ธพ.เล็งดึงข้าวเสื่อม 4 ล้านตันผลิตเอทานอล

ธพ.เล็งดึงข้าวเสื่อม 4 ล้านตันผลิตเอทานอล

"กรมธุรกิจพลังงาน" เตรียมประชุมผู้ผลิตเอทานอลสัปดาห์หน้า พร้อมศึกษานำข้าวเสื่อม 4 ล้านตันผลิตเอทานอล พร้อมเลื่อนออกประกาศยกเลิกโซฮอล์ 91

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงาน ศึกษานำข้าวเสื่อมคุณภาพ 4 ล้านตันในสต็อกของรัฐบาลมาผลิตเอทานอล โดยกระทรวงพลังงานจะต้องหารือร่วมกับผู้ผลิตเอทานอลทั้งหมดจำนวน 18 ราย เพื่อศึกษาถึงแนวทางการซื้อขายข้าวเสื่อมคุณภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นการนำข้าวมาผลิตเอทานอลจะได้เปอร์เซ็นต์ดีกว่าแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลราคาเอทานอลถูกลง เพราะคาดว่าต้นทุนราคาข้าวเสื่อมคุณภาพจะไม่เกิน 1 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่มันสำปะหลังสดอยู่ที่ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังมีภาระต้นทุนค่าขนส่งข้าวออกจากโกดังของรัฐที่ต้องคำนวนความคุ้มค่า ซึ่งหากการนำข้าวเสื่อมคุณภาพ มาผลิตเอทานอลแล้วส่งผลให้ให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ปรับขึ้น ทางกระทรวงพลังงานจะพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือมาตรการทางภาษีมาช่วยให้ราคาน้ำมันไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนสถานการณ์เอทานอลปัจจุบันที่เกิดภาวะตึงตัว ทำให้กรมธุรกิจพลังงาน ไม่มั่นใจปริมาณเอทานอลในอนาคตจะเพียงพอต่อการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 หรือไม่ ดังนั้นกรมธุรกิจพลังงาน จึงทบทวนมาตรการประกาศยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ใหม่ จากเดิมคาดว่าจะประกาศในเดือน ธ.ค.นี้ และมีผลบังคับใช้ม.ค.ปี 2561 ออกไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าเอทานอลมีเพียงพอ

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตเอทานอลในช่วงเดือนธ.ค.ปี 2559 - ก.พ. ปี2560 มีแนวโน้มตึงตัว เนื่องจากฤดูกาลเปิดหีบอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเลื่อนออกไปจากระยะเวลาเดิมตามแผนที่กำหนด จึงอาจส่งผลกระทบกับการจัดหาของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์บางราย โดยเฉพาะรายที่มีปริมาณเอทานอลคงเหลือต่ำ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์เอทานอลอย่างใกล้ชิด ให้สามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาการขาดแคลนเอทานอลได้ทันท่วงที และเพื่อมิให้กระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ค้าที่เป็นผู้ผลิตเอทานอล และที่เป็นผู้ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์เพื่อจำหน่าย ต้องรายงานปริมาณการผลิต การซื้อ การจำหน่าย ปริมาณการใช้ผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ และปริมาณเอทานอลคงเหลือรายวันให้กรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในเวลา 10.00 น. ของวันทำการถัดไปทุกวัน ตามแบบที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ปี 2559 จนถึงวันที่ 28 ก.พ. ปี2560 ซึ่งหากไม่รายงานจะมีโทษปรับ 5 หมื่นบาท และจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงาน ยังออกตรวจสอบปริมาณการผลิต ปริมาณการจำหน่าย และปริมาณเอทานอลคงเหลือ ณ โรงงานผู้ผลิตเอทานอล และสถานที่เก็บเอทานอลทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่กรมฯและพลังงานจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สอบยันข้อมูลที่ผู้ค้ารายงานว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์ และวางแผนในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเอทานอลต่อไป

ดังนั้น กรมธุรกิจพลังงาน จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และยังไม่อนุญาตให้ผู้ค้านำสำรองเอทานอลออกมาใช้ในช่วงนี้จนกว่าจะตรวจสอบได้ว่าเกิดการขาดแคลนเป็นวงกว้าง พร้อมกันนี้ในสัปดาห์หน้ากรมฯจะเรียกผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 และ ผู้ผลิตเอทานอล มาหารือถึงปัญหาดังกล่าวและเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป