'เฟด'ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ไทยไร้ผลกระทบ

'เฟด'ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ไทยไร้ผลกระทบ

"เฟด" ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณขยับอีก 3 ครั้งปีหน้า ดันดอลลาร์แข็งสุดรอบ 14 ปี "อภิศักดิ์” มั่นใจไทยไร้ผลกระทบ เหตุภูมิคุ้มกันแกร่ง

คณะเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ว่า มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระหว่าง 0.50-0.75% โดยให้เหตุผลถึงตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานลดลง นอกเหนือจากระดับเงินเฟ้อ ที่ขยับตัวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% เร็วขึ้น

การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือเป็นการขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2558 และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี ซึ่ง นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ระบุว่า เป็นเหมือนการลงมติแสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

“เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นเหมือนการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่น ที่ธนาคารมีต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงการตัดสินใจของเราว่า ความก้าวหน้านี้จะดำเนินต่อไป”

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดว่า เฟดอาจปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้นในปี 2560 หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียง ทั้งเรื่องการลดภาษี และใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว และเร่งอัตราเงินเฟ้อให้ทะยานขึ้นเร็วกว่าเดิม

“เฟด”ชี้ความไม่แน่นอนมีสูง

นางเยลเลน ได้แสดงท่าทีเห็นด้วยถึง ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอาจเปลี่ยนแปลงนโยบาย และว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายบางคนได้ปรับมุมมอง และแนวโน้มด้านการคลังไปตามนโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์

เธอบอกว่า สภาพในปัจจุบันมีปัจจัยความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย ตระหนักดีว่า มีความไม่แน่นอนอย่างมากถึงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐในอนาคต รวมถึง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจด้วย

ส่งสัญญาณขึ้นอีก3ครั้งปีหน้า

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้เฟดปรับคาดการณ์ว่าในปีหน้า อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง แทนที่จะเป็น 2 ครั้ง เหมือนกับที่ได้คาดไว้เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเมื่อถึงช่วงสิ้นปี 2560 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ อาจจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.4% และอาจมีการปรับขึ้นไปจนเกือบถึงระดับ 2.1% ในปี 2561

ดอลลาร์แข็งสุดรอบ14ปี

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ยังส่งผลให้เงินดอลลาร์ ในตะกร้าเงินสกุลหลักๆ แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยค่าเงินดอลลาร์ ที่ตลาดโตเกียว ญี่ปุ่น วานนี้(15 ธ.ค.) แข็งค่าขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ 102.270 เยนต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2546 เป็นต้นมา ขณะเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.2% ที่ 1.0512 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังจากก่อนหน้านี้ร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนที่ 1.0468 ดอลลาร์ต่อยูโร

ส่วนเงินบาทเปิดตลาดวานนี้(15ธ.ค.) อ่อนค่าลงตามค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ มาปิดตลาดที่ 35.77 บาทต่อดอลลาร์ จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 35.59 บาทต่อดอลลาร์ และถือเป็นระดับอ่อนค่าสุดรอบ 2 เดือน ขณะที่นักค้าเงินมองว่า แนวโน้มเงินบาทในวันนี้(16ธ.ค.) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้อีก

‘อภิศักดิ์’ชี้ไทยไร้ผลกระทบ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะไม่สร้างปัญหาให้กับภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้ว่าสหรัฐจะเป็นประเทศขนาดใหญ่และมีการใช้เงินดอลลาร์ทั่วโลก โดยเมื่อสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผลที่ตามมา ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ

ส่วนกรณีของไทย ถือว่ามีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก และสภาพคล่องในประเทศก็มีสูง หากภาครัฐต้องการลงทุน ก็สามารถใช้เงินทุนในประเทศได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินต่างประเทศ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงินในการลงทุนของรัฐ

“ถ้ามองถึงผลกระทบต่อต้นทุนเงินกู้ของเราจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้น ถือว่า มีผลน้อย เพราะเรามีเงินในกระเป๋าที่สามารถนำไปใช้ได้ แต่ถ้าเราจำเป็นต้องกู้ แน่นอนว่า ก็มีผลแน่” นายอภิศักดิ์กล่าว

กรณีคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีหน้า นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่การคาดการณ์ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการปรับตัว ซึ่งรวมถึง ค่าเงินบาทที่จะต้องมีการปรับตัวด้วย

