บอร์ดสปสช.เห็นชอบนโยบายงบฯบัตรทองต่อเนื่อง 2 ปี

บอร์ดสปสช.เห็นชอบนโยบายงบฯบัตรทองต่อเนื่อง 2 ปี

บอร์ดสปสช. เห็นชอบนโยบายงบฯ บัตรทองต่อเนื่อง 2 ปี งบเพิ่มในส่วนค่าชดเชยจนท.-จัดหาวัคซีนใหม่-ยาราคาแพง-แพทย์แผนไทย

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กล่าวว่า บอร์ดสปสช.มีมติเห็นชอบให้มีการทำข้อเสนอเพื่อขออนุมัติกรอบวงเงินเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อเนื่อง 2 ปี คือ ปี 2561-2562 เพื่อความต่อเนื่องของการจัดทำคำของบประมาณสำหรับเตรียมการรองรับการดูแลสุขภาพประชาชน และสำหรับงบประมาณปี 2562 เมื่อมีตัวแปรเปลี่ยนไป ก็สามารถปรับปรุงข้อเสนองบประมาณปี 2562 ได้ตามตัวแปรดังกล่าว เช่น ปริมาณการเข้าถึง ต้นทุน สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องมีการนำเสนอเข้า ครม.อีกครั้งสำหรับข้อเสนอปีงบประมาณ 2562 แต่ครั้งที่จะนำเข้าการพิจารณาของ ครม.ในครั้งนี้ จะเป็นข้อเสนองบประมาณต่อเนื่อง 2 ปี จากเดิมที่เคยทำเสนอปีต่อปีทำให้ไม่เห็นความต่อเนื่องของการจัดทำงบประมาณเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชน

นางชุมศรี พจนปรีชา ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน กล่าวว่า การจัดทำข้อเสนอนโยบายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีงบประมาณต่อไปนั้น คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรว่าควรจัดทำข้อเสนองบประมาณต่อเนื่อง 2 ปี คือปี 2561-2562 เพื่อความต่อเนื่องและเตรียมพร้อมงบประมาณรองรับบริการสุขภาพเพื่อประชาชน โดยได้หารือร่วมกับ คณะกรรมการร่วม 7x7 ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และ สปสช. คณะทำงานวิชาการ และรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ก่อนนำเสนอเป็นมติบอร์ด สปสช. โดยการทำข้อเสนองบประมาณครั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ดูแลประชากรตามสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ รพ.มีความคล่องตัวในการให้บริการ

“งบประมาณที่จะมีเพิ่มขึ้นตามข้อเสนอนโยบายงบฯนี้จะเป็ฯในส่วนของงบฯที่จะต้องใช้ในการจ่ายชดเชยให้กับบุคลากรสาธารณุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการตามคำสั่งม.44 รวมถึง งบฯที่จะใช้ในการดำเนินการโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์ การจัดหายาราคาแพงและวัคซีนใหม่ เช่น วัคซีนป้องหันมะเร็งปากมดลูกที่จะใช้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี และการสนับสนุนแพทย์แผนไทย ท้งนี้ในการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งหน้าจะสามารถเสนอข้อเสนองบกองทุนปี 2561-2562 เพื่อให้บอร์ดพิจารณาได้ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” นางชุมศรี กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติหลักการทำข้อเสนองบประมาณ คือ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอ ให้เป็นไปตามประเภทค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้มีงบประมาณเพียงพออย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการอุดหนุนข้ามระบบกับระบบประกันสุขภาพอื่น เป้าหมายและความครอบคลุมการให้บริการนั้น ให้กำหนดตามศักยภาพของระบบบริการที่จะพัฒนาได้ และคำนึงถึงเป้าหมายตามเขตบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข เน้นใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการประมาณการเป้าหมายและงบประมาณ โดยเป็นงบประมาณแบบปลายปิด หากประชากรเพิ่มมากกว่าเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณให้ดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติม

ในส่วนด้านโครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขนั้น ไม่รวมค่าตอบแทนที่หน่วยงานได้รับโดยตรงตาม พ.ร.บ.งบประมาณ (พตส. และค่าตอบแทนฉบับ 8, 9) ไม่รวมงบลงทุนใหม่เพื่อยกระดับศักยภาพสำหรับหน่วยบริการภาครัฐ ไม่รวมการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการที่จะเกิดขึ้นภายหลัง แต่จะรวมเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการตามคำสั่ง คสช. และรวมต้นทุนของหน่วยบริการรัฐและเอกชนทั้งหมดในระบบ ที่สำคัญคือต้องจำแนกต้นทุนของพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัย พื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าพื้นที่อื่นให้ชัดเจน

รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ขณะที่บริการสาธารณสุขและกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เน้นส่งเสริมป้องกันโรค เพิ่มกิจกรรมที่สนับสนุนความรู้ด้านสุขภาพเพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้ ความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชน เพิ่มการใช้บริการแพทย์แผนไทยและการใช้ยาสมุนไพรใน รพ. บริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มพระภิกษุ และกันวงเงินบริการกรณีเฉพาะไม่เกิน 12% ของอัตราเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงคำนึงถึงต้นทุนที่สามารถประหยัดได้โดยคงคุณภาพบริการ เช่น การจัดซื้อรวม ของยา, วัคซีน, อุปกรณ์บำบัดรักษา