสำคัญที่นำมาใช้ทำงานในช่วงนี้ คือ 1.สร้างความแข็งแกร่งมั่นคงให้กับธุรกิจหลัก เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ 2.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในทุกภาคส่วน และ 3.ลดต้นทุนการดำเนินการ และควบคุมค่าใช้จ่าย

โดยเรื่องที่ต้องยอมรับ คือ ปีหน้าธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกองต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมากอีกปีหนึ่ง ฉะนั้นหากต้องการยืนหยัดอย่างมั่นคง นอกจาก “โทรีเซน ชิปปิ้ง” ต้องเชี่ยวชาญในการบริหารกองเรือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อทำให้อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน สวนทางกับเจ้าของเรือรายอื่นที่ประสบปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือที่ทำได้แล้ว 

บริษัทต้องปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของกองเรือ โดยการขายเรือบางลำที่มีอายุมากและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงออกไป รวมถึงอาจพิจารณาทดแทน ด้วยเรือที่ใหม่กว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดอายุของกองเรือ และค่าใช้จ่ายให้น้อยลง ขณะเดียวกันต้องเน้นให้บริการขนส่งสินค้าเทกองใน“เส้นทางการค้ายุทธศาสตร์”เพราะจะให้ผลกำไรได้ดีกว่า 

โดยที่ผ่านมาได้ขายเรือเก่าไปแล้ว 4 ลำ เพื่อนำไปตัดเป็นเศษซาก ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพและลดอายุของกองเรือ ส่งผลให้ในขณะนี้ “โทรีเซน ชิปปิ้ง” มีเรือที่เป็นเจ้าของอยู่ 20 ลำ โดยมีขนาดเฉลี่ยเท่ากับ 52,555 เดเวทตัน และมีอายุเฉลี่ย 11.43 ปี ส่วนเรือใหม่ยังไม่มีแผนสั่งต่อ แต่อาจซื้อเรือมือสองที่สภาพดีมาเพิ่มเติม

“เรากำลังจะขยายฐานลูกค้าไปในเวียดนาม บังคลาเทศ และตะวันออกกลาง หลังที่ผ่านมามีลูกค้ารายใหญ่อยู่ในอินเดีย และจีน ขณะเดียวกันยังมองเห็นโอกาสในการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ (projects) ในทวีปอเมริกาเหนือ”

“เฉลิมชัย” ไม่ลืมที่จะพูดถึงแผนงานสำหรับ “ธุรกิจให้บริการวิศวกรรมใต้ทะเล” ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ว่าจะยังคงใช้นโยบายรักษาฐานกลุ่มลูกค้าเดิมไว้ ควบคู่กับนโยบายการลดต้นทุนการดำเนินการ 

สำหรับ “ธุรกิจปุ๋ย” ประเทศเวียดนาม ซึ่งดำเนินการผ่าน บมจ.พีเอม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ หรือ PMTA ยังคงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับ TTA อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเวียดนามจะประสบปัญหาภัยแล้งจนทำให้ปริมาณการขายในประเทศลดลงเล็กน้อย แต่ทาง PMTA ก็สามารถเพิ่มยอดส่งออกได้สูงขึ้น และสร้างผลกำไรที่ดี 

PMTA ยังคงเน้นเพิ่มยอดขายในเวียดนาม และเพิ่มการส่งออกในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตดี เช่น ประเทศแถบแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น”

ส่วน “ธุรกิจถ่านหิน” ซึ่งดำเนินการผ่าน บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หรือ UMS บริษัทได้ปรับโครงสร้างทางการเงิน และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย พร้อมกับการขยายการให้บริการด้านโลจิสติกส์มากขึ้น ทำให้หนี้สินลดลง และเริ่มมีกำไร

เขายังทิ้งท้ายว่า แม้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2559 ดัชนี BDI จะอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันยังต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจวิศวกรรมใต้ทะเลของบริษัท แต่ที่ผ่านมา TTA ได้ดำเนินกลยุทธ์การบริหารด้านการตลาดและจัดการต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

ฉะนั้นเชื่อมั่นว่า ผลประกอบการสิ้นสุดปี 2559 จะออกมาดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 21,698 ล้านบาท และมีผลขาดทุน 11,335 ล้านบาท สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2559 ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย ประกอบกับดัชนี BDI ได้ขยับขึ้นเกือบ 60% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า

“ธุรกิจขนส่งทางเรือผ่านจุดต่ำสุดของวัฏจักรมาแล้ว” และ “กำลังปรับสู่สมดุลในช่วงต่อไป” เขาเชื่อเช่นนั้น

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 อาจขยายตัวต่อเนื่อง โดยโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในเขตเมือง และการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นต่างๆ ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2560 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาลงทุนในไทยมากขึ้น”

-----------------

“Underweight” หุ้นเดินเรือ

“วชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียเวลท์  แสดงความเห็นว่า กิจการเรือเทกองยังไม่น่าสนใจมากพอ สำหรับการลงทุนในช่วงนี้ แม้ราคาหุ้นบางตัวจะปรับตัวลดลงอย่างมากแล้วก็ตาม 

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะ “ซัพพลายยังคงล้นตลาด” แม้ดีมานด์จะฟื้นตัวตามสินค้าหลักที่ทำการขนส่ง เช่น ถ่านหินและเหล็ก แต่ยังมีตัวเลขไม่มากพอที่จะทำให้ฐานะการเงินของบริษัทเดินเรือเทกองเกิดการ “เทิร์นอะราวด์” หรือทำกำไรเติบโตอย่างจริงจัง 

เพราะสินค้าหลักที่ฟื้นตัวเป็นเพียงการจัดการด้านซัพพลายของทางการจีนเท่านั้น ขณะที่ดีมานด์ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างร้อนแรง เท่ากับว่า อานิสงส์ที่ส่งผลมาให้ธุรกิจเดินเรือยังทำได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้นต้องรอดูสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าต่อเนื่องต่อไป 

เมื่อถามถึงเรื่องที่นักลงทุนต้องจับตาดู เธอขยายความว่า เรื่องการปลดระวางเรือในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 หากตัวเลขไม่เพิ่มขึ้นอาจเห็นตลาดเรือเทกองซบเซาอย่างมากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 

เนื่องจากเดือนม.ค.ของทุกปี จะมีการส่งมอบเรือมากกว่าเดือนอื่นๆ ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อสต็อกถ่านหินและเหล็ก เพื่อป้องกันการขาดแคลนในช่วงที่ราคาเป็นขาขึ้น

แนะนำให้หันไปลงทุนในกลุ่มถ่านหิน และกลุ่มเหล็ก มากกว่ากลุ่มเดินเรือ โดยหุ้นกลุ่มเดินเรือเรายังแนะนำให้ “ลดน้ำหนักการลงทุน” (Underweight) ต่อไป”

ขณะที่รายการตอนหนึ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักภาคอุปทานของ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง ระบุว่า อู่ต่อเรือจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป จากสภาพตกต่ำของตลาดเรือเทกอง ตลาดเรือคอนเทนเนอร์ และตลาดธุรกิจนอกชายฝั่ง 

สะท้อนผ่านจำนวนสัญญาสั่งต่อเรือในปี 2559 ที่ต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งการสั่งต่อเรือที่ลดลง ถือเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมเดินเรือต้องการ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน