“BASIC TEEORY” จิวเวลรี่หรูจาก “ขยะ”

“BASIC TEEORY” จิวเวลรี่หรูจาก “ขยะ”

คุณค่าของจิวเวลรี่ไม่ได้อยู่ที่“วัสดุ”ที่นำมาทำ แต่ถ้ามองด้วยความเคารพและให้เกียรติ แม้แต่ขยะเหลือทิ้งก็พร้อมเป็นจิวเวลรี่ทรงคุณค่าขึ้นมาได้

สร้อยคอหรู ส่องประกายวับวาวไม่ต่างจากเพชร ผิดกันก็แต่ทำมาจากเศษแก้ว เศษกระจก และก้อนกรวด ผลงานล่าสุดของ BASIC TEEORY(เบสิค ทีออรี่) ที่เคยเนรมิต “กระดาษ” เป็นเครื่องประดับสุดหรูมาแล้ว

ส่วนตัวเชื่อว่า คุณค่าของจิวเวลรี่ไม่ได้อยู่ที่ ทำมาจาก ทอง เงิน หรือ เพชรพลอย แต่ทุกวัสดุล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เราต้องมองอย่างให้เกียรติ ไม่มองเป็นขยะ ซึ่งหน้าที่ของเราคือ ดึงเอา ‘คุณค่า’ ของวัสดุที่ทุกคนมองข้ามออกมาโชว์ให้ได้”

คำบอกเล่าจาก “ตี๋-วรชัย ศิริวิภานันท์” เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ BASIC TEEORY ถึงที่มาของธุรกิจที่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน (ก่อตั้งปี 2014)

หลังเรียนจบสิ่งทอมาจาก Birmingham Institute of Art and Design (BIAD) ประเทศอังกฤษ เขาทำงานเป็นนักออกแบบผ้าที่ใช้ตกแต่งภายในให้กับบริษัทคนไทยอยู่พักหนึ่ง ก่อนย้ายมาร่วมงานกับดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย ออกแบบผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านจากวัสดุที่หลากหลายขึ้น

“ที่นี่เขาใช้วัสดุเยอะมาก ทั้ง เซรามิก ไม้ ผ้า คริสตัล พลาสติก ฯลฯ เรียกว่าแทบจะทุกวัสดุเลย ซึ่งไอเดียของการนำวัสดุที่คนหลงลืมมาทำก็เริ่มจากตรงนี้ ที่เห็นว่ามีเศษวัสดุเหลือทิ้งในโรงงานเยอะมาก ซึ่งไม่สามารถนำมาผลิตของขายลูกค้าได้แล้ว จึงคิดถึงการนำเศษวัสดุเหล่านี้มาทำ..จิวเวลรี่”

เรื่องสนุกของการนำวัสดุนอกสายตา มาทำเป็นจิวเวลรี่เลยเริ่มจากตรงนั้น โดยมีผลงานชิ้นแรกคือ กระดาษรีไซเคิล ที่ไม่เพียงพัฒนารูปแบบให้สวยแปลกตา จนไม่ขัดเขินเวลาสวมใส่ ยังรวมถึงพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งาน เช่น ทำให้ทนทานขึ้น กันชื้น กันน้ำได้มากขึ้น เพื่อสนองตอบผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นด้วย

จนมาถึงคอนเลคชั่น ที่ดึงเอา เศษแก้ว เศษกระจก ก้อนกรวดรายทาง มาทำเป็นเครื่องประดับ ที่ “สะกดสายตา” ได้ไม่ต่างจากเพชร

“บางคนบอกว่า คุณคิดผิดตั้งแต่ต้นแล้วที่เอาแก้วมาทำ เพราะมันแตกง่าย แล้วทำไมจะต้องไปตีกรอบว่า จิวเวลรี่ แตกไม่ได้ล่ะ เพราะจริงๆ ฟังก์ชั่นของมันก็คือความสวยงามใช่ไหม อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไร ให้แก้วไม่แตกง่าย และทนทานขึ้น ซึ่งก็ต้องไปคิดหาวิธีเอา นี่คือวิธีคิดแบบเรา สิ่งที่คนไม่คิดที่จะทำ ฉันจะทำ เท่านี้ก็แตกต่างแล้ว” เขาบอกความต่างที่เกิดจากการคิดสวนทางจากคนอื่น

หลังเจอสิ่งที่อยากทำ คนหนุ่มตัดสินใจ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” ยอมลาออกจากงานประจำมาทุ่มกับธุรกิจเต็มตัว โดยเปิดตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง ไลน์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ค “basicteeory” ก่อนขยายโอกาสให้กว้างขึ้น หลังทำตลาดแบบโฟกัส ผ่านการซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊ค จนทำให้รู้ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เลยได้ทำตลาดไปทั้งใน เบลเยียม ฝรั่งเศส  อิตาลี และสเปน มีตลาดหลักอยู่ที่ เยอรมัน และออสเตรเลีย ส่วนในไทยก็ขายตามร้านค้าในโรงแรม หรือบูทีคโฮเทลตามต่างจังหวัด ที่เจาะตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปเป็นหลัก ส่วนราคาขายส่งอยู่ที่ตั้งแต่ 1,000-4,000 บาท ประกาศความเป็นราคาของสวยงามที่จับต้องได้

