‘Drivemate’ โลกใบใหม่ธุรกิจเช่ารถ

‘Drivemate’  โลกใบใหม่ธุรกิจเช่ารถ

เชื่อไหมว่าใช้เงินแค่ 5 หมื่น ก็ได้รถยนต์เฟอร์รารี่ไปขับ และทำได้ง่ายๆ เพียงใช้บริการเช่ารถออนไลน์ในเว็บไซต์ www.drivematethailand.com

สโลแกนของ Drivemate (ไดร์ฟเมท) ก็คือ แบ่งปัน เพื่อสิ่งที่ดีกว่า สะดวก ง่าย ปลอดภัย เป็นธุรกิจที่ช่วยให้คนไม่มีรถได้เช่ารถจากเจ้าของรถโดยตรง ขณะที่เจ้าของรถก็มองว่าควรเอารถมาสร้างรายได้ดีกว่าการจอดทิ้งไว้พอนานวันเข้าราคาของมันก็มีแต่ “ลด”


เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เกาะคลื่น Sharing Economy ที่มาพร้อมกับยุคดิจิทัล คือเป็นการแบ่งปันรถยนต์กันใช้ โดยฝั่งหนึ่งไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็สามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตัวเองมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว สตาร์ทอัพดังอย่าง Airbnb และ Uber ก็คือต้นแบบที่ทำธุรกิจในคอนเซ็ปต์นี้


ธัญญธร ฐิติเศรณี Co-Founder ของไดร์ฟเมท เล่าว่าโมเดลธุรกิจการให้เช่ารถออนไลน์เกิดขึ้นแล้วในหลายๆประเทศ แต่ก็ยังไม่เห็นมีในไทย เธอกับแฟน ( ศิลป์รัฐ สุขวัฒนศิริ CEO &Founder) เลยสนใจคิดจะทำขึ้นมา ในช่วงเริ่มต้นทีมของของไดร์ฟเมท มีแค่เพียงสามคนเท่านั้น อีกคนเป็นโปรแกรมเมอร์และได้ช่วยกันพัฒนาเว็บไซต์เป็นเวลาเกือบปี จนสามารถลอนซ์สู่ตลาดได้จริงเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา


"ตอนแรกก็กลัวว่ามันเป็นธุรกิจใหม่คนไทยอาจไม่เข้าใจ แต่ผิดคาดมันกลายเป็นว่าคนไทยเข้าใจ เพราะที่จริงมีธุรกิจนี้แล้วในไทยแต่ทำเป็นออฟไลน์ ถือว่าเราไปเทิร์นธุรกิจที่เคยเป็นออฟไลน์มาเป็นออนไลน์และมุ่งเน้นเรื่องของความเชื่อถือ โดยทำทุกอย่างเป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับเว็บของต่างประเทศ"


การเข้ามาทำในธุรกิจนี้ยังได้พบความประหลาดใจอีกหลายอย่าง ธัญญธรบอกว่าเดิมทีทีมงานเคยคิดว่ารถที่สนใจเข้ามาอยู่ในระบบน่าจะเป็นรถราคาถูก แต่เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่รถอีโคคาร์แต่ไดร์ฟเมทยังมีรถระดับซูเปอร์คาร์อย่างเฟอร์รารี่,เบนท์ลี่ย์ หรือ พอร์ช ให้เช่าด้วย


เธอยอมรับว่าตอนที่ออกไปสำรวจตลาดถามความต้องการของฝั่งเจ้าของรถ ก็ได้มุ่งตรงไปที่พนักงานเงินเดือนที่มีรถก่อนเป็นอันดับแรก เพราะน่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องการรายได้เสริม เนื่องจากมีเงินเดือนไม่เยอะมากนัก แถมแต่ละเดือนก็มีค่าใช้จ่ายมากมาย โดยเงินส่วนหนึ่งก็ต้องเจียดเอามาผ่อนรถ มีค่าน้ำมันรถ ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ฯลฯ


"ซึ่งเราก็คิดถูกส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยรู้เลยว่าในความเป็นจริงคนรวยๆ ก็อยากจะหารายได้เหมือนกัน คือไม่เคยคิดว่าคนรวยจะกล้าเอารถมาปล่อย ซึ่งเราโฆษณาในช่องทางเฟซบุ๊ค ในกูเกิล พอเขาเห็นก็ติดต่อเข้ามาเอง ว่าเขามีรถเยอะมาก มีหลายคันอยากปล่อยให้เช่า บางคนเขาคิดว่าถ้ารถมันจอดไว้เฉยๆก็มีแต่ค่าเสื่อม ตรงกันข้ามกับคนที่รักรถมากคงไม่มีทางปล่อยให้เช่าซึ่งเขาก็ไม่ใช่ทาร์เก็ตของเรา"


