เมกะเทรนด์หมุนโลก เพาะพันธุ์ธุรกิจล้ำยุค

เมกะเทรนด์หมุนโลก เพาะพันธุ์ธุรกิจล้ำยุค

กูรูเทศ อ่านกระแสโลก ตกผลึก 15 เทรนด์ ถอดสลักแบรนด์ตอบโจทย์นวัตกรรมสินค้า-บริการ ถึงใจผู้บริโภค ก้าวทันโลกยุคใหม่ ก่อนถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

โลกไร้พรมแดน เทคโนโลยีย่นย่อข้อมูลข่าวสาร ทำให้ผู้คนทั่วโลกก้าวข้ามเส้นแบ่งประเทศ วัฒนธรรมของตัวเอง หลอมรวมรสนิยม ความคิด ความอ่าน เข้าใกล้กันมากขึ้น นั่นทำให้การตัดสินใจของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีต่อแบรนด์เริ่มหันเหไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น

ดังนั้น แบรนด์ใหญ่ที่ข้ามผ่านอุปสรรคมาได้ นอกจากจะเป็นแบรนด์เก่ง ทุนหนา แล้ว แต่ยังต้องเป็นแบรนด์ที่พร้อม “ปรับตัว” ตามจริตผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ที่สำคัญต้องไม่ไม่ “ละทิ้ง” ความเป็นตัวตนของแบรนด์ (Brand Identity)  

นี่คือ ความยากที่เมื่อ “ถอดรหัส” แบรนด์ระดับโลก อย่าง แอปเปิ้ล (Apple) บีเอ็มดับเบิ้ลยู (BMW) สตาร์บัค (Starbucks) โคคา-โคลา (Coca-Cola), อูเบอร์ (Uber), มาสเตอร์การ์ด (Master Card), อินเทล (Intel) และฟูจิตสึ (FUJITSU) จะพบว่า สิ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จคือ การหาประโยชน์จากเทรนด์หรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น มาเชื่อมโยงกับธุรกิจได้อย่างลงตัว

“ต้องอ่านใจผู้บริโภคจากเทรนด์ ถ้าไม่ตามเทรนด์ก็เท่ากับหันหลังให้กับความต้องการผู้บริโภค ว่าง่ายๆ คือเทรนด์ คือ ทางลัดที่ธุรกิจจะตอบโจทย์ผู้บริโภค" นี่คือสิ่งที่ ดาเนียล ลาวีน (Daniel Levine) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์ระดับโลก ผู้บริหารสถาบัน Avant-Guide บรรณาธิการของเว็บไซต์ WikiTrend.org เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงด้านการวิเคราะห์เทรนด์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจ กล่าวเมื่อครั้งเดินทางมาเวิร์คช็อปทิศทางเทรนด์โลก ให้กับเหล่านักธุรกิจในไทย ให้หัดเป็นนักอ่านเทรนด์เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจ ที่เอ็ม อคาเดมี่ (M Academy) เมื่อเร็วๆนี้ 

นักอ่านเทรนด์โลกเช่นเชา ประเมินว่า “ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคถูกสอนให้คาดหวังสูง และเรียกร้องจากธุรกิจเข้มข้นขึ้น” โดยเรื่องเหล่านี้สัมพันธ์กับรายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในเอเชีย

ที่ดาเนียล ระบุว่า ภายในปี 2018 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้าประชากรในเอเชีย จะเป็นกลุ่มคนเมืองถึง 50% รายได้ที่มากขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค จากความปรารถนาก็สูงขึ้นตามไปด้วย

ผู้บริโภคในยุคหน้าจะมองข้ามความต้องการพื้นฐานตามทฤษฎีแรงจูงใจของมาสโลว์ ที่ระบุว่า มนุษย์มีความต้องการ 5 ขั้นคือ ได้แก่ ความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต ความมั่นคงปลอดภัย ความรักและการยอมรับ การยกย่องจากคนอื่น และขั้นสูงสุดคือ ความต้องการเข้าใจตนเอง (Self-Actualization)