นอกจากการแสวงหาหนทางเพิ่มมูลค่าให้กับขยะบนโลก ในฐานะดีไซเนอร์ เขายังนำพาตัวเองไปสร้างคุณค่าให้กับสังคมแง่มุมต่างๆ ล่าสุดก็ได้ร่วมกับกลุ่ม Is an Artist” ผู้ใช้ศิลปะเป็นเครื่องเยียวยารักษาจิตใจ โดยการนำศิลปะไปช่วยเหลือน้องๆ ที่เจ็บป่วยในด้านต่างๆ เช่น เด็กพิการ เด็กออทิสติก เด็กติดเชื้อ HIV ตลอดจนเด็กน้อยที่ถูกทำร้ายทางจิตใจ

“ตอนแรกรู้สึกว่าน้องๆ กลุ่มนี้น่าสนใจดีนะ เลยอยากจะช่วยซื้อภาพเขียนของเด็กๆ ไว้ แต่พอได้ไปคุยจริงๆ พบว่าคนที่เขาเข้าไปเยียวยา ไม่ใช่แค่เด็กที่ด้อยโอกาสธรรมดา แต่เป็นเด็กด้อยโอกาสทางสังคม เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี แม้แต่เด็กที่ถูกทำร้าย เลยอยากที่จะนำงานศิลปะของน้องๆ มาทำเป็นจิวเวลรี่”

ที่มาของการคัดผลงานจากเด็ก 10 คน มาทำเป็นคอนเลคชั่น พร 10 ประการ หรือปรารถนา 10 ประการ ของเด็กๆ เรื่องสนุกครั้งใหม่ ของ BASIC TEEORY ซึ่งคนทำบอกว่า น่าจะเริ่มเห็นกันได้ในปีหน้า โดยอาจต้องใช้เวลาพัฒนางานอยู่พักใหญ่ เพราะผลงานมีหลายชิ้น แต่นี่ก็เป็นความตั้งใจจริงที่เขาอยากริเริ่ม

“เราจะพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กๆ ซึ่งบางมุมอาจไม่ใช่ความทุกข์ แต่เป็นความสุขเล็กๆ ที่ตัวเราเองอาจไม่คิดเลยด้วยซ้ำว่านั่นคือ ความสุข แต่สำหรับน้องๆ เหล่านั้น นี่อาจเป็นความสุขใกล้ๆ ตัวของเขา ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เราอยากทำออกมาเป็นคอนเลคชั่นของงานจิวเวลรี่ โดยที่รายได้จะนำมาช่วยกลุ่ม Is an Artist  เพื่อให้น้องๆ ได้ทำงานต่อไปด้วย” เขาบอกความมุ่งมั่น

วรชัย บอกเราว่า เขาอาจเป็นแค่แบรนด์เล็กๆ เลยมีกำลังเพียงเท่านี้ ก็ขอช่วยเท่าที่จะช่วยได้ เพราะน้องๆ ที่เข้าไปทำงานเพื่อสังคม ก็จำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่จะเข้าไปทำงานเหล่านี้เช่นเดียวกัน โดยหวังว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นกับผลงานคอนเลคชั่นนี้ จะเป็นอีกแรงที่จะไปต่อยอดการทำงานของน้องๆ ให้กว้างขึ้น

ขณะในมุมมองของการทำธุรกิจนับจากนี้ เขาว่า ไม่ได้อยากทำสินค้าที่เป็นแค่เรื่องของการค้าอย่างเดียว ทว่าอยากให้สินค้าทุกตัวสะท้อน “คุณค่าทางจิตใจ” ส่งไปยังผู้คนในสังคมด้วย

“อยากให้ทุกคนรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว คุณค่าของงานไม่ใช่แค่วัสดุ แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจบางอย่าง ซึ่งนี่เป็น อีกไดเรคชั่นหนึ่งของ BASIC TEEORY ที่จะสร้างคุณค่าของเครื่องประดับ ในแง่ที่ให้ ‘คุณค่าทางจิตใจ’ ด้วย” เขาบอก

“BASIC TEEORY” เลียนเสียงคล้ายคำว่า Theory ที่แปลว่า ทฤษฎี แต่ใช้ TEE ที่มาจาก “ตี๋” ชื่อของเขา สะท้อนทฤษฎีที่เรียบง่ายของผู้ชายชื่อตี๋ คนที่เชื่อว่า คุณค่าของงานจิวเวลรี่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าวัสดุที่นำมาทำ ทว่าหากมองกันด้วยความเคารพ มองด้วยหัวใจ ทุกวัสดุล้วนมีคุณค่าในตัวเองทั้งนั้น

เหมือนที่พวกเขาพิสูจน์ความสวยงามให้เห็นแล้ว