'บีทีเอส' คว้าประมูลรถไฟฟ้าเบียดชนะ 'ช.การช่าง'

'บีทีเอส' คว้าประมูลรถไฟฟ้าเบียดชนะ 'ช.การช่าง'

"บีทีเอส-ราชบุรี-ซิโนไทย" คว้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง มูลค่ากว่าแสนล้าน ด้าน "รฟม." เตรียมเจรจาผลประโยชน์และเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ได้ประเมินเอกสารข้อเสนอที่ 2 ด้านการลงทุนและผลตอบแทนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีมูลค่าลงทุนรวม 53,519.50 ล้านบาท ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีมูลค่าลงทุนรวม 51,931.15 ล้านบาท ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รวมมูลค่า 2 โครงการอยู่ที่ 105,450.65 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว

โดยสรุปผลปรากฏว่ากิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ STEC เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดและผ่านประเมินทั้ง 2 โครงการ

“รฟม.ได้เร่งรัดประเมินข้อเสนอของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้ประมาณ 1 เดือน” แหล่งข่าว กล่าว

หลังจากนี้คณะกรรมการฯ มาตรา 35 จะพิจารณากำหนดประเด็นต่อรองและเริ่มการเจรจากับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ให้ได้ข้อสรุปก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติผู้ชนะการประมูลในเดือน มี.ค. - เม.ย. 2560 คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาสัมปทานได้ภายในเดือน เม.ย.2560

เตรียมเจรจาเพิ่มกลุ่มBSRเพิ่ม

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มาตรา 35 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ที่มีนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม.ด้านกลยุทธ์และแผนเป็นประธาน จะเจรจากับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์เพิ่มเติม โดยจะนำข้อเสนออื่นๆในซองที่ 3 มาประกอบการเจรจา พร้อมทั้งเจรจาเรื่องเงินอุดหนุนที่ภาครัฐจะจ่ายให้

โดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมซองที่ 3 ว่า จะลงทุนขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากแยกรัชดาภิเษกไปอีก 2 สถานีระยะทาง 2.6 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเชียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต บริเวณแยกรัชโยธินและจะขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูอีก 2.8 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อไปยังเมืองทองธานี

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,519 ล้านบาทและสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรงระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 51,931 ล้านบาทเป็นโครงการรูปแบบพีพีพี โดย รฟม. ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ด้านเอกชนผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร (PPP Net Cost) มีระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 33 ปี 3 เดือน

แบ่งก่อสร้างออกเป็น2ระยะ

การดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 งานให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี

โดย รฟม. ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมประมูลทั้ง 2 โครงการเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าทั้ง 2 โครงการมีผู้ร่วมประมูล 2 ราย ได้แก่ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ และบริษัททางด่วนรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่

2กลุ่มผ่านพิจารณาด้านเทคนิค

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ได้เปิดซองข้อเสนอที่ 1 ด้านคุณสมบัติและเทคนิค โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา

โดยปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่มผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิค จากนั้นได้เปิดข้อเสนอซองที่ 2 ด้านการลงทุนและผลตอบแทนเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนสรุปให้กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกด้วยคะแนนสูงสุด

ชิโน-ไทยพร้อมลงมือก่อสร้าง

ก่อนหน้านี้นายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร ประธานกรรมการบริหารบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) พันธมิตรกลุ่มบีทีเอส กล่าวว่าหากกลุ่มได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ลงทุนโครงการรถไฟฟ้า ในส่วนของซิโน-ไทยฯ พร้อมที่จะเร่งจัดการในส่วนของการออกแบบงานก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาส่วนนี้ประมาณ 6 เดือน แต่ข้อดีคือเราสามารถออกแบบไปก่อสร้างไปได้ มั่นใจว่าถ้าได้รับการคัดเลือกจริงภายใน 3-4 เดือน น่าจะตอกเสาเข็มงานก่อสร้างได้ทันที

“คีรี”ลั่นพร้อมลงทุนทั้ง2โครงการ

เช่นเดียวกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอส ระบุก่อนหน้านี้ว่าบริษัทมีความชำนาญจึงได้เสนอข้อเสนอพิเศษในการเชื่อมต่อของเส้นทางไปในจุดที่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อเสนอนอกเหนือจากทีโออาร์ที่กำหนดไว้ โดยเสนอจุดเชื่อมต่อของสายสีชมพูเข้าไปยังอิมแพ็ค เมืองทองธานี ส่วนสายสีเหลืองจะขยายเส้นทางเพิ่มบริเวณรัชดาแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายคีรี ย้ำว่าบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอหากชนะการประมูลทั้ง 2 โครงการ สามารถจัดสรรระบบและการเดินรถทั้ง 2 เส้นทางได้ ก็จะเป็นโครงการที่มีกำไร