เผยยอดขอรับส่งเสริมลงทุนฯ10เดือน1.38แสนลบ.

เผยยอดขอรับส่งเสริมลงทุนฯ10เดือน1.38แสนลบ.

"รมว.อุตฯ โชว์ผลงาน 1 ปี มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนฯ 10 เดือน มูลค่าแตะ 1.38 แสนล้านบาท พร้อมชงครม.เร่งปลดล็อคอุปสรรคการลงทุน

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ครั้งที่4/2559 ว่า ที่ประชุมได้สรุปผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี เพื่อเตรียมนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา โดยข้อมูลเบื้องต้นในรอบ 10 เดือนปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท

โดยเป็นการขอรับส่งเสริมตามนโยบายคลัสเตอร์ จำนวน 144 ราย คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 138,000 ล้านบาท และเป็นการขอรับการส่งเสริมลงทุนของกิจการเป้าหมายที่ตั้งในพื้นที่คลัสเตอร์แต่ยังไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายคลัสเตอร์ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเพราะในช่วง 2 เดือนที่เหลือคาดว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติโครงการเพิ่มเติม

ทั้งนี้ พบว่า การส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายคลัสเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ยังจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนอีกหลายด้านจากภาครัฐ เช่น การวิจัยและพัฒนา(R&D) และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย ที่ต้องประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ เช่น สนามอู่ตะเภา ที่จะรองรับอุตสาหกรรมอากาศยาน เป็นต้น

รวมถึง การพัฒนาคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งการจะสนับสนุนให้เกิดการตั้งโรงงานนั้นในประเทศจะต้องมีความต้องการเกิดขึ้นก่อน โดยล่าสุด สถาบันไทยเยอรมัน ได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนากระบวนการผลิตไปสู่ระบบอัตโนมัติให้กับผู้ประกอบการแล้ว 50 ราย ขณะที่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 130 ราย ได้แจ้งขอรับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติเพิ่มเติม ซึ่งส่วนนี้จะต้องให้การสนับสนุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมลงทุนตามนโยบายคลัสเตอร์ฯ ยังมีอุปสรรคที่หลายภาคส่วนจะต้องร่วมแก้ไขปัญหา เช่น การปลดล็อคปัญหาผังเมือง ที่แม้ว่าจะใช้อำนาจตามมาตร 44 แต่ยังมีหลายขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาดำเนินการตามกฎหมาย ทำให้การลงทุนไบโอคอมเพล็ค ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและเคมีชีวภาพ ยังไม่สามารถเดินหน้าการลงทุนได้ รวมถึงต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เร่งรัดดำเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เป้าหมาย สำหรับ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ตามเงื่อนไขที่กำหนดให้กิจการผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต้องได้รับการขึ้นทะเบียน

นางอรรชกา กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งจัดทำรายละเอียดมาตรการที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อจะรวบรวมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติมาตรการต่างๆภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเอื้อให้การลงทุนตามนโยบายคลัสเตอร์บรรลุเป้าหมายผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า