‘ทีวี’สื่อหลัก-ออนไลน์เทรนด์โต

‘ทีวี’สื่อหลัก-ออนไลน์เทรนด์โต

กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจัดทำรายงานการวิจัย “มีเดีย โปรไฟล์ 2016”  

ที่ศึกษาแนวโน้มสื่อทุกแพลตฟอร์ม พร้อมพฤติกรรมการบริโภคสื่อและการสื่อสารต่อแบรนด์สินค้า ที่มีผลต่อการจับจ่าย และวางแผนด้านสื่อที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด 

โดยเป็นการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกครอบคลุมทั้ง การจับจ่ายเข้าบ้าน (Take Home) และการซื้อเพื่อการบริโภคนอกบ้าน (Out Of Home ) ผ่านนวัตกรรม“กันตาร์ แอพ -Panel Smart” ที่พัฒนาบนสมาร์ทโฟนเพื่อเก็บข้อมูล พฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มตัวอย่าง 4,000 ราย ซึ่งใช้เป็นตัวแทนแสดงผลของผู้บริโภค 23 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ทำวิจัยสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทุกช่องทาง ประกอบด้วย ทีวี 21 สถานี แยกเป็นฟรีทีวี 11 สถานีและเคเบิลอีก 10 สถานี สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ไทย 25 เว็บ เฟซบุ๊คและยูทูบ โดยวิเคราะห์ถึงการรับสื่อจาก มือถือ คอมพิวเตอร์ หนังสือพิมพ์/นิตยสาร/วิทยุ หนังสือพิมพ์ 17 สำนักพิมพ์ นิตยสาร 25 สำนักพิมพ์

อิษณาติ วุฒิธนากุล  ผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัทกันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าจากการวิจัยพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค พบว่า“ทีวี” ยังเป็นสื่อหลักเข้าถึงผู้บริโภคสูงสุดที่ 97-98% ตามมาด้วย “วิทยุ” ซึ่งมีสัดส่วนคงที่ ปีก่อน 68% ปีนี้ 67%

โดยสื่ออินเทอร์เน็ตมีอัตราเพิ่มขึ้น จาก 46% ปีก่อน เพิ่มเป็น 59% ปีนี้ ในจำนวนนี้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน 56%, พีซี /แล็ปท็อป 13% และแทบเล็ต 6%

ขณะที่หนังสือพิมพ์ปีก่อน 60% ปีนี้ลดลงมาที่ 53% เช่นเดียวกับ นิตยสาร จาก 38% ลดลงมาที่ 32%

ทางด้านเวลาการเสพสื่อรายประเภท เปรียบปี 2558 และ ปั 2559 ประกอบด้วย “ทีวี” จาก 3.8 ชั่วโมง/วัน ลดลงเหลือ 3.4 ชั่วโมงต่อวัน ,วิทยุ จาก 2.5 ชั่วโมง/วัน เหลือ 1.7 ชั่วโมง/วัน การใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้าน จาก 2 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ชั่วโมง/วัน ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตนอกบ้าย จาก 1.4 ชั่วโมง/วัน เพิ่มเป็น 1.6 ชั่วโมง/วัน

พบว่ากลุ่มที่ดูทีวีประจำทุกวันมีสัดส่วน 87% กลุ่มชนบทรับชมทีวีสูงสุด ขณะที่พฤติกรรมผู้ชมกรุงเทพฯ ดูทีวีเฉลี่ย 1-4 วันต่อสัปดาห์ ส่วนหัวเมืองอยู่ที่ 3-4 วันต่อสัปดาห์

โดยช่อง7 และช่อง 3 ได้รับความนิยมสูงสุด ส่วน “ทีวีดิจิทัล”ช่องใหม่ เรทติ้งสูง คือ เวิร์คพอยท์ ,โมโน,ช่องวัน ,ช่อง8 และช่อง3 เอสดีเติบโตต่อเนื่องในอัตราตัวเลข 2 หลัก

ปีนี้สถิติการเป็นเจ้าของ“สมาร์ทโฟน” ขยายตัวสูงทั่วประเทศ โดยเปรียบเทียบสัดส่วนปี2556 กับปี 2559 ในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วประเทศจาก 19% เพิ่มเป็น 67%, กรุงเทพฯจาก 39% เพิ่มเป็น 90% ,หัวเมืองจาก 30% เพิ่มเป็น 82% และชนบทจาก 10% เพิ่มเป็น 53%