โดยแนวโน้มสินค้าและบริการจะเริ่มดึงให้ผู้บริโภคไปถึง“จุดสูงสุด”ของความต้องการมากขึ้นในการควบคุมตัวเองด้วยกลไกอัจฉริยะ เช่น การผลิตอุปกรณ์เพื่อสำรวจสุขภาพตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน หรือการวัดอุณหภูมิร่างกายในแต่ละวัน เพื่อเตือนให้ดื่มน้ำ ในไม่ช้าเราจะเห็นอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ ติดตามตัวมนุษย์เพื่อช่วยให้มนุษย์สำรวจตรวจสอบตัวเองมากขึ้น

และนี่ก็ถือส่วนหนึ่งของเทรนด์ !

เขายังเชื่อว่า เทรนด์นี้จะยิ่งเข้มข้นขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะเข้ามาพลิกพฤติกรรมการใช้ชีวิต รสนิยม ความต้องการผู้บริโภค แบบหน้ามือเป็นหลังมือ 

เรากำลังมีชีวิตแบบเดียวกันแม้ธุรกิจจะแตกต่างกัน แต่เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีปฏิกิริยาต่อกระแสเดียวกัน มีส่วนร่วมกันเพราะข้อมูลสื่อสารมาจากทิศทางเดียวกัน” ดาเนียล ฉายภาพโลก (ประชากรโลกเกือบ 7,000 ล้านคน) ในมุมที่เล็กลงเรื่อยๆ

โดยเทรนด์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรม ค้นหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรเป็น “ตัวกระตุ้น” ความต้องการให้ผู้บริโภคตื่นเต้น จนเกิดความต้องการสินค้าและบริการ แล้วกลับมาวางกลยุทธ์“ตีโอบ”ผลิตสินค้าและบริการให้ตรงใจผู้บริโภค

“บริษัทใหญ่ระดับโลก 20 ประเทศรับแนวโน้มเหล่านี้และถอดรหัสเป็นไอเดียสินค้า บริการ สุดเท่ นวัตกรรมล้ำๆที่เกิดจากการเข้าใจกระแสใหม่ๆทำให้สินค้าแตกต่าง ขณะที่ผู้บริโภคยินดีที่จะสนุกไปพร้อมกับแบรนด์”

ดาเนียล สรุปกระแสนิยมหรือเทรนด์ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและการทำธุรกิจอย่างสิ้นเชิงได้ 15 แนวโน้มที่เพิ่มพลังผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ต่างกับ "ลูกบอลหิมะ (Snowball) ที่กลิ้งไปข้างหน้าด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น

1.เทรนด์รักษ์โลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรักธรรมชาติ (Green and Nature) เป็นกระแสที่เพิ่มขึ้นมากจาก 10 ปีที่ผ่านมา เพราะมนุษย์เมื่อยืนอยู่ในจุดสูงสุดก็เริ่มใส่ใจโลก โดยเฉพาะหนุ่มสาวรุ่นใหม่ อยากให้โลกน่าอยู่ขึ้นมากกว่าในยุคที่พวกเขาเติบโต

เทรนด์รักษ์โลกนี้แม้จะเบาบางในบางประเทศเพราะยังมีข้อจำกัดเรืองวัฒธรรมประจำท้องถิ่น แต่เทรนด์นี้ยังไงก็มา!

เช่นเดียวกับในไทยกระแสรักษ์โลกเริ่มเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นจุดที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะเป็นแบรนด์รักษ์โลก โดยราคายังเป็นตัวพลิกเกมสำหรับตลาดในไทย แต่หากมีแบรนด์สองแบรนด์มาแข่งกันในราคาเท่ากัน เช่น การล่องเรือ แบรนด์ที่บอกตัวเองว่าเป็นเรือสำราญรักษ์โลกจะถูกเลือกถึง 90%

ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดของแบรนด์ที่ทำเพื่อโลกแล้วธุรกิจเติบโต คือ ดิสโก้ หรือไนท์คลับชื่อ คลับวัตต์ (Club WATT) ในฮอลแลนด์ เจ้าของอิงกับกระแสกรีน จนหันไปคิดค้นฟลอร์เต้นรำ ที่ยิ่งเต้นมากเท่าไหร่ก็มีส่วนช่วยผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ในร้านมากขึ้นเท่านั้น ลูกค้าที่มาเต้นจึงรู้สึกสนุกและเต็มใจเข้ามาใช้บริการอย่างล้นหลาม

เจ้าของร้านยอมลงทุนเพื่อหวังขยายธุรกิจไปสู่การขายเทคโนโลยีฟลอร์เต้นรำกำเนิดกระแสไฟฟ้าไปให้กับไนท์คลับอื่นๆ ที่ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีขยายธุรกิจนี้ไปทั่วโลก

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างของกาแฟออร์แกนิค ที่มีพันธุ์เมล็ดกาแฟมาจากธรรมชาติก็ดึงความสนใจให้คนรักกาแฟมาลิ้มรสสูดกลิ่นกาแฟไร้สาร, รถเมล์มีสวนข้างบนหลังคา เป็นตัวอย่างดีๆที่หยิบเอากระแสธรรมชาติมาใกล้ชิดกับคน

2.เทรนด์ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) เรื่องคุณธรรม จริยธรรมจะถูกถามหาในกลุ่มคนทำธุรกิจมากขึ้น หลายแบรนด์จึงต้องออกแคมเปญเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ บริษัทรองเท้าแห่งหนึ่งบริจาครองเท้าให้กับเด็กหนึ่งคู่เมื่อมีลูกค้ามาซื้อรองเท้าหนึ่งคู่

หรือบริษัทเทเลคอมในเกาหลี ติดอุปกรณ์เชื่อมต่อกับโทรทัศน์ไปยังบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัยไปยังลูกหลานเพื่อคอยแจ้งเตือนหากไม่มีการเปิดทีวียามเช้าภายในเวลาที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทกอเรียเทเลคอมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์และช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกาหลีที่ให้คุณค่ากับครอบครัว

สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ คือ ทำแล้วต้องบอกให้ผู้บริโภครับรู้ว่าทำกิจกรรมอะไร หากไม่บอกก็เท่ากับว่าบริษัทล้มเหลว กลยุทธ์ให้คนไป “เล่าต่อ” โดยแบรนด์ไม่จำเป็นต้องบอกลูกค้าด้วยตัวเอง

เรื่องของการสร้างสังคมน่าอยู่ แบรนด์มีโอกาสสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าไว้วางใจได้ หากทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าบริษัทเป็นผู้นำด้านการรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Leadership) จะเป็นการทำงานเชิงรุกโดยการมองเห็นปัญหาที่แท้จริงแล้วเป็นผู้นำในการเข้าไปแก้ไขปรับปรุงสังคมให้น่าอยู่

เช่น ร้านขายยาแห่งหนึ่งในสหรัฐฯมีสาขากว่าหมื่นแห่ง ได้ยกเลิกการขายบุหรี่ ทั้งที่ทำเงินได้ถึง2,000 ล้านดอลลาร์ เพราะขัดกับธุรกิจหลักเน้นการดูแลสุขภาพ แล้วยังเป็นผู้นำในการตั้งศูนย์เลิกบุหรี่

หรือแม้กระทั่ง วอลโว่ ลุกขึ้นมาประกาศว่า ภายในปี 2020 จะไม่มีคนตายจากรถยนต์วอลโว่ พวกเขาจึงทุ่มเทสรรพกำลังเข้าไปพัฒนาโปรแกรมเก็บรวบรวมข้อมูลการขับขี่บนท้องถนนแบบเรียลไทม์ให้กับคนที่ขับรถวอลโว่ได้รู้สภาพถนน

ที่เด็ดสุดเห็นจะเป็น สายการบินบลูเจ็ท ที่หย่าศึกให้กองเชียร์พรรครีพับริกัน และเดโมแครตชั่วคราว เมื่อโดยสารบนเครื่องบิน พร้อมกับยื่นเงื่อนไขหากตกลงกันได้จะได้บินไปเที่ยวที่คอสตาริกาทั้งลำ เป็นแคมเปญที่จะบอกลูกค้าถึงความกล้าหาญของแบรนด์

3.เทรนด์ความเป็นของแท้ของจริง เนื้อแท้จากแหล่งกำเนิดสินค้าท้องถิ่น (Local Authenticity) สินค้าหรือของที่หาได้เฉพาะพื้นที่ซึ่งมีมนต์ขลังและเป็นที่ต้องการของคน ยิ่งเป็นงานทำมือ (Handmade) คนจะรู้สึกพิเศษถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เช่น พื้นที่กาแฟประจำท้องถิ่น ,โรงแรมในโตรอนโต้ ทำดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก เลี้ยงผึ้งเพื่อเอามาใช้ในโรงแรม โรงแรมแห่งนี้จึงไม่ได้ขายเฉพาะห้องพักแต่ขายประสบการณ์แปลกใหม่ หรือแบรนด์ จิม ทอมป์สัน ผ้าไหมก้องโลกมีดีไซน์เฉพาะท้องถิ่น

4.ประวัติศาสตร์ตำนาน และงานฝีมือที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น (Heritage & Craftsmanship) สิ่งที่มีอายุยาวนานเก่าแก่ล้วนยิ่งทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา เช่น รถหรูบีเอ็มดับเบิ้ลยู (BMW) ที่คนซื้อยอมจ่ายแพงเพราะรักและชื่นชมคุณค่าของประวัติศาสตร์ รวมถึงนาฬิกาอายุยาวนานอย่าง แท็ก ฮอยเออร์ (Tag Heuer) ไม่ใช่เพียงนาฬิกาที่สวมใส่บอกเวลาแต่มันคือคุณค่าทางจิตใจ เป็นมรดกตกทอดที่ส่งทอดไปสู่ลูกหลาน หรือแม้กระทั่งแบรนด์กุชชี่ (Gucci) ก็เป็นแบรนด์เก่าแก่ที่เป็นงานฝีมือที่มีความหมายกับชีวิตต่อลูกค้า

“เจ้าของแบรนด์สินค้าที่มีอายุยาวนานจะรู้สึกดี เพราะมีประวัติศาสตร์ตำนานยาวนานส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้ เป็นมรดกมากกว่าเพียงสินค้าเป็นคุณค่าที่อยู่สูงตามทฤษฎีของมาสโลว์”

5.เทรนด์สุขภาพ (Health) เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตสูง ที่สินค้าต้องล้อไปกับกระแสเหล่านี้ ยกตัวอย่างของโค้ก (Coca Cola)ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สลัดคราบของเครื่องดื่มทำงานสุขภาพโดยเป็นโค้กสูตรใหม่ที่นำความหวานจากหญ้าหวานมาเป็นส่วนผสม ไม่ใช้สารเคมี ตอบโจทย์เทรนด์ไปเต็มๆ แบบไม่ขัดแย้งกับกระแสใหม่

หรือการพัฒนาการพักผ่อนให้คนเดินทาง โดยให้สนามบินใหญ่ๆ หลายแห่งมีพื้นที่สำหรับโยคะ อาทิ สนามบิน ซานฟรานซิสโก , ชิคาโก, ดัลลาส , ลอนดอน, ฮ่องกง ในไม่ช้าจะขยายไปสู่สนามบินหลายแห่งทั่วโลก

6.เทรนด์ใส่ใจตัวเอง สำรวจตัวเอง (Monitoring Ourselves) ที่เห็นเด่นชัดคือ การชอบถ่ายรูปตัวเอง (Selfie) กระแสนี้มาพร้อมกับเทคโนโลยี ความชาญฉลาดของกล้องและวิดีโอ ที่ในไม่ช้าจะมีกระแสโดรน (Drone-อากาศยานไร้คนขับ) ขยับถ่ายวิดีโอตัวเองจากมุมสูง เทรนด์เหล่านี้นำไปสู่หลากหลายธุรกิจเกาะกระแส อาทิ กระแสทำศัลยกรรม เพราะอยู่หน้าจอและสำรวจตัวเองบ่อยจนไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ตัวเอง ในไม่ช้าจะเกิดอุปกรณ์อัจฉริยะตามติดตัวมนุษย์ที่คอยตอบสนองกระแสความการหันมาเรียนรู้ตัวเอง

เช่น อุปกรณ์วัดอุณภูมิตัวเราเชื่อมต่อกับสิ่งรอบกาย ไฟในบ้าน เพลงในรถ ที่เมื่อจับอุณหภูมิในร่างกายเรารู้ว่าอยู่ในภาวะอารมณ์ไหนก็จะเปลี่ยนสี เปิดเพลงไปตามอารมณ์ของเราในขณะนั้น อย่างอัตโนมัติ

“ไอเดียต่างๆที่ฟังดูหลุดโลก แต่ไม่เกิน 5ปีข้างหน้าได้เห็นมนุษย์กับเครื่องจักรเป็นสิ่งเดียวกันมากขึ้น”

7.เทรนด์ความโปร่งใสในการทำธุรกิจ (Transparency) หมดยุคของการที่ธุรกิจจะควบคุมสารหรือโฆษณาที่ผู้บริโภคควรรับ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้บริโภครับรู้รายละเอียดของสินค้าและบริการในทุกแง่มุม

ชัดเจนที่สุด คือ การให้โทรศัพท์ถ่ายทอดสดขณะดูคอนเสริต หรือถ่ายภาพส่งให้เพื่อนได้เห็นไปพร้อมกัน

แม้กระทั่งซื้อสินค้าจะมีแอพพลิเคชั่นสำหรับสแกนบาร์โค้ดเปรียบเทียบราคาประกอบการตัดสินใจ ความโปร่งใสยังถูกนำใช้ไปในการให้คะแนนสินค้าหรือรีวิวหลังการใช้บริการทันที ไม่ว่าแท็กซี่ อูเบอร์(Uber) แกร๊บ(Grab) หรือแม้กระทั่งห้องพักจากทริปแอดไวเซอร์

8.เทรนด์ความเชื่อมโยงผู้บริโภคอย่างมีความหมายและคุณค่า (Meaningful Connections) เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการปฏิสัมพันธ์กับคน เทรนด์นี้จึงเกิดขึ้นจากการสื่อสารกันอย่างเข้มข้นในโลกโซเชียล จนทำให้เราได้เห็นตัวตนของเพื่อนบนโลกออนไลน์ใกล้ชิดและลึกซึ้งมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องคิดสินค้าบริการที่เป็นผู้เชื่อมต่อผู้คนและทำเงินได้ไปพร้อมกัน

เช่นร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ชื่อร้าน แมชเมกเกอร์ คาเฟ่ (match makercafé ) นอกจากเปิดร้านกาแฟแล้วยังบริการจับคู่ลูกค้าที่มีทัศนคติตรงกันเหมาะสมกัน โดยการนั่งสนทนาเพื่อค้นหาบุคลิกของลูกค้าแล้วจัดนัดบอดกันในร้านกาแฟแห่งนี้

