รฟม.จ่อจ้างบีทีเอส เดินรถไฟฟ้าสีเขียว

รฟม.จ่อจ้างบีทีเอส เดินรถไฟฟ้าสีเขียว

"รฟม." พร้อมจ้าง "บีทีเอส" เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หาก "กทม." ไม่มีเงินรับโอน พร้อมเสนอ ครม. จ้างบีอีเอ็มเดินรถไฟฟ้า 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อ

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. วานนี้ (7 ธ.ค.) ว่า บอร์ด รฟม. ได้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่มีงบประมาณสำหรับรับโอนทรัพย์สินและชำระหนี้สิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จาก รฟม. รวมมูลค่า 60,8914.54 ล้านบาท

ระยะสั้น รฟม. วางแผนว่าจะเสนอให้ กทม. เช่ารางจาก รฟม. เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถช่วงแบริ่ง-สำโรง 1 สถานีภายใน มี.ค. 2560 แต่สุดท้ายหากเกิดปัญหาจนไม่สามารถโอนโครงการให้ กทม. ตามมติของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้ ทาง รฟม. ก็พร้อมจะเดินรถเอง โดยจะพิจารณาข้อกฎหมายและเจรจาว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี โดยตรง

ทั้งนี้จะมีการหารือประเด็นดังกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สิน และการโอนหนี้สินและทรัพย์สินระหว่างกัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ สัปดาห์หน้าและต้องเสนอให้ คจร. พิจารณาชี้ขาดอีกครั้ง

“สุดท้าย คจร.จะต้องชี้ขาด โดยกระทรวงคมนาคมจะต้องทำความเห็นประกอบว่าจะให้เดินหน้าอย่างไร อย่างไรก็ตาม รฟม. พร้อมจะบริหารจัดการและเข้าใจว่า รฟม. สามารถจ้างบีทีเอสเดินรถได้ โดยต้องดูกระบวนการตามพีพีพีอีกครั้ง เพราะในที่สุดคงหนีไม่พ้นต้องจ้างบีทีเอสมาเดินรถ เพราะเขาได้ลงทุนงานระบบไปแล้ว” นายพีระยุทธ กล่าว

คาดปมสายสีน้ำเงินได้ข้อยุติเดือนนี้

นายพีระยุทธ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเรื่องการให้ รฟม. ว่าจ้างบริษัท ทางด่วนรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มเข้ามาติดตั้งระบบและเดินรถ1สถานี ช่วงระหว่างสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อ ในระหว่างที่ รฟม. และบีเอ็มอียังเจรจาเรื่องการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ไม่ได้ข้อยุติ

เบื้องต้นคาดว่า กระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอขออนุมัติ บอร์ดรฟม. เพื่อดำเนินการว่าจ้างภายในเดือน ม.ค. 2560 โดยบีอีเอ็มจะใช้ระยะเวลาในการติดตั้งระบบการเดินรถประมาณ6เดือนและทดสอบอีกไม่เกิน 2 เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานีดังกล่าวได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยวงเงินว่าจ้างบีอีเอ็มระบบเดินรถ1สถานีมีมูลค่า693ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถปีละ 52 ล้านบาท รวมระยะเวลา 2 ปี

ส่วนการเจรจาว่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้งหมดจะต้องได้ข้อสรุปภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จากนั้นต้องจัดทำข้อสรุปร่างสัญญาสัมปทานส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด และสรุปรายละเอียดข้อเสนอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาคาดว่าจะเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติภายใน ก.พ. 2560 ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ3ปีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดในปี 2592

เปิดซองด้านเทคนิคสายสีส้มพรุ่งนี้

นายพีระยุทธ กล่าวต่อว่า การประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีจำนวน6สัญญามูลค่ารวม76,724ล้านบาท จะประกาศผลการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค สัญญาที่ 1-4 และ 6 ในวันที่ 9 ธ.ค. นี้ และถ้าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เห็นชอบก็อาจเปิดข้อซองที่ 3 ด้านราคาในวันเดียวกันเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สัญญาที่ 5 จะเปิดซองข้อเสนอที่ 2 ในวันนี้ (8 ธ.ค.) เนื่องจากคณะกรรมการฯ มีข้อสงสัยบางประการส่งผลให้การพิจารณาซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติล่าช้ากว่าสัญญาอื่นๆ และคาดว่าจะเปิดซองราคาได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยตั้งเป้าจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เห็นชอบและลงนามในสัญญาได้ในเดือน ก.พ. 2560

เจรจาสายสีชมพู-สีเหลืองสัปดาห์หน้า

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มาตรา 35 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,519 ล้านบาทและสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 51,931 ล้าน ได้เปิดซองข้อเสนอที่ 3 ด้านเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ แล้ว และในสัปดาห์จะเรียกกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ผู้ผ่านการคัดเลือกข้อเสนอที่ 2 ด้านการลงทุนและผลตอบแทนจากทั้ง 2 โครงการเข้าหารือ คาดว่าจะใช้เวลาเจรจารายละเอียดไม่เกิน 1 เดือนและลงนามในสัญญาได้ภายใน เม.ย. 2559

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าข้อเสนอซองที่ 3 ไม่มีผลต่อการพิจารณาในรอบที่ผ่านมา เพราะคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อเสนอที่ 2 เป็นหลัก โดยเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกข้อเสนอที่ 2 ได้เสนอมูลค่าการลงทุนและส่วนลดการอุดหนุนจากภาครัฐต่ำกว่ารายอื่น

ส่วนข้อเสนอซองที่ 3 รฟม. สามารถพิจารณารับหรือไม่รับ โดยคณะกรรมการฯ มาตรา 35 พร้อมพิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมหากเป็นประโยชน์ต่อภาพรวม แต่ข้อเสนอต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่กระทบต่อลงทุนอื่นๆ ของภาครัฐ และไม่มีปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยภาครัฐจะไม่อุดหนุนเงินการลงทุนส่วนนี้และมีสิทธิ์ปรับหากเอกชนไม่สามารถเดินหน้าตามสัญญา