ผู้ใช้สมาร์ทโฟน 77% ซื้อแพ็คเกจดาต้า พร้อมใช้อินเทอร์เน็ต/ไวไฟที่บ้าน 36%, ฟรีไวไฟ สาธารณะ 26% , ฟรีไวไฟ ออฟฟิศ 6% และแชร์อินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟนอื่น 1%

นอกจากนี้พบว่าสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟน 23% ไม่มีแพ็คเกจดาต้า ในจำนวนนี้ 13% ใช้สมาร์ทโฟนโดยไม่ใช้อินเทอร์เน็ต และ 10% ใช้ฟรีไวไฟ สาธารณะ ไวไฟที่บ้านและออฟฟิศ  

สำหรับกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟนแต่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากปัจจุบันมือถือส่วนใหญ่เป็นสมาร์ทโฟนและมีราคาถูก ผู้บริโภคจึงสามารถซื้อเพื่อใช้งานได้มากขึ้น

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยไม่ยึดติดกับ “เฟซบุ๊ค” เพียงแหล่งเดียว และพบว่าใช้เวลาต่อการเข้าเฟซบุ๊คในแต่ครั้ง“สั้นลง” จาก 29.9 นาทีต่อครั้งในปีก่อน ปีนี้อยู่ที่ 23.5 นาทีต่อครั้ง แม้จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คเพิ่มขึ้น แต่การใช้เวลาในแต่ละครั้งที่ลดลงปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากมีกลุ่ม“ผู้สูงวัย” ใช้งานเฟซบุ๊คเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้ใช้เวลาต่อการเยี่ยมชมต่ำกว่ากลุ่มอื่น

ขณะที่การเสพสื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารมีความคงที่ในการใช้เวลาต่อวัน 

เปิดรับโฆษณาเฟซบุ๊ค

การวิจัยพฤติกรรมการใช้ “เฟซบุ๊ค” มีความเปลี่ยนแปลงด้านการเข้าถึงแบรนด์สินค้ามากขึ้น จากพฤติกรรมด้านกิจกรรมเดิมๆ ในปีที่ผ่านมาเน้นเฉพาะการเข้าโฮมเพจและนิวส์ฟีด ดูภาพ ดูโปรไฟล์และไทม์ไลน์ตัวเอง การแชทกับเพื่อน ดูวีดิโอ และติดตามไทม์ไลน์ของชาวบ้าน

พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊คปี 2559 มีการเยี่ยมชมแฟนเพจของแบรนด์สินค้าต่างๆ ดูโฆษณาของแบรนด์สินค้า ทำการคลิกโฆษณาแบรนด์สินค้าและก็มีความสนใจคลิก อีคอมเมิร์ช/ร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์สินค้ามากขึ้น

กิจกรรมหลัก 5 อันดับสูงสุดของการบริโภคสื่อ จะเหมือนกันในทุกช่องทางสื่อ คือ ใช้เพื่อแชท ออนไลน์,  ถ่ายรูป/อัพโหลดรูป, เสิร์ชหาข้อมูล,  ดูวีดิโอ, และเสพข่าวสารผ่านนิวฟีด  โดยอันดับกิจกรรมจะแตกต่างกันไปตามอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต พีซี/แล็ปท็อป

เมื่อพิจารณาการบริโภคกับการสื่อสารต่อแบรนด์ พบว่า“สื่อดิจิทัล" มีแนวโน้มเติบโต ขณะที่ “สื่อทีวี” ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องเช่นกัน โดย “กรุ๊ปเอ็ม”  ประเมินว่าปี 2560  โฆษณาผ่านสื่อทีวีและออนไลน์ยังมีทิศทางขยายตัว  

ขณะที่โฆษณาสื่อนิตยสารและหนังสือพิมพ์ลดลง ส่วนสื่อวิทยุ“คงที่”  โดยสื่อวิทยุจะใช้ได้ผลดีกับผู้บริโภคที่อยู่พื้นที่ต่างจังหวัดและเป็นผู้ใหญ่ ส่วนสื่อหนังสือพิมพ์ จับกลุ่มผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นหลัก และการโฆษณา ณ จุดขาย หรืออินสโตร์ มีอ้ตราเข้าถึงมากกว่าการโฆษณาบนสื่อรถขนส่งมวลชน