หรือแอร์บีเอ็นบี (AirBnb) ธุรกิจห้องพักจากผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน หรือคอนโด มาปล่อยทำเป็นโรงแรม เป็นสิ่งที่สร้างประสบการณ์ทำให้คนพักรู้สึกเชื่อมต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดีกว่าการพักในโรงแรม 

9.เทรนด์เทคโนโลยีเชื่อมต่อวิถีชีวิต (Technological Connections) ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อีกไม่นานเราจะเห็นเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของคน ที่มีความฉลาดอัจริยะ เรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ เช่น คอยบันทึกว่าตื่นกี่โมง ออกจากบ้านกี่โมง กลับบ้านกี่โมง เพื่อที่จะรองรับการทำงานเปิดอุปกรณ์ แอร์หรือไฟได้เอง เพียงแค่เจ้าของบ้านกลับมาถึงบ้าน เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไปจะทำงานเชื่อมต่อกับการสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน หรือในไม่ช้าจะได้เห็นหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนที่คน ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในบางประเทศก็สามารถเช็คอินและป้อนรหัสผ่านมือถือได้ทันที รวมถึงรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

"วัฒนธรรมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากในอีก5ปี จะเห็นเทคโนโลยีอัจริยะเกิดขึ้นในไทย แม้จะน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศแต่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว”

10.ความมีอัตลักษณ์ พิเศษ โดดเด่นไม่ซ้ำใคร (Uniqueness) ลูกค้าปัจจุบันต้องการสินค้าที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น คือการขายประสบการณ์ที่ให้ลูกค้าไปคุยโม้โอ้อวดได้ถึงการเข้าไปใช้บริการสินค้า เช่น เก้าอี้ไม่เหมือนใคร เริ่มมีวิวัฒนาการปรับตัวไปตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น บริษัทอดิดาส พัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรองรับคำสั่งซื้อสินค้าที่ลูกค้าไปออกแบบความต้องการรองเท้า สี และพื้นได้ในเว็บไซต์ นี่คือตัวอย่างของธุรกิจที่ไม่ต้องไปคุยกับลูกค้าทุกคน เพียงแต่สร้างเครื่องมือเพื่อรองรับความต้องการพิเศษของลูกค้า

11.สินค้าที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะบุคคล (Personalization) มีการพัฒนาสินค้าที่หรือบริการบางอย่างเพื่อลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จึงต้องเปิดโอกาสให้คนออกแบบสินค้าและบริการในแบบของตัวเอง อดีตการทำเช่นนี้แพงมาก แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาทำให้ลูกค้าเข้าถึงการบริการได้ เช่น บริการปั๊มน้ำมันสำหรับผู้หญิง หรือพัฒนาที่จอดรถกว้างๆสำหรับผู้สูงอายุ หรือผลิตภัณฑ์รองเท้าตามสั่ง หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่อ่านใจผู้ชายที่ขี้เกียจเดินซื้อของก็รวมเอาของใช้สำหรับผู้ชายทุกแบบมาไว้ในที่เดียวกัน

12.เทรนด์ความเรียบง่าย (Simplicity) ในสังคมที่มีแต่ความเร่งรีบ วุ่นวาย และฉับไว เราต้องการสินค้าและการบริการที่เข้าถึงง่าย ทำให้ชีวิตสะดวกสบายง่ายขึ้น เช่น ไอโฟนพัฒนาการใช้ให้ง่ายดาย เพียงปุ่มกดปุ่มเดียว หรือ ร้านวอลล์กรีน ร้านขายยาขนาดใหญ่เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทขนส่ง เพื่อให้บริการเชื่อมต่อกับลูกค้าโดยพร้อมจัดส่งยาไปทันทีเมื่อว่าลูกค้าป่วย 

13.เทรนด์รวดเร็ว ง่ายดายและว่องไวทันใจ (Quick & Easy) โลกของความเร่งรีบที่ลูกค้ารอไม่ได้ ลูกค้าต้องการสิ่งที่รวดเร็ว จึงต้องออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ความทันสมัยและรวดเร็ว เช่น สิงคโปร์ ร้านเชฟอินเดอะบ็อกซ์ มีตู้รับสั่งอาหารหยอดเหรียญที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