ใช้ระยะเวลาไม่กี่เดือน เวลานี้ไดร์ฟเมทก็มีรถให้เช่าในระบบแล้วกว่า 500 คัน และสามารถขยายพื้นที่ให้บริการได้ถึง 30 จังหวัดแล้ว


ระบบการให้บริการของไดร์ฟเมทเองก็ไม่ได้มีความซับซ้อน สำหรับผู้ที่สนใจจะปล่อยรถให้เช่าก็สมัครลงทะเบียนได้เลยในเว็บไซต์ แล้วอัพรูปรถขึ้นเว็บพร้อมกับตั้งราคา ทางไดร์ฟเมทจะมีข้อมูลที่เป็นราคากลางเพื่อไกด์แนะให้รู้ว่าควรตั้งราคาค่าเช่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ซึ่งรถแต่ละยี่ห้อในแต่ละรุ่นจะมีราคาที่แตกต่างกันออกไป


“แต่ฝั่งคนเช่ามักจะโทรเข้ามา เพราะคนไทยยังติดการโทรอยู่ และถามว่ามีรถว่างไหม ซึ่งเรามีคอลเซ็นเตอร์ไว้คอยตอบลูกค้าว่ามีคันไหนที่ว่างตลอด 24 ชั่วโมง”


ไดร์ฟเมทในฐานะคนกลาง จะทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนทั้งสองฝ่าย และแทนที่ผู้เช่าจะต้องเดินทางไปรับรถเอง ขณะที่รถในระบบของไดร์ฟเมทซึ่งเป็นรถบ้านซึ่งเป็นบ้านมีอยู่ทุกหนทุกแห่งยากต่อการเดินทาง ทางไดร์ฟเมทจึงช่วยจัดการ ด้วยการมองหารถบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันกับผู้เช่าไว้ให้บริการ


จุดต่างของไดร์ฟเมทอยู่ที่กติกาที่กำหนดไว้ว่า เจ้าของรถจะเป็นฝ่ายขับรถเพื่อไปส่งรถให้ผู้เช่าด้วยตัวเอง


"ขณะที่เราจะช่วยเจ้าของรถสกรีนผู้เช่าว่าเป็นใคร มีประวัติเป็นอย่างไร เขาจะใช้เดินทางไปที่ไหน เราจะช่วยสกรีนให้ทุกอย่าง ถ้าวันไหนที่มีคิวลูกค้าต้องการใช้รถ เราจะติดต่อเจ้าของรถ ให้ข้อมูลผู้เช่าพร้อมกับถามเขาว่าอยากปล่อยไหม เขาโอเคไหม สุดท้ายเจ้าของรถจะเป็นคนตัดสินใจ"


นอกจากนี้ ไดร์ฟเมทยังได้พาร์ทเนอร์กับ “แอลเอ็มจี ประกันภัย” เพื่อคุ้มครองให้กับทุกการเช่า เป็นการประกันเชิงพาณิชย์เป็นรายวัน เพราะปกติรถทั่วไปจะมีประกันภัยรายปี


“เรามีประกันดับเบิ้ลให้อีกชั้น ถ้ามีเหตุอะไรเกิดขึ้นจากการเช่าก็เคลมได้จากแอลเอ็มจีเพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเบี้ยประกันรายปี”
สำหรับค่าเช่ารถของไดร์ฟเมทจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่วันละ 500 บาท ไปจนถึง 5 หมื่นบาท และมีค่ามัดจำคันละ 5 พันบาทไปจนถึง 2 หมื่นบาท


อย่างไรก็ตาม ธัญญธร ก็ยังพบด้วยว่า คนไทยที่แม้จะมีบัตรเครดิตแต่ก็ยังนิยมจ่ายเป็นเงินสด ชอบโอนเงินมากกว่าการรูดบัตร ต่างไปจากฝรั่งหรือชาวต่างชาติที่จะถือบัตรเครดิตไม่ถือเงินสด โดยปริยายทำให้ไดร์ฟเมทจับกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกับรถให้เช่าแบรนด์ดังจากต่างประเทศ


