'อัญรัตน์ พรประกฤต' เพชรน้ำหนึ่งแห่งยูบิลลี่

'อัญรัตน์ พรประกฤต' เพชรน้ำหนึ่งแห่งยูบิลลี่

วัยเยาว์ทายาทร้านเพชรไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ‘อัญรัตน์ พรประกฤต’ยังมุ่งมั่นทำงานหนักจนโต บทพิสูจน์หัวใจแกร่งของเพชรน้ำหนึ่งแห่งยูบิลลี่

เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้องค์กรเติบโต สำหรับทายาทคนเก่งของ “วิโรจน์ พรประกฤต” สำหรับ “อัญรัตน์ พรประกฤต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจค้าเพชร 4 เจนเนอเรชั่น 9 ทศวรรษ ของตระกูล

15 ปีที่เข้ามาเคลื่อนอาณาจักรเครื่องประดับเพชรยูบิลลี่ เธอสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งพลิกโฉมเคาน์เตอร์แบรนด์เพชรจากสีน้ำเงินเป็นดำ สร้างสินค้านวัตกรรมด้วยกรรมวิธีฝังเพชร เจียระไนเพชรระดับ triple excellent diamond กระทั่งการผลักดันยูบิลลี่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไป ขณะที่ธุรกิจยังต้องเรียนรู้อีกมากเธอเล่า

“เมื่อรับโจทย์การบริหารมา ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะในชีวิตของคนเรา ไม่ควรพูดว่า..รู้อย่างนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ เมื่อเราเลือกทำอะไรแล้ว ก็จะต้องดันให้ถึงที่สุด หากไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจในทีแรก ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าพยายามทำเต็มที่แล้ว” บทสนทนาที่บ่งบอกตัวตนของอัญรัตน์

ย้อนไปวัยเด็ก เธอเล่าว่า เป็นเด็กที่มุ่งมั่นเล่าเรียน หน้าที่หลักคือศึกษาตำรับตำรา ไม่เคยปริปากหรือรู้สึกรันทด เช่น ต้องนั่งรถเมล์ไปเรียนหนังสือจนใกล้จบปริญญาตรี ทั้งที่บ้านก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีฐานะ

การเรียนระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ย่านหัวหมาก เป็นการเดินทางไปเรียนที่ไกลจากบ้านมาก ไม่ชินกับเส้นทาง เคยยืนโหนรถเมล์บนถนนรามคำแหงกว่าจะถึงบ้านย่านเยาวราช เคยนั่งแม้กระทั่งมอเตอร์ไซด์เพื่อไปเรียน กระทั่งเพื่อนของพ่อเห็นเข้าเลยยกหูถามพ่อว่า..ลูกสาวมาทำอะไรแถวนี้?

“เคยยืนโหนรถเมล์ 3 ชั่วโมงเมื่อยนะ แต่ก็รู้สึกว่าต้องทำให้ได้ ทุกครั้งคิดอย่างนี้เสมอ หน้าที่เราไม่ต้องทำอะไร แค่เรียนให้ดี แค่นี้ทำไม่ได้เหรอ”

ครั้นเข้าทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี “ความอึด” อดทนยังเปี่ยมล้น สาวร่างเล็กต้องหอบหิ้วกระเป๋าคอมพิวเตอร์หนักร่วม 5 กิโลไปทำงาน เลิกงานดึกดื่นค่ำคืน ไม่เคยปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมาย ยังทุ่มสุดกำลังกับทุกภารกิจที่ได้รับ

“พ่อบอกว่าอย่าเป็นคนเหยาะแหยะ เรื่องงานเวลาไปตรวจสอบบัญชีอย่าบอกว่าทำไม่ได้ คนเราต้องทำได้ทุกอย่าง” นี่คือสิ่งที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ

เมื่อเข้ามาเคลื่อนองค์กรซึ่งเป็น“ธุรกิจครอบครัว”ควบคู่จังหวะเรียนต่อ ต้องบริหารจัดการเวลา กลางวันทำงาน ตกเย็นไปเรียน โดยเรื่องเรียนจะมาเป็น “ข้ออ้าง” ของการมาทำงานสายไม่ได้ พ่อทิ้งคำพูดให้คิด ส่วนอาจารย์ก็เข้มงวดเรื่องเวลาเข้าเรียนมาก

จึงถูกถามจากอาจารย์ผู้สอนว่า..ทำได้ไหม?เราก็ตอบว่าได้

“เราจิตแข็งสไตล์พ่อ บอกตัวเองต้องทำให้ได้ เอาตรงๆถ้าหยุดกลางคันคือแพ้ ถ้าเธอหยุด แปลว่าเธอมีความสามารถหรือความอดทนไม่พอ”

การรับไม้ต่อจากครอบครัว หลายคนมีพ่อเป็น“กุนซือ”แต่ไม่ใช่กับเธอ เพราะที่ผ่านมา การทำงานพ่อมอบโจทย์ แต่วิธีการไปให้ถึงผลลัพธ์ เธอต้องเสาะแสวงหาเอง ชนิดที่ไล่โทรศัพท์สอบถาม ขอความรู้จากกูรูมากมาย แต่กระบวนการทำงานหลายอย่างกลับซึมซับแบบอย่างจากพ่อโดยไม่รู้ตัว

หน้าที่แรกเริ่มในองค์กรของ เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลการทำเรื่องต้นทุน การสั่งซื้อเพชร บริหารการขาย ติดต่อซัพพลายเออร์ ดูการออกแบบ และช่วยทำการตลาด โดยตลอด 5 ปีแรกถือเป็น “ผู้ช่วย” ที่ต้องเร่งเรียนรู้งาน

ครั้งหนึ่งเมื่อคน “อึด” มาเจอกัน โดยเธอต้องติดตามผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อไปซื้อเพชรที่ต่างประเทศ ทำงานทั้งวันโดยไม่ทานข้าว

“เราเป็นเด็กก็ตามเขาไป คุยงานจนไม่ได้กินข้าว ท้องร้องมาก ประชุมในห้องกับซัพพลายเออร์ บนโต๊ะมีลูกอมอยู่ ขอสักหน่อยแล้วกัน ขอน้ำตาลนิดนึง” เธอเท้าความหลังปนหัวเราะเพราะไม่กล้าบอกรุ่นพี่ว่าทานข้าวกันหน่อยไหม

วันหนึ่งเมื่อต้องพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ การ “เจียระไน” องค์กรจึงเกิดขึ้น ระหว่างนั้นผลประกอบการก็ต้องโต ส่วนการแต่งตัวเข้าตลาดฯก็ต้องทำ เธอจึงมีแนวคิดว่าควรแยกภารกิจงานให้ชัด โดยเวลาระหว่างวันถูกใช้บริหารธุรกิจตามปกติ หลัง 6 โมงเย็นเป็นการระดมสมองทำเรื่องเข้าตลาด ใช้เวลาทั้งหมด 3 ปีจึงเป็นรูปเป็นร่าง

พื้นฐานอัญรัตน์คือรอบรู้เรื่องการเงิน เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีมาก่อน เลยถูกผลักดันให้นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน(ซีเอฟโอ)

นั่นเป็นจุดสตาร์ทการเป็น“ผู้นำ” ในองค์กร ซึ่งบทบาทดังกล่าวทำให้ต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่ม เพราะนอกจากจะคุมคลัง ยังสวมบทเป็นตัวแทนองค์กร

“คนจะสัมผัสและเข้าใจบริษัท แบรนด์ยูบิลลี่ ต้องรับรู้ที่ตัวเราก่อน อนาคตบริษัทนี้จะอยู่หรือไปอยู่ที่เรา”

แม้จะไม่รู้สึกเป็นภาระหนัก แต่ก็กังวลกับกับความสามารถที่มีในการสานภารกิจสำคัญ แต่ทุกอย่างก็ประจักษ์ได้จากการเติบโตขององค์กร