14.เทรนด์ความบันเทิงสนุกสนาน (Entertainment) เช่น เมื่อผู้คนชอปปิงออนไลน์มากขึ้น ห้างจะถูกเปลี่ยนไปรองรับคนที่ต้องการพื้นที่สนุกสนานทำกิจกรรม เข้าไปลองชุด จัดแสดงสินค้าที่ลูกค้าและครอบครัวต้องการ เป็นพื้นที่นัดพบปะสร้างประสบการณ์ร่วมกัน

และ 15.ความหรูหรามั่งคั่ง (Flashy Wealth) ความหรูหรา จะถูกนิยามใหม่ ไม่ใช่กลุ่มคนร่ำรวย แบบซูเปอร์ริช ชอบใช้เงินซื้อสินค้าและบริการแบบวัตถุนิยม อีกต่อไป แต่นิยามของความหรูหรา อวดรวย จะวัดกันที่ประสบการณ์ ซึ่งแบรนด์ควรคิดวิธีส่งมอบความหรูหราให้คนระดับมหาเศรษฐี เช่น แคมเปญของ อาร์มานี่ เวอร์ซาเช่ กุชชี่ มอชชิโน่ จัดกิจกรรมพิเศษเปิดตัวสินค้า เช่น ดีไซน์เนอร์แบรนด์ดังของชาแนล และเฟนดิ เข้าไปมีส่วนออกแบบโรงแรมหรูหราในมาเก๊าโรงแรมที่มี 270ห้อง ดีไซน์พิเศษ และมีคาสิโน ซึ่งเป็นก้าวอีกขั้นของแบรนด์ในการแทรกซึมไปในไลฟ์สไตล์การพักผ่อนท่องเที่ยวของคนกลุ่มนี้

นั่นคือ 15 เทรนด์ที่จะเกิดเพิ่มขึ้น และกว้างขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งแบรนด์ใหญ่ๆที่มีพลังเงินและคนก็จะต้องปรับตัวให้ทันเทรนด์ ขณะที่ผู้ประกอบการเล็กๆไม่จำเป็นต้องจับทุกเทรนด์เข้ามาพัฒนา แต่ให้เลือกเพียง 1 เทรนด์เท่านั้น แล้วหันมาดูตัวตนของกลุ่มธุรกิจว่าเนื้อแท้ของธุรกิจมี “ดีเอ็นเอ” ใดที่ตรงกันกับเทรนด์เหล่านี้ เพื่อคิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ดาเนียล ยังพูดถึงเมืองไทยและคนไทยว่า มีหลายสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยม เช่น ลิปสติกที่เป็นนกหวีดได้ ของ โอเรียนทอล พริ้นเซส

สำหรับบริษัทใหญ่ๆต้องปรับตัว คือ การสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้พนักงานคิดนอกรอบ ออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ โลกเดิมๆ แสวงหาแนวคิดและประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับธุรกิจ

เขายังแนะนำว่า เทรนด์ที่จะก้าวมาแรงสำหรับธุรกิจไทยคือ การพัฒสินค้าเพื่อตอบโจทย์เฉพาะบุคคคล

“ฟูมพักให้เป็นสินค้าและบริการอะไรที่ทรงคุณค่า โดยใช้ความต้องการ เข้าใจลูกค้าว่าคิดและรู้สึกอย่างไรและเมื่อเข้าใจก็สร้างสิ่งที่น่าสนใจอิงกระแสให้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ของเรา”

หากสิ่งเหล่านี้มาจากตัวตนของแบรนด์ และคิดถึงแก่นแท้สินค้าก็จะเป็นผู้นำ (Leader) มากกว่าผู้ตาม (Follower)