เชื่อทุนไหลออกน้อย

ส่วนผลกระทบต่อเงินทุนไหลออกนั้น ไม่น่าเป็นประเด็น เพราะเงินต่างประเทศในไทยมีน้อย ขณะที่ หนี้ต่างประเทศของไทยก็น้อยด้วย โดยอยู่ที่ 4% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด จึงมีผลต่อเงินไหลออกน้อย ทำให้ไม่กระทบค่าเงินบาทนัก ส่วนหนี้ภาคเอกชนที่เป็นดอลลาร์นั้น ก็เป็นหนี้เงินกู้ที่นำไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรายได้ที่กลับมาก็เป็นเงินตราต่างประเทศเช่นกัน

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณของไทยยังคงทำแบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นการเติบโตของประเทศให้สามารถขยายตัวได้ 4-5% ตามศักยภาพ เมื่อใดที่ภาคเอกชนพร้อมที่จะลงทุน นั่นหมายความว่า ภาครัฐจะสามารถลดบทบาท การทำงบประมาณก็จะสามารถเข้าสู่จุดสมดุลได้ คาดการณ์ว่า นับจากนี้อีก 8 ปี ข้างหน้า งบประมาณของไทยจะเข้าสู่จุดสมดุล

“การทำงบประมาณสมดุลนั้น จะทำได้ต่อเมื่อประเทศสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ถ้าไม่สามารถโตได้อย่างนั้น เครื่องยนต์ทำงานไม่เต็มที่ เราก็จะทำงบประมาณสมดุลยาก ขณะนี้ ภาครัฐต้องนำร่องการลงทุน เมื่อไหร่ที่เอกชนพร้อมลงทุน ก็หมายความว่า เศรษฐกิจจะสามารถโตได้อย่างยั่งยืน รายได้ภาครัฐก็จะมากขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐจะน้อยลง ถึงจุดนั้น เราจะทำงบประมาณสมดุลได้”

‘บัณฑูร’ชี้ดบ.ไทยไม่ควรรีบขึ้น

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่เงินบาทอ่อนก็ส่งผลดีต่อการค้าของไทย แต่ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงต้องจับตาดูเงินทุนไหลออกด้วย

ส่วนการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธปท.คงต้องให้น้ำหนักกับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหากจะยืดระยะเวลาการปรับดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน ก็เป็นเรื่องดี เพราะเงินบาทอ่อนไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า หลังการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ คาดว่าเฟดคงจะปรับขึ้นต่ออีก2-3 ครั้งในช่วงครึ่งหลังปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ(ยีลด์เคิร์ฟ) ขยับขึ้น ซึ่งของไทยก็คงเริ่มขยับด้วย ทำให้มีเงินไหลออกบางส่วน ส่งผลให้สภาพคล่องในประเทศที่เคยมีมากเริ่มลดลง แต่คงไม่ถึงกับแห้ง

บาทอ่อนน้อยกว่าภูมิภาค

นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดมากนัก แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด คือ การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้

สำหรับผลกระทบกับไทย คงมีผลต่อตลาดการลงทุน โดยเฉพาะค่าเงินและผลตอบแทนตราสารหนี้(บอนด์ยีลด์) โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์

อย่างไรก็ตามหากเทียบกับภูมิภาค มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น จากภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่อง รวมทั้งหนี้ต่างประเทศที่อยู่ระดับต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีค่อนข้างมาก โดยมองว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปลายปีหน้าจะมีระดับการอ่อนค่าไม่เกิน 35.9 บาทต่อดอลลาร์

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ผลประชุมเฟดรอบนี้ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ รวมทั้งการส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นในปีหน้า จึงเห็นได้ว่า ผลกระทบต่อตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเงินบาทโดยรวม ไม่ได้มีมากนัก

“ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับมากนัก สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ส่วนหนึ่งอาจเพราะตลาดรับรู้ข่าวไปบ้างแล้ว”

อย่างไรก็ตามแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า อาจไม่ได้มาจากปัจจัยเรื่อง เฟด มากนัก สิ่งที่ต้องจับตา คือ การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินหยวนจีน เพราะหากเงินหยวนยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จะสร้างแรงกดดันให้กับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงเงินบาทของไทยด้วย โดยสำนักวิจัยฯ มองการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยในปีนี้ไว้ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ และปีหน้าที่ 37 บาทต่อดอลลาร์

“ระยะยาวแล้ว เงินบาทน่าจะมีทิศทางอ่อนค่าอยู่ เพียงแต่ระยะสั้น ระหว่างนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า อาจมีบางช่วงที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ จากการเข้ามาแสวงหาการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จึงอยากเตือนนักลงทุนว่า อย่ามองเงินบาทจะอ่อนค่าในทิศทางเดียว เพราะความผันผวนยังคงมีอยู่”