กรมอนามัยแจง 'พรบ.โค้ดมิลค์' ต้องคุมอาหารทารก-เด็กเล็กถึง3ปี

กรมอนามัยแจง 'พรบ.โค้ดมิลค์' ต้องคุมอาหารทารก-เด็กเล็กถึง3ปี

กรมอนามัยยัน “พรบ.โค้ดมิลค์” ต้องคุมอาหารทารก-เด็กเล็กถึง 3 ปี ย้ำเจตนารมณ์มุ่งคุมโฆษณา-การตลาดผู้ผลิตผู้นำเข้า สกัดโฆษณาข้ามสินค้า

จากกรณีที่เครือข่ายกุมารแพทย์ ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ...(พรบ.โค้ดมิลค์) โดยมีความเป็นห่วงและไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น อาทิ การคุมโฆษณาและการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กถึงอายุเด็ก 3 ปี เสนอให้คุมเพียง 1 ปีเท่านั้น รวมทั้ง กังวลว่าเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์จะไม่สามารถให้ข้อมูลในเรื่องนี้ได้ เด็กที่จำเป็นต้องได้รับนมทางการแพทย์อาจไม่มีโอกาสได้รับ และการควบคุมจะครอบคลุมถึงนมและอาหารอื่นๆ เช่น นมกล่อง นมเปรี้ยว หรือผักและเนื้อสัตว์ที่เด็กต้องรับประทาน

ล่าสุด นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามกินหรือห้ามขายนมผงแต่อย่างใด แต่เจตนารมย์ของกฎหมายต้องการที่จะควบคุมการโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่เกินจริงรวมถึงการตลาดที่เป็นการลด แลก แจก แถม การที่ต้องกำหนดให้อาหารทารกและเด็กเล็กครอบคลุมถึงอายุเด็ก 3 ปี เนื่องจากประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ที่ออกตามพรบ.อาหาร พ.ศ.2522 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นการควบคุมโฆษณานมสูตร1และสูตร 2ก็ควบคุมครอบคลุมถึงอาหารสำหรับเด็ก 3 ปีด้วยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การออกกฎหมายใหม่เป็นพรบ.จึงไม่ควรกำหนดให้ครอบคลุมน้อยกว่าประกาศอย. อีกทั้ง คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(ฮู)ก็แนะนำให้ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุเด็ก 3 ปี และมีการศึกษายืนยันทั้งในประเทศไทยและประเทศออสเตรเลียว่ามีการโฆษณาในลักษณะข้ามสินค้า(Cross Promotion)เกิดขึ้นจริง

“แม้ปัจจุบันจะมีประกาศอย.ควบคุมโฆษณานมสูตร1 สำหรับทารก 0-12 เดือน และสูตร2 สำหรับเด็ก 6 เดือน – 3 ปี อยู่แล้ว แต่ต้องออกกฎหมายใหม่เป็นพรบ. เนื่องจากพบว่าปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตและนำเข้านมผงยังมีการโฆษณาอยู่ โดยเพิ่มสูตรเป็นนมสูตร 3 สำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไปและทุกคนในครอบครัวแต่นมสูตร 3จะมีสัญลักษณ์สินค้าเหมือนหรือคล้ายกับนมสูตร 1 และสูตร 2 จึงเป็นการโฆษณาข้ามสินค้า เพราะเมื่อแม่เห็นสัญลักษณ์ของนมสูตร 3 แต่เมื่อไปเดินซื้อเห็นสัญลักษณ์นมสูตร1 สูตร2ที่เหมือนกับสูตร 3ก็ทำให้ซื้อนมสูตร1และสูตร 2 ได้ทั้งที่เห็นจากโฆษณาของนมสูตร 3 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดในกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมถึงอาหารเด็ก 3ปี” นพ.ธงชัยกล่าว

ต่อข้อถามกลุ่มกุมารแพทย์เสนอให้มีการแก้ประกาศอย.แยกให้ชัดเจนระหว่างสัญลักษณ์นมสูตร 1,2 และสูตร 3 แทนการกำหนดในร่างพรบ. นพ.ธงชัย กล่าวว่า ประกาศอย.จะครอบคลุมเพียงเรื่องการโฆษณาเท่านั้น จะไม่แก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะในร่างพรบ.ใหม่นี้จะครอบคลุมถึงการส่งเสริมการตลาดด้วย เพราะฉะนั้น การออกเป็นพรบ.ใหม่จะครอบคลุมภาพรวมทั้งการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาด อีกทั้ง หากมีการกำหนดเช่นนั้นอาจเข้าข่ายการกีดกันทางการค้า

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กลุ่มกุมารแพทย์มองว่าร่างพรบ.นี้จะครอบคลุมถึงการควบคุมนมกล่อง นมโรงเรียน นมเปรี้ยวหรืออาหารอื่นๆด้วยหากไม่นิยามให้ครอบคลุมเฉพาะอาหารเด็กไม่เกิน 1ปี นพ.ธงชัย กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องของการตีความที่ผิด เนื่องจากเจตนารมณ์ของร่างพรบ.นี้มีความชัดเจนว่าจะไม่รวมถึงอาหารหรือนมอื่นๆที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์นมกับอย. จะครอบคลุมเพียงแค่นมเฉพาะที่ใช้สำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็กกับอย.เท่านั้น และระบุไว้ชัดบนฉลากว่าสำหรับเด็กที่อายุ0-3ปี ผลิตภัณฑ์นมทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นนมพาสเจอไรซ์หรือยูเอชทียี่ห้อต่างๆ เช่น นมจิตรลดา นมเปรี้ยว โยเกิร์ตไม่รวมอยู่ในขอบเขตของร่างพรบ.นี้ นอกจากนี้ นมสำหรับทารกและเด็กเล็กที่จำเป็นทางการแพทย์ที่เด็กต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ ยังสามารถรับบริจาคจากบริษัทผู้ผลิตนำเข้าได้เช่นเดิม

“ร่างพรบ.ใหม่นี้มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการโฆษณาเกินจริงและการส่งเสริมการตลาดของบริษัทผู้ผลิตและนำเข้า แต่ไม่ได้ห้ามการให้ข้อมูลหรือการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ยังสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เช่นเดิมและถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะกระทำโดยมีเจตนาโฆษณาก็จะมีความผิด การที่ระบุว่าโรงพยาบาลเข้าข่ายเป็นผู้ผลิตและทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถให้ข้อมูลได้นั้นเป็นการตีความที่ผิด เพราะโรงพยาบาลไม่ใช่ผู้ผลิต ในส่วนของผู้ผลิตหมายถึงบริษัทในต่างประเทศที่มีอยู่ไม่กี่บริษัทเท่านั้น ”นพ.ธงชัยกล่าว