เมื่อก้าวสู่“ซีอีโอหญิง” ภารกิจการทำงานยังเข้มข้น เธอยังต้องวางแผนทำงานร่วมกับมืออาชีพเพื่อสร้างแบรนด์ยูบิลลี่อย่างจริงจังในปี2560 ภายใน3-5ปีข้างหน้าจะจูงใจให้ผู้บริโภคมองเรื่องการมีเครื่องประดับเพชรไว้ครอบครองว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว ด้วยราคาเพชรกว่าหมื่นบาทที่สามารถผ่อนได้ 10 เดือน

“คนที่ไม่อยู่ในเซ็กเมนท์นี้มองเครื่องประดับเพชรเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย แต่ถ้ายิ่งเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน เพชรไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยเลย ซื้อเครื่องประดับเพชรวันนี้ ถูกกว่าซื้อมือถืออีก มือถือซื้อมาปีที่สองสามปีก็แฮงก์..แต่เพชรคือตลอดกาล” เธอชี้โอกาสและขยายความว่า

ต้องการให้ผู้บริโภครู้สึกภูมิใจ ที่ได้ครอบครองเครื่องประดับเพชรจากยูบิลลี่

หากทำได้ดังแผน โอกาสที่จะผลักดันให้ยูบิลลี่ เติบโต“ก้าวกระโดด”อย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้น

“การพูดว่าสร้างแบรนด์ฟังดูสั้น แต่มีสิ่งที่ต้องทำเยอะมาก ทั้งสินค้า การบริหาร ประสบการณ์ ลูกค้า พนักงาน ทุกสัมผัสการบริการ (Touch–point) ที่จะต้องสัมผัสกับแบรนด์ทุกส่วนสำคัญหมด” เหล่านี้เป็นสิ่งที่เธอจะต้องทำให้ทีมงานเข้าใจวิธีคิดและเป้าหมายเดียวกันก่อน

แม้ครอบครัวคร่ำหวอดในตลาดเพชรมานาน แบรนด์เป็นอันดับหนึ่งในตลาดเครื่องประดับเคาน์เตอร์แบรนด์ เหล่านั้นกลัลไม่ใช่แต้มต่อให้ธุรกิจโต “อัญรัตน์” บอกว่า การทำงานอย่างตั้งใจ มุ่งสู่เป้าหมายการสร้างองค์กรให้เติบโตต่างหาก คือ แต้มต่อ

“จุดหนึ่งที่ทำให้ยูบิลลี่โต เกิดจากความตั้งใจของคนทำงานที่ต้องการให้ถึงเป้าหมายจริงๆ สิ่งเหล่านี้สำคัญสุด ตัวเลขตั้งได้ แต่สุดท้าย ทีมคือสิ่งสำคัญ ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำ และมีพลัง ผลประกอบการจะมาเอง ถ้าตั้งตัวเลขตั้งแต่เราไม่รักและไม่อินกับมัน เราก็จะทำงานด้วยความกดดัน เครียด ถึงจุดหนึ่งสติแตก”

พาองค์กรเปลี่ยน และเติบใหญ่ มีผลงานชิ้นโบว์แดง หรือได้รับคำชมจากพ่อหรือไม่ เธอตอบทันควัน

“บ้านนี้ไม่ชม ไม่มีหรอกผลงานโบว์แดง แต่ถ้าเทียบการเติบโตขององค์กรก่อนเข้าตลาด ถึงตอนนี้ คิดว่าผลประกอบการโต 300% และคนมองว่าเติบโตเร็ว”

ในเชิงตัวเลขเติบโต แต่อีกเป้าหมายหนึ่งที่อัญรัตน์พยายามทำให้สำเร็จ คือ การเห็นคนในองค์กรแฮปปี้

“ถ้าธุรกิจเจริญรุ่งเรือง แล้วลูกน้องไม่แฮปปี้ก็ไม่โอเค”

ทั้งหมดคือภารกิจเจียระไนแบรนด์ องค์กร และคน ให้เติบโตยั่งยืน