เด็กไทยป่วย'ซิฟิลิสแต่กำเนิด'เพิ่มขึ้น

เด็กไทยป่วย'ซิฟิลิสแต่กำเนิด'เพิ่มขึ้น

เด็กไทยป่วย "ซิฟิลิสแต่กำเนิด" เพิ่มขึ้น ปี58 กว่า 90 ราย เหตุแม่ไม่ฝากครรภ์ ทำหลุดระบบคัดกรอง

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรม “แนวทางการดำเนินงานเพื่อยุติการถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี โรคตับอักเสบจากไวรัสจากแม่สู่ลูก” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคซิฟิลิสในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จากผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 มีผู้ป่วยโรคซิฟิลิส 1,557 ราย และเพิ่มเป็น 3,373 รายในปี 2558 แยกเป็นเพศชาย 2,308 ราย เพศหญิง 1,065 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากสุด คือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนผู้ป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด คือเด็กแรกเกิด ถึง 2 ปี พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆ ปีเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2558 พบผู้ป่วยมากถึง 91 ราย

“ทารกที่ป่วยโรคซิฟิลิสส่วนหนึ่งเป็นจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับการฝากครรภ์ จึงไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อซิฟิลิส หรือบางรายรับการฝากครรภ์แล้วไม่มีการติดตามผลเลือด กรณีติดเชื้อจึงไม่ได้รับการรักษา ทำให้มีการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านทางรก จะตรวจพบก็ต่อเมื่อเข้ารับบริการคลอดในสถานพยาบาล”นพ.ภาณุมาศกล่าว

นพ.ภาณุมาศ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลสถานการณ์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะสามารถกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้ เพราะระบบบริการที่มีอยู่เอื้อต่อการดำเนินงาน โดยที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ แต่จำเป็นต้องอาศัยการจัดทำแผนระดับชาติในการกำจัดโรคดังกล่าว ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ จัดทำแนวทางในการดำเนินการกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ทั้งการคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ สามีหรือคู่เพศสัมพันธ์ และทารก ในปี 2558 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆ และมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงมีการบูรณาการร่วมกับแผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์แห่งชาติ โดยเฉพาะด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิด โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดให้ไม่เกิน 0.05 ต่อเด็กเกิดมีชีพ 1 พันราย ภายในปี พ.ศ. 2563 โดยให้เหลือน้อยกว่า 50 ราย