สำหรับรายได้ของไดร์ฟเมทจะมาจากสองทาง หนึ่ง เป็นค่าคอมมิชชั่นจากฝั่งเจ้าของรถ 25% สอง จะเก็บค่าฟี 300 บาทจากฝั่งผู้เช่าต่อหนึ่งทรานแซ็คชั่น


เมื่อถามถึงหลักไมล์ที่จะวิ่งไป เธอบอกว่าแผนระยะสั้นภายในปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีรถในระบบถึงหลัก 700 คัน ส่วนปีหน้าได้ตั้งเป้าไว้ที่ 2 พันคัน ซึ่งกำลังจะไปจับมือกับเต้นท์รถมือสองที่มีรถค้างจำนวนมาก ซึ่งรถมือสองต้องเสียแวตเยอะ ถ้าปล่อยเช่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า


"เรากำลังเปลี่ยนชื่อเว็บด้วยเพราะชื่อเก่ามันยาวไปเป็นไดร์ฟเมทเอเชียที่สั้นขึ้น และจะลอนซ์ฟีเจอร์ใหม่ก็คือ ไดร์ฟเมทแอด จับกลุ่มคนที่มีรถแต่ไม่อยากปล่อยรถให้คนอื่นเช่า ก็สามารถสร้างรายได้ด้วยการติดโฆษณาไว้บนตัวรถ เพราะเรามองว่าธุรกิจเอสเอ็มอีไม่มีงบมากพอจะไปซื้อบิลบอร์ดใหญ่ๆ แต่เอาโฆษณามาติดบนรถในระบบของเราได้" 

ปีหน้าไดร์ฟเมทจะลอนซ์แอพพลิเคชั่นออกมาด้วย ส่วนเหตุผลที่พัฒนาเป็นเว็บก่อน เนื่องจากเห็นพฤติกรรมคนไทยที่ชอบไปค้นหาคำว่าเช่ารถในเว็บไซต์กูเกิลเป็นส่วนใหญ่ เอาเข้าจริง ธัญญธร มองว่าแอพเป็นภาพลักษณ์ที่ช่วยทำให้หน้าตาธุรกิจดูดีเท่านั้น


เธอบอกว่า สตาร์ทอัพต่างประเทศถือเป็นต้นแบบที่ดี แต่สุดท้ายแล้วการทำธุรกิจก็ต้องมองตลาดให้ออก ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ทีมไดร์ฟเมทมาจับตลาดรถเช่าเพราะมันเป็นตลาดใหญ่ ลำพังตลาดไทยนั้นมีมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านบาท


“เราต้องมองหาคนกลุ่มกว้าง ดูธุรกิจหลักหมื่นล้านขึ้น มาร์เก็ตต้องใหญ่พอ ถ้าเราคิดจะไปกิน 1-2% มันก็เยอะ คืออย่าคิดทำอะไรที่มันนิชมาก”


จากนั้นก็ต้องเร่งสร้างจุดเด่น ซึ่งไดร์ฟเมทจะคิดค่าเช่าเรทเดียวตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นช่วงไฮหรือโลว์ซีซั่น ทั้งยังมีบริการผ่อนชำระ มีประกันภัยรายวัน รวมถึงจะชูเรื่องของบริการส่งรถให้ถึงบ้าน อีกทั้งยังมีคอลเซ็นเตอร์คอยตอบทุกปัญหาของลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

คว้ารางวัลเอสเอ็มอีแบงก์

ไดร์ฟเมทเข้าร่วมแข่งแผนธุรกิจ “The Angel Biz Challenge” โครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ บล.โนมูระ พัฒนสิน,เอสเอ็มอีแบงก์,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพราะอยากได้ความรู้และที่สุดก็คว้ารางวัลของเอสเอ็มอีแบงก์


"เราได้ประโยชน์จากโครงการนี้หลายเรื่อง เราได้เพื่อนใหม่ที่ทำสตาร์ทอัพด้วยกัน เพราะบางทีมเขาเคยไปแข่งหลายโครงการมาช่วยแชร์ไอเดียและประสบการณ์ที่แตกต่างไป หลักๆที่ชอบมากๆก็คือ โค้ชที่เก่งและช่วยแนะแนวทางดีๆให้ เรายังได้เน็ตเวิร์คจาก 4 หน่วยงานที่จัดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งพอแข่งขันจบเราก็ยังสามารถขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา และจะนำเอาเงินรางวัลที่ได้รับจากเอสเอ็มอีแบงก์ 1.5 แสนบาท ไปพัฒนารูปแบบบริการให้ดียิ่งขึ้น"